ในช่วงปีหลังๆมานี้ จินตนาการเกี่ยวกับอนาคตที่ปรากฏในละครและภาพยนตร์ มักจะเป็นการสร้างโลกใหม่สไตล์ดิสโทเปีย เช่น โลกยุคหลังจากซอมบี้ระบาด ลิงที่ได้รับเชื้อไวรัสครองโลก มนุษย์กลายพันธุ์เป็นฮีโร่ หรือไม่ก็รัฐบาลกดขี่ประชาชนอย่างโหดร้าย เรื่องเหล่านี้แม้จะทำให้เราฮือฮากันเป็นพัก ๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ช่างแฟนตาซีและไกลตัว ชาร์ลี บรูคเคอร์ นักเขียนและโปรดิวเซอร์ละครชาวอังกฤษ ก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน เขาพยายามมองหาไอเดียเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ใกล้ตัวและดูจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงวันหนึ่ง ขณะที่บรูคเคอร์นั่งรถ Uber ซึ่งเขากดเรียกมาผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ระบบของแอพก็ถามเขาว่า “คุณต้องการให้คะแนนคนขับรถกี่ดาว” แม้ว่าคำถามนี้ฟังดูธรรมดา เพราะทุกวันนี้ พวกเราได้รับเชิญให้คะแนนรีวิวทุกอย่างในชีวิตกันผ่านแอพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Grab (แท็กซี่), Wongnai (อาหาร), Goodreads (หนังสือ), Vanilla (เครื่องสำอาง), Lazada (เครื่องแต่งกายและสินค้าทั่วไป) หรือ Airbnb (ที่พัก) แต่บรูคเคอร์กลับตระหนักถึง “ความไม่ปกติ” ในคำถามนี้ขึ้นมา และไอเดียเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ว่านั้นก็แล่นเข้ามาในหัวของเขาทันทีจึงกลายมาเป็นเรื่องนี้ค่ะ โนสไดฟ์ ภาพยนตร์สั้นจบในตอนของซีรียส์ แบล็คมิเรอร์ (เพื่อน ๆ สามารถหาดูได้ในเน็ตฟลิกซ์ https://www.netflix.com/th-en/title/70264888 Season 3 Episode 1) บอกเล่าเรื่องราวของสังคมโลกอันเจริญก้าวหน้า ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถ “ให้ดาว” กันและกันได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อกับระบบโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ลักษณะคล้ายคลึงกับ Facebook หรือ Instagram ในปัจจุบัน และดวงตาของทุกคนฝังคอนแทคเลนส์พิเศษที่ทำให้สามารถมองเห็นคะแนนเฉลี่ยของผู้อื่นทันทีที่เห็นหน้า คะแนนสูงสุดคือห้าดาว และต่ำสุดคือศูนย์ดาว ผู้ที่ประพฤติตัวดีเป็นที่ยอมรับของสังคมมักจะมีคะแนนเกิน 4 ดาว พวกเขาถือเป็น “มนุษย์คุณภาพ” ผู้มีอิทธิพลในการให้คะแนนคนอื่นมากขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสถานที่ สินค้า หรือบริการชั้นเลิศที่สงวนไว้สำหรับคนคะแนนสูงเท่านั้น ทุกคนจะได้มีแรงจูงใจให้ทำดี!ขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ เลซี่ ตัวละครเอกของเรื่อง เป็นหญิงสาวสวยเนี้ยบคะแนนเฉลี่ย 4.2 ดาว เธอทำงานในออฟฟิศสะอาดสะอ้านสีพาสเทล และใช้ชีวิตทุกวันอย่างสุภาพเรียบร้อยให้คนรอบข้างพอใจ เธอให้ห้าดาวแก่คนทุกคนที่เจอในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่พนักงานร้านกาแฟ เพื่อนร่วมงาน ยันคนที่อยู่คอนโดเดียวกัน เพื่อที่พวกเขาจะได้ให้ห้าดาวเธอกลับมาเป็นการแลกเปลี่ยน เลซี่อาศัยอยู่กับพี่ชาย ไรอัน หนุ่มติดเกมคะแนนเฉลี่ย 3.7 ดาว ผู้เก็บตัวอยู่ในห้องทั้งวันทั้งคืน ไม่สนใจเรื่องการให้ดาวใครหรือว่าหาดาวจากใครทั้งนั้นเมื่อคอนโดของทั้งสองใกล้หมดสัญญา