ช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีหนังสือแปลเล่มหนึ่งซึ่งเป็นที่พูดถึงกันพอสมควร ความโดดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์คือชื่อหนังสือที่ชวนให้เหลียวกลับไปดูในหน้าปกอีกครั้งว่าอ่านถูกต้องหรือไม่ตามที่เห็นในแว็บแรก ! นั่นคือหนังสือที่ชื่อว่า “ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย” หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ The Asshole Survival Guide เขียนโดยโรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และแปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ โดยหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติตนเมื่อต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับกลุ่มคนหรือคนที่ไม่ได้เรื่อง คนเห็นแก่ตัว คนนิสัยไม่ดี คนที่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น คนขี้โกง คนชอบเหยียบคนอื่นให้จม คนที่ชอบแซะขอบแขวะคนอื่น คนที่ชอบสอดรู้สอดเห็น คนที่ชอบเอาหน้า ฯลฯ ซึ่งเป็นการรวมสารพัดคนที่โดยรวมแล้วเรามักเรียกกันว่า “คนเฮงซวย”ในสังคมของเราย่อมมีความแตกต่างกันผู้คน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะคิดเหมือนกัน หรือทำเหมือนกันหมด เราต่างมีจุดยืน ความคิด และพฤติกรรมที่แตกต่างเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ความแตกต่างนี้สร้างความเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนการเติบโตของสังคม แน่นอนว่าภายใต้ม่านฉากของความแตกต่างนี้ ย่อมหมายรวมถึงกลุ่มคนหรือคนที่เราคิดว่าเค้าไม่ดี คนแย่ ๆ หรือที่เราเข้าใจว่าเป็นคนเฮงซวยรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าเข้าจะอวตารมาอยู่ในร่างของเจ้านาย ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง เรียกได้ว่าคนเฮงซวยอาจเป็นใครก็ได้ในสังคม หรือในชีวิตของเรา อยู่ที่เราจะประเมินความหมายของพวกเค้าให้เป็นอย่างไรที่มาของภาพ https://unsplash.com/photos/r-enAOPw8Rsหนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยการหว่านโปรยประโยคที่กระแทกกระทั้นสมองให้ฉุกคิดหลายประโยค จริง ๆ แล้วคำว่า “Asshole” ที่โรเบิร์ต ซัตตัน ใช้นี้ถือเป็นคำหยาบ เป็นคำแรง หรือคำที่ไม่ดีเอามาก ๆ การแปลโดยใช้คำว่า “คนเฮงซวย” นี้ ถือว่าได้ให้เกียรติแล้ว ! การไปต่อต้านหรือด่าทอผู้คนเหล่านี้ทั้งด้วยวิธีการเช่นเดียวกันหรือเสมอกัน หรือแม้แต่การตอบกลับด้วยวิธีการของเราเอง ล้วนเป็นสิ่งน่าสนใจที่เราควรศึกษา และควรตระเตรียมพอสมควร โดยโรเบิร์ต ซัตตัน ได้แบ่งเนื้อหาสาระในหนังสือออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้1. การประเมินสถานการณ์ของความเฮงซวยประเมินให้ได้ว่า กำลังถูกกระทำโดยคนเฮงซวยอยู่หรือไม่ภายใต้ความเฮงซวยที่กำลังถูกกระทำอยู่นี้ เกิดขึ้นแบบชั่วคราว หรือมีวาระต่อเนื่องยาวนาน ถ้าเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องยาวนานมาแล้ว คงต้องเตรียมแผนรับมือประเมินให้ได้ว่า คนเฮงซวยที่กำลังกระทำกับเรานี้ เป็นคนเฮงซวยโดยแท้จริง หรือสถานการณ์บังคับนำพาให้เฮงซวย เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในสังคมนั้น ๆประเมินให้ได้ว่า จริง ๆ แล้ว เราที่กำลังถูกคนเฮงซวยเล่นงานอยู่นี้ ได้ส่งผลให้เกิดบาดแผลหรือความสาหัสแค่ไหน ซึ่งบางคนอาจสาหัสจนไม่อาจมีชีวิตที่ปกติ ในขณะที่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไร หรือระคายเพียงแค่ปลายเส้นผมที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/workplace-team-business-meeting-1245776/ 2. วิธีการรับมือกับความเฮงซวย ถ้าแน่ใจถึงสถานการณ์แล้วและผลประเมินออกมาว่าเป็นความเฮงซวยระดับทำลายล้าง ให้ “หลีกหนี” ออกจากคนเฮงซวย หรือสถานการณ์ที่เฮงซวยนั้นให้เร็วที่สุด เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเสียเวลาไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น“หลีกเลี่ยง” การพบเจอคนเฮงซวย ด้วยวิธีการที่มีชั้นเชิง อาทิ ไม่สบตา เดินเลี่ยง เพิ่มพื้นที่หรือระยะห่างกับคนเฮงซวยให้มากที่สุด เช่น นั่งให้ห่าง เดินให้ห่าง ไม่ทำอะไรพร้อม ๆ กับคนเฮงซวยเหล่านั้น ‘ปรับตัว/เปลี่ยนความคิด’ คือการกลับมาเปลี่ยนที่ตัวเรา โดยการคิดใหม่ มองสถานการณ์ใหม่ และแน่นอนว่ารวมไปถึงการมองคนเฮงซวยเหล่านั้นในมุมใหม่ เช่น การคิดว่าคนเฮงซวยเหล่านั้นก็ยังมีมุมดี ๆ แม้จะน้อยมากก็ตาม แต่ลองหาให้เจอ หรือการคิดว่ากลุ่มคนเฮงซวยเหล่านี้เป็นคนน่าสงสาร หรือมองให้กลายเป็นเรื่องตลก หรือลองคิดว่าในโลกนี้ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า จะเกลียดชัง หรือแย่งชิงกันไปก็เท่านั้น สู้เอาเวลาไปทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและครอบครัวให้มากที่สุดจะดีกว่า เป็นต้นที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/upset-overwhelmed-stress-tired-2681502/ 3. วิธีการโต้ตอบกับความเฮงซวยก่อนที่จะไปถึงวิธีนี้ อยากให้พิจารณาทบทวนวนไปข้อที่ 1 อีกครั้ง เมื่อพิจารณาดีแล้ว ก็เลือกวิธีโต้ตอบ โดยโรเบิร์ต ซัตตัน เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะเลือกวิธีโต้ตอบ ต้องสำรวจในสิ่งที่ตัวเองที่มีอยู่ให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งได้แก่ อำนาจ ข้อมูล และการประสานพลังจากพวกพ้อง เนื่องจากจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการโต้ตอบได้ เช่น การสั่งย้ายคนเฮงซวย การให้สงควรร่วมกดดัน การรวบรวมพยานหลักฐานที่แน่นหนาแล้วแฉคนเฮงซวยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง หรือถ้าร้ายแรงก็สามารถนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้นนอกจากนี้โรเบิร์ต ซัตตัน ยังได้ยกตัวอย่างถึงการโต้ตอบที่เต็มไปด้วยความล้มเหลว เช่น การเผชิญหน้าหรือการทะเลาะหรือใช้ความรุนแรง การแก้แค้นแบบลับ ๆ เหมือนในละคร โดยที่ไม่ให้คนเฮงซวยรู้ตัว ซึ่งนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้วเรื่องราวอาจบานปลายและสาหัสกว่าที่เป็นอยู่ที่มาของภาพ https://pixabay.com/photos/argument-conflict-controversy-238529/ โดยเนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างกระเดียดไปในทางหนังสือ How to หรือการเสนอแนะวิธีการ เพราะมีกรณีตัวอย่างมีหลากหลาย และเนื้อหาที่อัดแน่นชวนแก่การศึกษาวิเคราะห์เป็นจำนวนมาก สิ่งที่ผมประทับใจและถือว่าได้รับแก่นสารในระดับหนึ่ง ก็คือมุมมองและวิธีปฏิบัติ รวมทั้งความเข้าอกเข้าใจใน “ตัวเขา” และ “ตัวเรา” ให้มากขึ้น อย่างน้อยมันทำให้เรารู้จักการดึงสติ เพราะจริง ๆ แล้ว เราทุกคนอาจเคยเป็นคนเฮงซวยด้วยกันมาแล้วทั้งสิ้น และกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนปกติที่มีอยู่ในทุกสังคม ดังนั้นการเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง และใช้กลวิธีอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยเพื่อให้การอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างของผู้คนในสังคมนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมได้เติบโตและขับเคลื่อนไปเบื้องหน้าอย่างมีอารยะ สดใส และงดงาม เรื่องและภาพหน้าปกโดยผู้เขียน