รีเซต

เปิดลิสต์ 10 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ฉบับอัปเดต 2567)

เปิดลิสต์ 10 อันดับหนังไทยทำเงินสูงสุดตลอดกาล (ฉบับอัปเดต 2567)
1 กันยายน 2567 ( 12:00 )
78.6K
1

สถานการณ์หนังไทยในอีก 2-3 ปีให้หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างน่าประทับใจ กลายเป็นว่ามีหนังไทยเรื่องใหม่ ๆ สามารถสร้างปรากฏการณ์รายได้ได้อย่างต่อเนื่องปีต่อปี แม้ว่าจะยังไม่อาจจะพูดได้ว่าเป็นการกลับมาเฟื่องฟูของหนังไทยได้อย่างเต็มปากก็ตาม

แม้ว่า 10 อันดับแรกของหนังไทยที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของ 2 ค่ายใหญ่แห่งยุค ทั้งค่าย GDH และ สหมงคลฟิล์ม แต่หากพิจารณาถึงความหลากหลายของความคิดสร้างสรรค์ ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยที่เราได้เห็นความหลากหลายของหนังไทยที่และมีชั้นเชิงกว่าหนังแนว ‘ผี-ตลก’ อย่างที่วงการหนังไทยเคยโดนสบประมาทมานานนับ 10 ปี เสมือนเป็นตัวเร่งชั้นดีให้ค่ายหนังเล็ก ๆ ได้มีที่ทางขึ้นมาในอุตสาหกรรมหนังไทยได้สำเร็จ และทำให้ค่ายหนังใหญ่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมที่ไม่มีอะไรง่ายอีกต่อไป

ยกตัวอย่างก็เช่น ค่ายเนรมิตรหนังฟิล์ม ที่ขยันนำเสนอหนังไทยแนวทางใหม่ ๆ ทั้งหนังสัตว์ประหลาด หนังนักเลง ฯลฯ ออกมาให้ได้ตื่นเต้นอยู่ตลอด รวมทั้งค่าย เซิ้ง เจ้าของจักรวาลไทบ้าน ที่ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สร้าง ไทบ้าน Cinematic Universe สร้างจักรวาลหนังจังหวะอีสานในแบบของตนเองจนโดดเด่นและมีที่ทางเป็นของตัวเองชัดเจน พิสูจน์ได้จากหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘สัปเหร่อ’ ที่ทำรายได้ไปกว่า 244 ล้านบาท

บทความนี้เป็นการอัปเดต 10 อันดับหนังไทยที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล (รวมทั้งหนังไทย 20 อันดับแรกที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท) ที่นับจากนี้เชื่อว่าอันดับรายได้จะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกนับไม่ถ้วน ตราบใดที่คนไทยยังคงอุดหนุนหนังไทย และหนังไทยยังคงมีคุณภาพต่อไปอีกนานเท่านาน


หมายเหตุ: รายได้ของหนังไทยในบทความนี้ทั้ง 20 อันดับ เป็นการเรียงลำดับจากรายได้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ มีเพียงหนังบางเรื่องที่มีการเปิดเผยรายได้ประมาณการจากการฉายทั่วประเทศ


อันดับที่ 10
‘ต้มยำกุ้ง’ (2548)

รายได้: 183.35 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/บาแรมยู
ผู้กำกับ: ปรัชญา ปิ่นแก้ว
นักแสดง: ทัชชกร ยีรัมย์, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา, บงกช คงมาลัย
เรื่องย่อ: ไอ้ขาม เด็กหนุ่มบ้านนอกที่ต้องออกเดินทางข้ามโลก หลังจากที่ผู้มีอิทธิพลระดับประเทศได้ลักพาช้างพลาย 2 พ่อลูกที่เขารักดังชีวิตไปขาย ณ ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงต้องบุกตะลุยตามล่าหาช้างไปถึงรังของแก๊งมาเฟียที่นำโดย มาดามโรส ผู้มีลิ่วล้อเก่งกาจด้านการต่อสู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก จ่ามาร์ค ตำรวจไทยในออสเตรเลีย และปลา สาวไทยที่ถูกหลอกมาขายตัวในซิดนีย์ ขามจึงต้องใช้แม่ไม้มวยไทยบทใหม่ที่เรียกว่า ตำนานมวยคชสาร เข้าจัดการเพื่อชิงช้างกลับมายังบ้านเกิดให้ได้


