หนังสือปกแข็งเล่มเล็ก ราคา 197 บาท ขนาด 160 หน้า โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่กลายเป็นคู่มือทางความคิดและจิตวิญญาณของนักอ่านทุกยุคสมัย ที่ไม่เคยพลาดหยิบหนังสือเล่มนี้ มาอ่านและมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจากความคิดเรียบง่าย สั้น และกระชับ จากการเขียนของคาลิล ยิบราน และถูกแปลความด้วยภาษาไทยที่ไพเราะงดงาม โดยระวี ภาวิไล ที่พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมีหลายปกให้เลือกครอบครอง แน่นอนว่าหนังสือ "ปรัชญาชีวิต" งานเขียนคลาสสิกของคาลิล ยิบราน กลายเป็นหนังสือคู่มือทางความคิดที่ควรหยิบอ่านเล่ากันว่า คาลิล ยิบราน เขียนหนังสือเล่มเล็กนี้ไว้ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะได้ถูกใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนในวิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยลักษณะเด่นของหนังสือเล่มนี้ คาลิล ยิบรานได้ใช้ภาษาเขียนที่สวยงาม ไพเราะ เสมือนท่วงทำนองดนตรี เมื่อได้ถูกตีพิมพ์และมีการจัดวรรคตอนให้เหมาะสมขึ้นก็ทำให้โดดเด่นขึ้น โดยเฉพาะในฉบับภาษาไทยที่แปลความโดยระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นนักวิชาการที่สามารถถอดความและถ่ายทอดอารมณ์ใน "ปรัชญาชีวิต" เล่มนี้ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งผู้เขียนเองในฐานะนักอ่านหนังสือแนวนี้ ก็อดชื่นชมและต้องสะสมหนังสือเล่มนี้ไว้ในชั้นหนังสือของตนเอง ซึ่งผู้เขียนขอรีวิวความประทับใจและสาระที่ได้เป็นเกร็ดความรู้จากหนังสือเล่มนี้ ข้อเขียน 7 ตอนที่ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษจาก "ปรัชญาชีวิต" ว่าด้วยเรื่องความรัก ยิบราน ให้ข้อคิดเรื่องนี้ว่า.. เมื่อความรักเรียกร้องเธอ จงตามมันไป แม้ทางของมันนั้นจะขรุขระและชันเพียงใด... ความรักไม่ให้สิ่งอื่นใด นอกจากตนเอง และก็ไม่รับเอาสิ่งใดสิ่งใด นอกจากตัวเอง...ความรักไม่ครอบครองและไม่ยอมถูกครอบครอง เพราะความรักนั้น เพียงพอแล้วสำหรับตอบความรัก ว่าด้วยเรื่องการแต่งงาน ในหนังสือเล่มนี้เล่าว่า ..เธอเกิดมาด้วยกัน และเธอก็จะอยู่ด้วยกันตลอดไป...จงรักกันและกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งความรัก...จงดื่มถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน...จงยืนอยู่ด้วยกัน แต่อย่าให้ใกล้กันนัก เพราะเสาของวิหารนั้น ก็ยืนห่างกัน และต้นโอ๊คต้นไพรส ก็มิอาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้ ...ว่าด้วยเรื่องการบริจาค...บางคนมีมาก แต่เขาบริจาคเพียงนิดหน่อย และก็ให้เพื่อเอาชื่อ และความปรารถนาอันเร้นอยู่นี้ ย่อมทำให้การบริจาคของเขามีราคี บางคนมีอยู่น้อย แต่อุทิศให้ทั้งหมด เขาเหล่านี้มีศรัทธาต่อชีวิต และต่อความสมบูรณ์ของชีวิต และถุงเงินของเขาไม่เคยว่างเปล่า ...ว่าด้วยเรื่องการงาน ยิบราน ได้แสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ไว้ว่า ...ก็การที่จะทำงานด้วยความรักนี้ คืออย่างไรเล่า คือการทอผ้าด้วยเส้นด้ายที่ดึงจากดวงใจของเธอ ราวกับว่าผืนผ้านั้น จะเป็นเครื่องนุ่งห่มของคนรักของเธอ...การงาน คือ ความรักที่ปรากฎเป็นรูปร่าง ่ว่าด้วยเรื่อง ความปวดร้าว ยิบรานกล่าวไว้อย่างน่าสนใจในเรื่องนี้ว่า ...ความปวดร้าวของเธอ คือ การแตกออกของเปลือกหุ้มความเข้าใจแจ้งของเธอเอง .. เธอจักต้องรู้จักความปวดร้าว เช่นที่เปลือกของเมล็ดพฤกษาจะต้องแตกออก เพื่อให้ใจกลางของมันได้รับแสงอรุณ..ความปวดร้าวของเธอนั้น เป็นส่วนใหญ่ที่เธอจะเลือกเอาเอง มันเป็นยาขม ซึ่งแพทย์ภายในเธอใช้รักษาอาตมันของเธออันเจ็บป่วยอยู่ ว่าด้วยเรื่องมิตรภาพ ในหนังสือเล่มนี้ระบุเป็นความคิดที่มีคุณค่า ไว้ว่า ..มิตร คือ คำตอบต่อความต้องการของเธอ เขาเหมือนท้องทุ่ง ที่เธอหว่านด้วยความรักและเก็บเกี่ยวด้วยความขอบคุณ...เมื่อเพื่อนพูดเปิดอก เธอย่อมไม่กลัวที่จะขัดแย้งหรือสนับสนุน และเมื่อเขานิ่งเงียบ ดวงใจของเธอก็มิได้หยุดฟังสำเนียงจากดวงใจของเขา...จงให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่มิตรของเธอ ว่าด้วยเรื่องความตาย ในทัศนะของยิบราน กล่าวไว้ว่า ...เธอต้องการรู้ความลับของความตาย แต่เธอจะพบมันที่ไหนเล่า นอกจากแสวงหาเอาในท่ามกลางของชีวิต เพราะชีวิตและความตาย เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังเช่นที่แม่น้ำกับทะเลเป็นหนึ่งเดียวกัน..เพราะการเข้าสู่ความตายนั้น จะเป็นอะไรอื่นจากการยืนเปล่าเปลือยในกระแสลม และการหลอมละลายเข้าสู่แสงอรุณผู้เขียนเชื่อว่า การมีหนังสือเล่มเล็กสักเล่ม ที่กลายเป็นคู่มือทางความคิดและจิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาและน่ายินดีเพียงใดที่มีคัมภีร์ชีวิตจากหนังสือที่บ่มเพาะความคิดและความรู้สึกดี ๆ อย่างหนังสือปรัชญาชีวิต ซึ่งเป็นหนังสืออมตะที่เปิดขึ้นอ่านเมื่อไหร่ ก็ได้ห้วงเวลาแห่งการขบคิดเรื่องราวต่าง ๆ ตามตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้...ข้อเขียนในแต่ละเรื่องราวที่ถ่ายทอดจากความคิดลึกซึ้งของยิบราน แปลเป็นข้อความสั้น ๆ ในภาษาไทย เป็นงานเขียนที่มีคุณค่าต่อความคิดและจิตวิญญาณของนักอ่าน ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนให้เพื่อน ๆ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ที่อาจสร้างแรงบันดาลใจทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจความหมายของการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า โดยสามารถนำข้อคิดจากหนังสือนี้เป็นแนวทางในการสอนใจ ให้สติตนเอง ว่า เราควรมีปรัชญาอะไรในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยเฉพาะในสังคมโลกทุกวันนี้ ที่ต้องอยู่กับความรวดเร็วและการแข่งขันกันทั้งกับตนเองและสิ่งรอบข้างเพื่อดำรงชีวิต เครดิตทุกภาพถ่าย: ผู้เขียน