รีเซต

[รีวิวหนัง] "Ferrari" สนามชีวิตของม้าลำพอง

[รีวิวหนัง] "Ferrari" สนามชีวิตของม้าลำพอง
แบไต๋
2 มิถุนายน 2567 ( 11:30 )
876

ชื่อของ ‘Ferrari’ คงไม่มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากคำนิยามว่า หรูหรา แรงจัด และอันตราย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากถ่ายทอดออกมาผ่าน Products อย่างรถสปอร์ตราคาแพงที่น้อยคนจะเอื้อมถึงแล้ว มันยังเป็นที่รู้กันดีว่าชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี (Enzo Ferrari) อดีตนักแข่งรถสูตรหนึ่งที่อาศัยความทะเยอทะยานมาก่อตั้งบริษัทยานยนต์ชื่อเดียวกับนามสกุลตัวเองที่เขาภูมิใจยิ่งสิ่งใด ก็ทั้งฟุ้งเฟ้อ และใช้ชีวิตแบบกล้าได้กล้าเสีย จนถีบให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักแม้กับคนที่ไม่ได้อยู่ในโลกของยนตรกรรมเอง

สำหรับหนัง ‘Ferrari’ ที่เรากำลังพูดถึงนี้จะหยิบยกเอาช่วงซัมเมอร์ปี ค.ศ. 1957 (ตรงกับ พ.ศ. 2500) ในเวลานั้นชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี (รับบทโดย อดัม ไดร์ฟเวอร์, Adam Driver) พุ่งความสนใจของเขาไปที่ชัยชนะในการแข่งรถฟอร์มูลาวัน สนามมิลลิ มิเกลีย (Mille Miglia) ซึ่งเขาวางเดิมพันมันด้วยอนาคตของบริษัทเฟอร์รารี ในขณะที่ลอรา (รับบทโดย เพเนโลปี ครูซ, Penélope Cruz) ภรรยาของเฟอร์รารีเองก็ยังทำใจกับการสูญเสียลูกชายคนเดียวไปไม่ได้ และสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเธอเริ่มระแคะระคายว่าสามีตัวเองกำลังนอกใจและสร้างครอบครัวลับ ๆ กับลีนา ลาร์ดี (รับบทโดยเชลีน วูดลีย์, Shailene Woodley) ซึ่งเป็นสิ่งที่เอนโซ เฟอร์รารีพยายามรักษาเป็นความลับมาตลอด แต่ในเมื่อผู้กุมชะตากรรมของบริษัทเฟอร์รารีครึ่งหนึ่งคือลอรา เอนโซจำต้องทำทุกทางเพื่อกอบกู้สถานการณ์บริษัทที่กำลังดิ่งเหว และประคองชีวิตครอบครัวที่เริ่มระหองระแหงก่อนที่รถสปอร์ตม้าลำพองเฟอร์รารีจะเหลือแต่ชื่อ

อันที่จริง ‘Ferrari’ ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่พูดถึงชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี แต่ก่อนหน้านี้มีทั้ง ‘Enzo Ferrari’ หนังปี ค.ศ. 2003 ที่อิตาลีสร้างเอง หรือ ‘Ferrari: Race to Immortality’ หนังสารคดีปี ค.ศ. 2017 ที่มีเหตุการณ์คาบเกี่ยวกันทั้งในแง่ชีวประวัติและเรื่องราวความหลงใหลในโลกแห่งความเร็วของเอนโซ แต่สิ่งที่น่าจะทำให้ ‘Ferrari’ ลอยตัวเหนือหนังเรื่องอื่นก็คงเป็นสไตล์การเล่าแบบไมเคิล แมนน์ (Michael Mann) ผู้กำกับที่ขึ้นชื่อในการนำชีวประวัติหรือเสี้ยวชีวิตคนดังมาเล่าได้อย่างมีสีสัน ดังที่เคยพิสูจน์มาแล้วกับ ‘Ali’ หนังปี ค.ศ. 2001 ที่เคยไปเยือนเวทีออสการ์มาแล้ว