อันดับที่ 9
‘ธี่หยด’ (2566)

รายได้: 197.53 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 502 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: บีอีซีเวิลด์/เอ็ม สตูดิโอ
ผู้กำกับ: ทวีวัฒน์ วันทา
นักแสดง: ณเดชน์ คูกิมิยะ, รัตนวดี วงศ์ทอง, เดนิส เจลีลชา คัปปุน
เรื่องย่อ: หยาด และครอบครัวอาศัยอยู่แถบชนบท บ้านของเธอทำไร่ทำสวน แต่ฐานะของพ่อเธอถือว่าดีกว่าชาวบ้านละแวกนั้นอยู่โข ช่วงหน้าหนาวน้องสาวของเธอคนหนึ่งที่ชื่อ แย้ม เกิดป่วย ประจวบเหมาะกับที่ช่วงนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับภัยร้ายต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับทั้งหลาย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ หยาดได้รู้ได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่คล้ายกับเป็นลางบอกเหตุบางอย่าง แต่เพราะยังเด็กเลยไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งแย้มล้มป่วยหนักกว่าเดิม เธอจึงเริ่มปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเจอมา ทั้งเพื่อนร่วมชั้นที่เสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติ ทั้งการได้เจอหญิงสาวแปลกหน้าตรงศาลร้างระหว่างทางเดินกลับบ้าน ทั้งการได้ยินเสียงแปลกๆ ในตอนกลางคืน และการได้เจอกับ ยายช่วย หญิงชราผู้โดดเดี่ยวที่อาศัยอยู่คนเดียวท่ามกลางป่าเขา นอกจากนี้อาการของแย้มยังดูแปลกๆ บางครั้งดูเหมือนไม่ใช่แย้มผู้อ่อนโยนคนเดิม จนกระทั่งอาการของแย้มดูท่าจะไม่ไหว จ่ามหันต์ และ ลุงพุฒิ ผู้ได้ชื่อว่ามีวิชาอาคมก็เข้ามาช่วย แต่สายเกินไปเสียแล้ว ในเมื่อเจ้าสิ่งลี้ลับที่อาจจะเป็น “ปอบ” ตบะแก่กล้า ได้กัดกินภายในตัวแย้มและครอบงำเธอเสียสิ้น


อันดับที่ 8
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 ยุทธนาวี’ (2554)

รายได้: 202.9 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: พลตรีวันชนะ สวัสดี, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นพชัย ชัยนาม, อินทิรา เจริญปุระ, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สรพงษ์ ชาตรี, ดอม เหตระกูล, นภัสกร มิตรเอม, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, อคัมย์สิริ สุวรรณศุข, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, ปราบต์ปฏล สุวรรณบาง
เรื่องย่อ: ปีพุทธศักราช 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระนเรศ ได้สังหารสุรกำมา เหนือยุทธภูมิฝั่งน้ำสะโตง และประกาศเอกราชที่เมืองแครงสร้างความตระหนกแก่ พระเจ้านันทบุเรง องค์ราชันหงสาวดี ด้วยเกรงว่า การแข็งข้อของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่ประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดี แต่ด้วยติดพันศึกอังวะ จึงส่งทัพพระยาพะสิม และพระเจ้าเชียงใหม่ เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ด้วยความประมาทเพราะเห็นสมเด็จพระนเรศยังอ่อนพระเยาว์ และกรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำจากคราวเสียกรุง


อันดับที่ 7
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี’ (2557)

รายได้: 206.86 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: พลตรีวันชนะ สวัสดี, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นพชัย ชัยนาม, อินทิรา เจริญปุระ, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สรพงษ์ ชาตรี, ดอม เหตระกูล, นภัสกร มิตรเอม, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, เกรซ มหาดำรงค์กุล, วินธัย สุวารี, ชลิต เฟื่องอารมย์
เรื่องย่อ: พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงพ่ายต่อการศึกกับพระนเรศ จึงระบายความแค้นต่อองค์พระสุพรรณกั­ลยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดาทราบค­วามก็ให้โทมนัส ด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระ­ราชธิดาและแผ่นดินอยุธยาที่ถูกกระทำการย่ำ­ยีก็ด้วยเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้­างศัตรู จนตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศฯ จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติค­รองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา พระมังสาม­เกียด หรือพระมังกะยอชวา พระมหาอุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพ นำกองทัพทหาร 240,000 นายมาตีกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร จึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วขอให้กระทำการยุทธหัตถี ท้ายที่สุดสมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมังสามเกียด พระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง


อันดับที่ 6
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ’ (2550)

รายได้: 216.87 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จิรายุ ละอองมณี, สุชาดา เช็คลีย์, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สมภพ เบญจาธิกุล, สรพงศ์ ชาตรี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, สันติสุข พรหมศิริ
เรื่องย่อ: หลังจากพระองค์ดำหรือพระนเรศ หนีกลับพระพิษณุโลกสองแควได้แล้วนั้น พระองค์ได้เจริญชันษาขึ้นและกลายเป็นอุปราชผู้รั้งเมืองพระพิษณุโลกสองแควแทนพระราชบิดา ส่วนมหาอุปราชานันทบุเรงขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้านันทบุเรง สืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนองที่เสด็จสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงจึงมีพระบรมราชโองการให้อุปราชของ 3 เมือง คือ พระนเรศวร, นัดจินหน่อง อุปราชเมืองตองอู และพระมหาอุปราชามังสามเกียด ยกทัพไปปราบเมืองคัง พระนเรศวรสามารถตีเมืองคังได้สำเร็จ สร้างความแค้นเคืองให้พระมหาอุปราชามังสามเกียด พระนเรศวรได้กระทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทก เพื่อประกาศว่าพระพิษณุโลกสองแคว จักไม่ขึ้นตรงต่อหงสาวดีอีกต่อไป


อันดับที่ 5
‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา’ (2550)

รายได้: 236.7 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จิรายุ ละอองมณี, สุชาดา เช็คลีย์, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, สมภพ เบญจาธิกุล, สรพงศ์ ชาตรี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, สันติสุข พรหมศิริ
เรื่องย่อ: พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก พระมหาธรรมราชาจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับพระเจ้าบุเรงนองเพื่อร่วมกันโจมตีอยุธยา โดยที่พระเจ้าบุเรงนองได้ขอเอาตัวพระนเรศ หรือองค์ดำ พระโอรสองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ ไปเป็นองค์ประกันในหงสาวดี องค์ดำกลายเป็นศิษย์เอกของพระมหาเถรคันฉ่อง พระประจำพระองค์ของพระเจ้าบุเรงนอง และทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์


อันดับที่ 4
‘สัปเหร่อ’ (2566)

รายได้: 244.95 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 729.6 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: ไทบ้าน สตูดิโอ
ผู้กำกับ: ธิติ ศรีนวล
นักแสดง: ณัฐวุฒิ แสนยะบุตร, ชาติชาย ชินศรี, สมชาย สายอุทา
เรื่องย่อ: เจิด เด็กหนุ่มวัย 25 ปีที่เรีนนจบกฎหมาย 7-8 ปี มีพ่อทำอาชีพ สัปเหร่อ เขาหวังจะไปสอบเป็นทนายหรือปลัดอำเภอ แต่ต้องมาช่วยพ่อเป็นสัปเหร่อ เพราะพ่อมีอาการป่วยจนต้องมาช่วยพ่อทำงาน แต่ลังเลเพราะเกิดเป็นคนที่กลัวผีมากๆ และต้องมาทำงานกับศพ


อันดับที่ 3
‘สุริโยไท’ (2544)

รายได้: 324.5 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 550 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม/พร้อมมิตร โปรดักชั่น
ผู้กำกับ: หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
นักแสดง: หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จอนนี่ แอนโฟเน่, ใหม่ เจริญปุระ, สรพงษ์ ชาตรี, อำพล ลำพูน
เรื่องย่อ: หนังเล่าเรื่องพระประวัติของพระสุริโยไท พระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ และวีรกรรมการเสียสละไสช้างเพื่อสละชีพแทนพระสวามี จนอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้างกลางสมรภูมิยุทธหัตถี ณ ทุ่งมะขามหย่อง กลายเป็นหนึ่งของวีรกรรมความกล้าที่ถูกเล่าขานบนหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย


