กลศึกสามก๊ก...บทประพันธ์แห่งปัญญา น้อยคนที่จะไม่รู้จักวรรณกรรมที่มีชื่อว่าสามก๊ก วรรณกรรมประวัติศาสตร์จีนสุดยิ่งใหญ่ที่ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้งกลศึกสามก๊ก คือเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเล่ห์อุบายต่าง ๆ การใช้ยุทธวิธี การเจรจาต่อรองโดยยุทธวิธีทางการทูต เคยมีคำเปรียบเปรยว่าผู้ใดอ่านสามก๊กสามจบคบไม่ได้ เนื่องจากสามก๊กเป็นวรรณกรรมที่สอดแทรกการใช้เล่ห์เหลี่ยมเยอะ ภาพถ่ายโดยผู้เขียน โดยศึกสามก๊กเล่มนี้มีผู้ประพันธ์ที่ชื่อว่าหลี่ปิ่งเอี้ยนและซุนจิ้ง ได้รับการแปลเป็นไทยโดยคุณบุญศักดิ์ แสงระวี เรื่องราวในหนังสือก็จะเน้นการใช้กลยุทธ์ต่าง เช่น การใช้กลยุทธ์ในการสู้รบ ใช้กลยุทธ์ในการเจรจา ใช้กลยุทธ์ในการแก้แค้น เป็นต้น ภาพถ่ายโดยผู้เขียน ตัวละครหลักของสามก๊กที่ทุกคนรู้จักกันดี ได้แก่ โจโฉ ขุนศึกและอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แม้ว่าจะถูกประนามว่าเป็นทรราชโหดร้ายแต่ก็เป็นผู้ปกครองที่ฉลาดมีความปรีชาสามารถ ตัวละครต่อมาคือเล่าปี่ บุรุษที่โอบอ้อมอารี ยึดมั่นคุณธรรม เป็นนักการเมืองที่ฉลาด และเป็นคนศึกสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ตัวละครที่สามคือซุนกวน บุรุษรูปร่างสูงใหญ่ที่มักจะหาทางกำจัดเล่าปี่อยู่เสมอแต่ก็ไม่แสดงตัวว่าเป็นศัตรูอย่างโจ่งแจ้งและมักจะผูกมิตรไมตรีกับทุกองค์เพื่อประโยชน์ของตน ตัวละครสุดท้ายที่ไม่มีใครไม่รู้จักคือขงเบ้ง เขามีอีกชื่อว่าจูกัดเหลียง มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของเล่าปี่ เป็นนักปราชญ์ที่เก่งกาจ ฉลาดหลักแหลม รอบรู้วิชา นิสัยเยือกเย็นแต่มีเมตตา ภาพถ่ายโดยผู้เขียน สามก๊กเป็นวรรณกรรมที่เขียนได้อย่างสมเหตุสมผลและอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของมนุษย์ แม้ว่าขงเบ้งจะถูกสร้างขึ้นให้มีความฉลาดจนได้เป็นกุนซือผู้อยู่เบื้องหลังกองทัพแต่ก็ใช่ว่าเขาจะไม่เคยได้ลิ้มรสกับความพ่ายแพ้ แม้ขงเบ้งจะฉลาดหลักแหลมมากเพียงใดก็ยังมีจุดอ่อน ซึ่งนี่คือความเป็นจริงที่มนุษย์ทุกคนนั้นเป็น ไม่มีใครชนะตลอดไป ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครพ่ายแพ้ตลอดไปเช่นกัน โดยสามก๊กฉบับนี้มีทั้งหมด 98 ตอน 504 หน้า เนื้อหาเด่นด้านกลยุทธ์ การใช้สมองประลองปัญญา ตำนานสามก๊กนั้นได้ข้อมูลพื้นฐานมาจากจดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่ว นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น ซึ่งผู้แปลได้แปลออกมาอย่างสละสลวย อ่านแล้วรู้สึกเข้าถึงเนื้อหาจนเห็นภาพเป็นฉาก ซึ่งคุณบุญศักดิ์ แสงระวี ถือเป็นนักแปลคุณภาพที่มีรางวัลสุรินทราชาจากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยการันตี