ในวงการฟุตบอล สโมสรยักษ์ใหญ่มักผูกขาดการเป็นแชมป์ไว้แทบทุกลีกทั่วโลก แต่หลังจากเมื่อฤดูกาล 2015-2016 สโมสรเล็กๆ อย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ก้าวขึ้นมาผงาดคว้าตำแหน่งนั้นได้สำเร็จ ราวกับเป็นเทพนิยายที่กวีเอกสักคนได้แต่งเอาไว้ ทั้งที่ก่อนเปิดฤดูกาลดังกล่าว อัตราต่อรองการเป็นแชมป์ของเลสเตอร์ฯ อยู่ที่แทง 1 จ่าย 5,000 หรือมีโอกาสเพียง 0.02 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผลงานอันยอดเยี่ยมของสโมสรได้นำมาสู่ผลงานหนังสือสองเล่มที่เขียนโดยคนไทย ได้แก่ ‘จิ้งจอก 5000-1’ (โดย นันทว้าง สิรสุนทร) กับหนังสือที่ผมกำลังจะแนะนำต่อไปนี้…THE FAIRY TALE OF UNDERFOXเดิมทีฉายาของสโมสรแห่งนี้คือ ‘สุนัขจิ้งจอก’ ก่อนถูกเติมท้ายด้วยคำว่า ‘สยาม’ เมื่อมีชาวไทยคู่หนึ่งอย่าง ‘คุณวิชัย’ กับ ‘คุณอัยยวัฒน์’ สองพ่อลูกตระกูลศรีวัฒนประภา มาเทคโอเวอร์ โดยคนลูกยังเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวให้กับผู้นำมาเรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ (นั่นคือ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ จากสำนักพิมพ์ a book) พร้อมเชิญผม-หนึ่งในผู้โชคดีหลายสิบคน-ไปรับหนังสือเล่มดังกล่าวได้ฟรีและร่วมงานเปิดตัวหนังสือที่ซอยรางน้ำ (วันนั้นมีทัวร์จากหลายชาติโดยเฉพาะทัวร์จีน และเสื้อฟุตบอลของสโมสรเลสเตอร์ฯ หมดเกลี้ยงทุกแบบ) ซึ่งมีคนดังในวงการฟุตบอลหลายคนไปร่วมแสดงความยินดี อาทิ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ (สมัยที่เขายังเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย) หากเจ้าของสโมสรไม่ใช่คนไทย ทีมงานที่จัดทำหนังสือเล่มนี้อาจไม่ได้เข้าไปใกล้ชิดกับความเป็นสโมสรเลสเตอร์ฯ มากขนาดนี้ และผมว่าคนเราถ้ามีเงินอย่างเดียวคงไม่สามารถซื้อสโมสรฟุตบอลได้ แต่เขาต้องรักมากจนถึงขั้นคลั่งไคล้ในกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างสูง จึงยังบริหารสโมสรเลสเตอร์ฯ มาได้จนถึงทุกวันนี้สิ่งพิมพ์เย็บเล่มความหนา 264 หน้า ถูกเขียนขึ้นจากเรื่องจริง-ไม่อิงนิยาย บอกเล่าหลายเรื่องราวสุดคล้ายเป็นเทพนิยายของจิ้งจอกสยาม เช่นใครจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นของสองพ่อลูกนั้น แท้จริงแล้วตั้งใจจะซื้อสโมสรอื่นที่ไม่ใช่เลสเตอร์ฯ, เหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขายกเลิกการสนับสนุนสโมสรเชลซี จนเกิดวลี “วันหนึ่งซื้อทีมแล้วสู้เชลซีให้ได้แล้วกัน” (ก่อนที่ในเวลาราว 1 ทศวรรษต่อมา นักเตะเชลซีจะต้องมายืนเรียงแถวในนัดสุดท้ายของฤดูกาลเพื่อแสดงความยินดีกับว่าที่แชมป์อย่างสโมสรที่พวกเขาเป็นเจ้าของ), การนำวัฒนธรรมแบบไทยๆ เข้าไปปรับใช้กับชาวต่างชาติ เพื่อซื้อใจพนักงานและกองเชียร์ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสำคัญ เช่น การปิดผับแล้วให้สตาฟฟ์ทั้งหมดของสโมสรมากินข้าวร่วมกัน การแจกอาหารและสินค้าที่ระลึกให้กับแฟนเลสเตอร์ฯ ที่เข้ามาชมการแข่งขันในสนาม การนิมนต์พระมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่สนามรวมถึงการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงที่ลงลึกไปถึงราก ด้วยการลงทุนกับสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาสโมสรให้ดีขึ้น เช่น ร้านขายสินค้าที่ระลึก การติดตั้งกล้องวงจรปิด สนามฝึกซ้อม อุปกรณ์การฝึกซ้อม วิทยาศาสตร์การกีฬา ห้องแช่แข็ง (เพื่อลดความเมื่อยล้าและอาการบาดเจ็บให้นักฟุตบอล), ช่วงเวลาแค่ 19 วินาทีสุดช็อกที่ทำให้เลสเตอร์ฯ ไม่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด, นัดหนึ่งที่น่าจะอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน คือวันที่ไล่ถล่ม ‘ผีแดง’ ไป 5 ประตูต่อ 3, การปรับเปลี่ยนผู้จัดการทีม และการซื้อขายนักเตะ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากนักเตะธรรมดาตอนค้าแข้งกับทีมอื่น ให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์เมื่อมาเล่นที่ คิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม (ชื่อสนามของสโมสรเลสเตอร์ฯ) เช่น เอ็นโกโล ก็องเต, เจมี่ วาร์ดี้, ริยาด มาห์เรซสำนวนภาษาและน้ำเสียงที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวในทุกบท ช่างเต็มไปด้วยจุดมุ่งหมายที่เน้นสร้างแรงบันดาลใจ แม้ไม่ใช่แฟนบอลของสโมสรเลสเตอร์ฯ หรือไม่ได้เชียร์ฟุตบอล ก็สามารถเข้าใจและมีอารมณ์ร่วมได้ ไม่มีประโยคไหนที่เขียนมาเพื่อขายของให้กับ คิง เพาเวอร์ อย่างแน่นอน (ฮา)ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะมีเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะว่ากันเฉพาะลีกฟุตบอลของเมืองผู้ดี ตลอดสามฤดูกาลที่ผ่านมานั้นตำแหน่งแชมป์ลีกก็ถูกกินเรียบโดยทีมใหญ่ กระทั่งฤดูกาลล่าสุดนี้ (ฤดูกาล 2019-2020) ทีมใหญ่ทีมหนึ่งที่ร้างลาจากการเป็นแชมป์ลีกไปนานถึง 30 ปีเต็ม! ก็กำลังจะกลับมาคว้าโทรฟี่อีกครั้ง นั่นคือ ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล ทำเอาผมในฐานะแฟนของ ‘ทอฟฟี่สีน้ำเงิน’ เอฟเวอร์ตัน ซึ่งเป็นทีมร่วมเมือง อดไม่ได้ที่จะดีใจด้วย และต้องขอแสดงความยินดีล่วงหน้าจากใจจริงมา ณ ที่นี้.