อันดับที่ 2
‘ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้’ (2557)

รายได้: 330.55 ล้านบาท
ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม
ผู้กำกับ: เมษ ธราธร
นักแสดง: ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ปรีชญา พงษ์ธนานิกร, ภพธร สุนทรญาณกิจ, โจ๊ก โซคูล, กุลญาดา ตาวิยะ, ตุ๊ยตุ่ย พุทธชาด, โซระ อาโออิ
เรื่องย่อ: เพลง ติวเตอร์ภาษาอังกฤษสาวสวยต้องหัวจะปวด เมื่อลูกศิษย์ต่างชาติของเธอกำลังจะตัดสินใจเลิกกับยิม แฟนหนุ่มคนไทย ช่างเทคนิคในโรงงานผู้มีทักษะภาษาอังกฤษต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพื่อเดินทางไปอเมริกา ยิมจึงใช้แรงโกรธไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษเพื่อไปตามง้อแฟนถึงอเมริกา ก่อนที่ทั้งคู่จะค่อย ๆ เพิ่มพูนความรู้สึกดี ๆ ต่อกันโดยไม่รู้ตัว


อันดับที่ 1
‘พี่มาก..พระโขนง’ (2556)

รายได้: 559.59 ล้านบาท (รายได้ประมาณการทั่วประเทศ 1,000 ล้านบาท)
ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม
ผู้กำกับ: บรรจง ปิสัญธนะกูล
นักแสดง: มาริโอ้ เมาเร่อ, ดาวิกา โฮร์เน่, พงศธร จงวิลาส, ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์, อัฒรุต คงราศรี, กันตพัฒน์ สีดา
เรื่องย่อ: ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกิดเหตุสงคราม ทำให้ชาวบ้านต้องถูกเกณฑ์ไปรบ มาก ผัวหนุ่ม จำต้องทิ้งนาก เมียสาวท้องแก่ไว้กับบ้านเพื่อไปร่วมศึก เขาได้พบเจอกับเพื่อนสนิท เต๋อ เผือก ชิน และ เอ จนเมื่อกลับมาบ้าน มีข่าวลือว่านากกลายเป็นผีตายทั้งกลมไปแล้ว เพื่อนทั้ง 4 คนจึงต้องแอบบอกความจริงเรื่องนี้ให้มากได้ล่วงรู้


สถิติรายได้หนังไทยเรื่องอื่น ๆ ตั้งแต่อันดับที่ 11-20

อันดับที่ 11 ‘หลานม่า’ (2567) (จีดีเอช) 172.57 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 331 ล้านบาท)
อันดับที่ 12 'บุพเพสันนิวาส ๒' (2565) (จีดีเอช/บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น) 170.19 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 393 ล้านบาท)
อันดับที่ 13 ‘หลวงพี่แจ๊ส 4G’ (2559) (ฟิล์มกูรู โปรดักชั่น) 166.53 ล้านบาท
อันดับที่ 14 'นาคี ๒' (2561) ดู เอ็นเตอร์เทนเม้นท์/เอ็ม พิคเจอร์ส 161.19 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 417.55 ล้านบาท)
อันดับที่ 15 ‘ATM เออรัก เออเร่อ’ (2555) (จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 152.5 ล้านบาท
อันดับที่ 16 ‘บางระจัน’ (2543) (ฟิล์มบางกอก) 151 ล้านบาท
อันดับที่ 17 ‘นางนาก’ (2542) (ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์) 149.6 ล้านบาท
อันดับที่ 18 ‘น้อง.พี่.ที่รัก’ (2561) (จีดีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 149 ล้านบาท (ทั่วประเทศ 244.77 ล้านบาท)
อันดับที่ 19 ‘รถไฟฟ้า มาหานะเธอ’ (2552) (จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 145.82 ล้านบาท
อันดับที่ 20 ‘หลวงพี่เท่ง’ (2548) (จีทีเอช/จอกว้างฟิล์ม) 141.86 ล้านบาท


ที่มา: Wikipedia, Thailand Box Office, Theaterist