โดยในครั้งนี้บทหนังของทรอย เคนเนดี้ มาร์ติน (Troy Kennedy Martin) และบร็อค เยตส์ (Brock Yates) ได้จับเอาผลของการสูญเสียลูกชายของเอนโซกับลอรา เฟอร์รารี และการสร้างครอบครัวอีกครั้งกับลีนา ลาร์ดี เป็นปมที่เอนโซต้องก้าวข้ามและสะสาง คู่ขนานไปกับแผนการคว้าชัยชนะบนสนามมิลลิ มิเกรีย ที่มีอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะปมเรื่องความปลอดภัยของรถสูตร 1 ของเฟอร์รารี ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุในระหว่างแข่งขัน จนสื่อตั้งฉายาว่าเป็น “ยานยนต์สังหารลูกชาย” ซึ่งปมความปลอดภัยของรถก็ดันไปชนกับปมสูญเสียลูกชายของเอนโซ และไม่ต่างกับสิ่งที่เอนโซรักสุดชีวิตอีกอย่างก็คือบริษัทนั่นเอง

ดังนั้นเป้าหมายตัวละครอย่าง เอนโซ เฟอร์รารี แม้จะไม่ได้ต่างจากหนังเรื่องอื่นคือการคว้าชัยในสนามแข่งรถ แต่สิ่งสำคัญที่มาร์ตินกับเยตส์ได้เลือกเป็นกระดูกสันหลังในการปรุงบทหนังให้ออกมาพิเศษแบบนี้ได้ คงเป็นการให้ค่ากับเรื่องเล่าของ “เฟอร์รารี” ทั้งในฐานะนามสกุลหรือครอบครัว และชื่อทางธุรกิจที่แสดงออกถึงความทะเยอทะยานของเอนโซ โดยบทหนังก็ทำให้เห็นว่า การแข่งขันไม่ได้มีแค่สนามแข่งรถ แต่ยังรวมถึงสนามชีวิตของเอนโซ เฟอร์รารี 2 ฝั่ง ทั้งด้านลอรา เฟอร์รารี ที่ต้องการยื้อยุดนามสกุลเฟอร์รารี โดยยังไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ของเอนโซกับลีนา ลาร์ดี อยู่ในนามสกุลเฟอร์รารีที่เธอเป็นหุ้นส่วนสร้างมากับสามีแต่แรก และในขณะเดียวกันก็คือฝั่งการแข่งรถที่เขาหลงใหลและหมายปักธงเฟอร์รารีให้ยิ่งใหญ่ในโลกยนตรกรรม

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า หากจะหาความเซอร์ไพรส์จากบทหนังคงยาก เพราะมันได้ทับรอยทั้งประวัติศาสตร์จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และจากภาพที่ผู้ชมผ่านตาจากหนังมากมาย แต่พอบทหนังถูกหยิบใส่มือของไมเคิล แมนน์ เราก็ได้เห็นการตีความบทหนังที่ดีอยู่แล้วด้วยวิสัยทัศน์เฉพาะตัว โดยเฉพาะกับ ‘Ferrari’ แมนน์ยังคงไว้ลายการเป็นนักเล่าเรื่องที่นำเสนอชีวิตตัวละครได้รอบด้าน โดยเฉพาะการกำกับอดัม ไดร์ฟเวอร์ ที่ไม่ได้แค่เน้นเมกอัป แต่งตัวทำผมให้เหมือนเท่านั้น แต่การให้ไดร์ฟเวอร์ได้แสดงด้านที่เป็นมนุษย์ของเฟอร์รารี ที่มีทั้งด้านที่น่ายกย่องและน่าขยะแขยงของชายผู้อยู่เบื้องหลังรถสปอร์ตโลโก้อาชาลำพอง

แมนน์ให้โอกาสไดร์ฟเวอร์ในการปล่อยของไว้หลายช่วงมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านดราม่าหนักหน่วงน้ำตาแตก อย่างฉากไปเยี่ยมหลุมศพลูกชายตอนต้นเรื่อง หรือตอนที่เขาต้องรับมือกับเมียทั้งสองคนที่มีทั้งความภักดีและนับถือต่อลอรา และรักแบบสุดหัวใจกับลีนา ลาร์ดี และลูกชายของเขาที่เกิดกับเธอ ดังนั้นสิ่งที่ ‘Ferrari’ ได้พิสูจน์และประทับตราให้อดัม ไดร์ฟเวอร์ในฐานะนักแสดงคุณภาพยุคใหม่ที่การผ่านหนัง Star Wars ไม่ได้บดบังแสงแห่งนักแสดงของเขาเหมือนคนอื่น

