หมายเหตุ - บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์“ผมป่วยเป็นโรคจิตเภท ไม่มีทางรักษาหาย และต้องเป็นไปตลอดชีวิต”ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยอดผู้ป่วยจิตเวชทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงโรคทางจิตเวชชนิดอื่น ๆ ด้วย เฉกเช่นในเรื่อง Words on Bathroom Walls ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มมัธยมปลายชื่อว่า อดัม เพทราเซลลี่ เขามีโรคทางจิตที่เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติที่ทำให้เกิดภาพหลอนหรือการได้ยินเสียงในหัว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มี พร้อมทั้งมีอาการหลงผิดร่วมด้วย ซึ่งเรียกว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia) อาการประสาทหลอนทำให้เขาต้องเจอปัญหาในชีวิตประจำวันมากมาย เช่น มองเห็นกลุ่มเงาควันดำมืดที่มุมห้องที่มักมาพร้อมกับเสียงเรียกชื่อของเขา ซึ่งคอยตอกย้ำให้อดัมคิดแง่ในลบ ส่งผลให้เขารู้สึกเกลียดตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเห็นภาพหลอนของคนสามคนที่คอยเป็นเสมือนเพื่อนและพี่เลี้ยงที่แนะนำการรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งมาในรูปแบบของชายนักเลงหัวไม้ชอบสูบซิการ์ สาวติสท์สายมูเตลูดูไพ่ทำนายดวง และชายหนุ่มที่ฝักใฝ่แต่เรื่องใต้สะดือที่ออกมาเมื่อไหร่ก็เรียกเสียงฮาได้เสมอปมในชีวิตอย่าคิดว่าไม่สำคัญแม้ว่าอาการหลอนของอดัมจะเกิดขึ้นก่อนที่พ่อจะทิ้งเขาและแม่ไป เขาก็อดคิดไม่ได้ว่า อาการป่วยของเขาเป็นสาเหตุที่พ่อกับแม่ต้องหย่าร้างกัน ครอบครัวที่แตกร้าวได้สร้างความรู้สึกเสมือนว่า “ตัวผมเป็นภาระที่หนักอึ้ง” ให้กับอดัมอย่างมาก ซึ่งในเวลาที่อาการเห็นภาพหลอนและการได้ยินเสียงในหัวของเขากำเริบ ปมการถูกพ่อทอดทิ้งก็มักจะกลับมาเล่นงานเขาอยู่เสมอและเป็นปมก้อนใหญ่ยากที่จะคลี่คลายได้สำหรับเขา และต่อมาเมื่อแม่ของเขาได้แต่งงานใหม่กับพอล คนรักใหม่ของเธอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแม่ตั้งท้องน้องอีกคนโดยไม่ตั้งใจ แต่ด้วยอาการของโรคนั้นทำให้อดัมหลงผิด นั่นก็ยิ่งทำให้เขายิ่งรู้สึกว่า ตัวเองกลายเป็นคนนอกและเป็นคนที่ไม่มีใครต้องการมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่แม่และพอลพยายามช่วยเหลือเขาอย่างสุดความสามารถ และนี่เองที่ภาพยนตร์ได้สะท้อนถึงปมด้านครอบครัวซึ่งถือว่าเป็นปมปัญหาสำคัญของผู้ป่วยจิตเวชหลาย ๆ คน พวกเขามักอยู่ในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อแม่หย่าร้างกันหรือมีการใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจร่วมด้วย ความรู้สึกของการถูกทอดทิ้งเพิกเฉยจากครอบครัวจึงเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งของปัญหาด้านสุขภาพจิตเช่นกันเมื่อบาทหลวงทำหน้าที่เสมือนเป็นนักจิตวิทยาอาการทางจิตส่งผลให้อดัมต้องออกจากโรงเรียนเก่า และไปเข้าเรียนในโรงเรียนในเครือคาทอลิกแทน ด้วยเหตุผลที่อดัมเหน็บแนมอาจารย์ใหญ่ว่า “คนเดียวที่ไม่สามารถปฏิเสธเราได้คือพระเจ้า ถูกมั้ยครับ” แต่เมื่อเขาได้เข้าไปเรียนที่นี่แล้ว อดัมกลับพบว่า การเข้าห้องสารภาพบาปของเขานั้นจะเป็นเหมือนการพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ไปซะอย่างงั้น เพราะหลังจากที่อดัมได้คุยเปิดใจกับบาทหลวงท่านหนึ่งไป เขากลับมีความรู้สึกสบายใจและรู้สึกดีขึ้นกว่าตอนที่ไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จริง ๆ ซะอีก เพราะบาทหลวงนั้นรับฟังเขาด้วยความเข้าใจและเป็นมิตรกับเขามากกว่า ในฉากนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การมีคนที่คอยรับฟังและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากและช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังห้องน้ำสถานที่ปลดทุกข์ทั้งทางกายและทางใจภายในหนัง