แต่ที่เซอร์ไพรส์ที่สุดคือ เพเนโลปี ครูซ ที่ถ่ายทอดบทบาทแม่ผู้แหลกสลายผ่านสายตาและมูฟเมนต์แบบที่แทบไม่ต้องพึ่งพาคำพูด โดยเฉพาะซีนในสุสานที่ถูกเรียงต่อจากซีนของอดัม ไดร์ฟเวอร์ ในขณะที่ฝ่ายชายได้โอกาสระบายทุกอย่างเป็นคำพูด แต่ครูซกลับไม่ได้บทพูดสักไลน์ แต่แมนน์เลือกแช่กล้องที่ใบหน้าของเธอ เพื่อให้ถ่ายทอดความเจ็บปวดของลอรา เฟอร์รารี แบบไม่มีคำบรรยายใดจะสมกับความรู้สึกที่เธอมอบให้คนดูอีกแล้ว และมันก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงหวงนามสกุลเฟอร์รารียิ่งนัก เพราะมันไม่ใช่เรื่องของนามสกุลมหาเศรษฐีหรือชื่อบริษัทที่ดูอลังการ แต่มันคือนามสกุลสุดท้ายที่อยู่บนหลุมศพลูกชายที่เธอรักสุดหัวใจนั่นเอง

ส่วนเชลีน วูดลีย์ ที่ห่างหายจากภาพยนตร์ไปนาน กลับมาคราวนี้แม้บทลีนา ลาร์ดี จะสุ่มเสี่ยงกับการแสดงภาพเมียน้อยคอยรัก แต่ด้วยบทให้แสงและแอร์ไทม์เธอมากพอ เลยทำให้วูดลีย์ได้ฉายเสน่ห์และสร้างความอบอุ่น พื้นที่ปลอดภัยให้เอนโซ เฟอร์รารี และทำให้ผู้ชมพอจะเห็นอกเห็นใจสถานะเมียนอกกฎหมายของเธออยู่บ้าง โดยเฉพาะซีนที่เธอเริ่มทวงนามสกุลจากเอนโซให้กับลูกชายของเธอกับเขา

และนอกจากฝั่งครอบครัวและชู้รักของเอนโซแล้ว หนังยังมีตัวละครอีกหนึ่งตัวที่น่าสนใจคือ อัลฟองโซ เดอ ปอร์ติโก นักแข่งในทีมเฟอร์รารีรายใหม่ ที่มาพร้อมรูปโฉมหล่อเหลาและข่าวกุ๊กกิ๊กกับดาราสาวฮอลลีวูด ซึ่งได้แกเบรียล ลีโอน (Gabriel Leone) นักแสดงหนุ่มที่กำลังจะรับบทนักแข่งฟอร์มูลาวันอีกเรื่องในมินิซีรีส์ ‘Senna’ ทางเน็ตฟลิกซ์ในปีนี้ ซึ่งสำหรับลีโอนก็อาจจะต้องใช้คำว่าน่าเสียดายไปหน่อยที่หนังให้เวลาตัวละครนี้น้อยเกินไป เพราะแม้จะไม่ได้เป็นสมการหลักในชีวิตของเฟอร์รารี แต่กลับมีบทบาทในหนังอย่างยิ่งในช่วงไคลแม็กซ์สุดช็อกที่อาจทำให้หลายคนอ้าปากค้างด้วยความสยดสยอง

โดยรวมต้องบอกว่า ‘Ferrari’ นับเป็นหนังคุณภาพดูสนุกอีกเรื่องที่ไม่อยากให้พลาดในปีนี้ ด้วยบทที่เขียนมาอย่างดีถ่ายทอดโดยยอดผู้กำกับอย่างไมเคิล แมนน์ ก็ทำให้ได้หนังไบโอพิกคุณภาพอีกเรื่อง ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่ต้องชมในโรงภาพยนตร์

รีวิวโดย มโน วนเวฬุสิต