ผู้ชมจะเห็นสถานที่หนึ่งที่เป็นสถานที่สำคัญมาก ๆ ภายในเรื่อง นั่นก็คือ ห้องน้ำในโรงเรียน ซึ่งหากมองเผิน ๆ มันก็คือห้องน้ำธรรมดา ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าสังเกตุดี ๆ ก็จะพบว่า บนผนังทุกด้านของห้องน้ำนั้น กลับเต็มไปด้วยคำสบถก่นด่าหรือสิ่งที่อัดอั้นตันใจของเด็กวัยรุ่นหลายคน เหมือนว่าห้องน้ำแห่งนี้นั้นนอกจากจะเป็นที่ปลดทุกข์ทางกายและก็ยังเป็นที่ปลดทุกข์ทางใจของใครหลายคนอีกด้วย ซึ่งเสียดสีให้เห็นว่า แม้เบื้องหน้าของโรงเรียนนั้นจะดูสวยงาม แต่กลับมีปัญหาของนักเรียนมากมายซุกซ่อนอยู่ และยังสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมได้แสดงออกทางความคิดนั้นมีไม่มากพอกับความต้องการอีกด้วยรับได้ไหมถ้าผมมองเห็นใครที่คุณมองไม่เห็นชีวิตในโรงเรียนของอดัมเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเขาได้พบกับ “มายา” เด็กสาวผิวสีผู้เป็นนักเรียนดีเด่นและเป็นติวเตอร์ให้เขา แต่อดัมและมายาต่างแอบเก็บซ่อนความลับของตัวเองเอาไว้ นั่นก็คือ การที่อดัมเป็นโรคจิตเภท ส่วนมายานั้นเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน จนเธอต้องแอบรับจ้างทำการบ้าน รับจ้างเขียนรายงานให้เพื่อน ๆ เพื่อแลกกับเงินเพื่อมาจุนเจือครอบครัวขนาดใหญ่ของเธอ แต่การที่อดัมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับครอบครัวของมายาโดยบังเอิญ นั่นยิ่งทำให้เขาเข้าใจเธอมากขึ้นว่า ทุกคนล้วนมีความลับเก็บซ่อนอยู่ แม้กระทั่งตัวเขาเอง แต่เมื่อเขากับเธอตกหลุมรักกัน อดัมก็ต้องชั่งใจอย่างหนักว่า เขาพร้อมที่จะเปิดเผยความลับของเขาให้เธอฟังแล้วหรือยัง เพราะอดัมกลัวว่า มายาอาจจะรับไม่ได้ ถ้าหากเธอรู้ว่า เขาเป็นโรคจิตเภท นี่เองได้สะท้อนให้เห็นว่า มุมมองของสังคมที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวชนั้นยังคงเต็มไปด้วยความเชื่อที่ผิด ๆ เช่น ไปหาจิตแพทย์เท่ากับเป็นคนบ้า หรือไม่ก็กล่าวโทษผู้ป่วยจิตเวชว่า เรียกร้องความสนใจหรือคิดไปเอง ทำให้ผู้ที่มีอาการจิตเวชเริ่มแรกไม่กล้าไปพบแพทย์และทำให้อาการนั้นแย่ลง เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษา เป็นต้นอาจไม่หายด้วยยาจึงรักษาด้วยสิ่งที่รักแม้จิตแพทย์จะแนะนำให้อดัมได้ลองใช้ยาชนิดต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้อาการเห็นภาพหลอนนั้นจางหายไปได้เท่าที่ฤทธิ์ยายังคงอยู่ แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยผลข้างเคียงที่รบกวนการใช้ชีวิตอย่างมาก เช่น ท้องเสีย มือกระตุก การรับกลิ่นและรสผิดเพี้ยนไปจากปกติ แต่เมื่อไหร่ที่อดัมได้ลงมือทำอาหาร เสียง กลิ่น รส สัมผัสของการทำอาหารก็ทำให้ภาพหลอนและเสียงในหัวของเขาหายไปได้ชั่วคราวเช่นกัน อดัมจึงมุ่งมั่นว่า เขาจะใช้สิ่งที่รักในการบำบัดอาการเห็นภาพหลอนของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยการสอบเข้าเรียนในโรงเรียนการครัวความเข้าใจคือยาวิเศษผู้ป่วยจิตเวชนั้นก็ไม่ต่างกับผู้ป่วยทางโรคทางกายที่ล้วนต้องการกำลังใจและความเข้าใจ เนื่องจากโรคทางจิตเวชบางชนิดนั้นสามารถรักษาให้หายได้หรืออาการดีขึ้นได้ด้วยการใช้ยาควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง หลังจากที่อาการกำเริบครั้งใหญ่ แต่เขาก็ผ่านมาได้ด้วยกำลังใจจากแม่ พอล บาทหลวงผู้คอยรับฟังเขา และมายา สาวน้อยที่เขารักและรักเขาอย่างจริงใจ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากผู้ป่วยจิตเวชที่อยากให้ทุกคนในสังคมรับฟังและเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้กำลังใจแก่กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเพื่อให้ยืนหยัดต่อสู้กับโรคโดยการใช้ยารักษาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ และการรักษาในเชิงสร้างสรรค์อื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วยรูปภาพจาก Roadside Attractions