ไรอันวางแผนจะย้ายไปอยู่กับเพื่อนที่รู้จักกันในเกมออนไลน์ ส่วนเลซี่ต้องการย้ายไปอยู่คอนโดหรูที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน แต่คอนโดนั้นราคาแพงสำหรับคนทั่วไป เฉพาะคนที่คะแนนถึง 4.5 ดาวเท่านั้นจึงจะได้ส่วนลด แทนที่จะมองหาที่อยู่อื่นที่เธอจ่ายได้ คนรักความก้าวหน้าอย่างเลซี่ตั้งใจว่า เธอจะต้องได้ 4.5 ดาวทันเวลาก่อนหมดสัญญา เธอไปพบที่ปรึกษาด้านการหาดาว เพื่อหาวิธีทำให้ได้ดาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับคำแนะนำให้ไปหาดาวจากเหล่า "คนคุณภาพ" แทนที่จะหาจาก “คนระดับกลางถึงล่าง” ในชีวิตประจำวันของเธอขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ เลซี่เห็นจากโซเชี่ยลของเธอว่า นาโอมิ เพื่อนเก่านิสัยไม่ดีสมัยเด็กของเธอ ที่ปัจจุบันคะแนน 4.8 กำลังจะแต่งงาน แม้จะไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว แต่เลซี่เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าสู่สังคมคนคะแนนสูง เธอจึงถ่ายรูปตุ๊กตาผ้าเก่าๆที่เธอเคยทำกับนาโอมิ แล้วโพสต์ลงไปในโซเชี่ยลเมื่อนาโอมิเห็นเข้า เธอก็เห็นเป็นโอกาสดีเช่นกันที่จะใช้เลซี่มาเป็นเพื่อนผู้กล่าวคำอวยพร เพื่อสร้างความประทับใจแก่แขกในงานแต่งงาน ทุกคนจะได้เห็นว่า แม้เธอจะร่ำรวยประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังคงหากับเพื่อนสมัยเด็กที่คะแนนไม่สูงมาก(แต่ก็ไม่ได้ต่ำเกินไป)อยู่อย่างไม่ถือตัว นาโอมิจึงรีบเชิญเลซี่นั่งเครื่องบินไปงานแต่งงานทันที เลซี่ดีใจจนเนื้อเต้นที่ทุกอย่าง “เข้าแผน” แต่หารู้ไม่ว่า การเดินทางครั้งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเธอความน่าสยองขวัญของโนสไดฟ์ อยู่ที่ความคล้ายคลึงกับโลกความเป็นจริงในปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างที่เลซี่ทำ เช่น ถ่ายรูปกาแฟกับคุกกี้รูปหน้ายิ้ม แล้วโพสต์ลงในโซเชี่ยลพร้อมถ้อยคำเก๋ๆ แม้ว่าเธอจะไม่ได้ชอบรสชาติของมัน การยิ้มแย้มทักทายผู้คนรอบตัวที่เธอรู้จักเพียงแค่ผิวเผิน ราวกับว่าสนิทกันมาก แต่ไม่รู้จะคุยอะไรยาวๆได้มากไปกว่า “เป็นไงบ้าง” และอ้างอิงถึงสิ่งที่เคยเห็นอีกฝ่ายโพสต์ในโซเชี่ยลเมื่อเร็วๆนี้ รวมถึงการซักซ้อมยิ้ม หัวเราะ และพูดคำอวยพรแต่งงานหน้ากระจกกับตัวเอง ก่อนจะไปทำจริง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายก็เคยแอบทำกันมาบ้าง (บางทีอาจจะก่อนยุคโซเชี่ยลด้วยซ้ำ เพียงแต่โซเชี่ยลเป็นเครื่องมือที่ฉุดให้เราอาการหนักขึ้น)พวกเรา “สร้างภาพ” และจำเป็นต้อง “เสแสร้ง” ต่อกันในชีวิตทุกวันไม่มากก็น้อย นี่เป็นวิถีปกติที่อารยชนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบเรียบร้อย ใครล่ะจะพูดทุกอย่างที่ตัวเองคิด ใครล่ะจะเสียการควบคุมอารมณ์ในที่สาธารณะ มีอะไรก็ต้อง “ยิ้มไว้ก่อน” ตามมารยาท แล้วไปโวยวายที่บ้านขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ แต่โลกของเลซี่มันไปไกลยิ่งกว่านั้น ชีวิตจริงของมนุษย์ทุกแง่มุมถูกแทนที่ด้วย “การนำเสนอ” และแม้แต่เพื่อนหรือคนในครอบครัวก็ไม่ใช่ “เขตปลอดภัย” ที่เราจะโวยวายได้โดยไม่มีผลตามมา(เพราะใครก็ลงโทษให้ดาวต่ำ ๆ กับเราได้) ทุกคนมีคุณค่าหรือ “คุณภาพ” เมื่อสามารถทำให้ผู้อื่นพึงพอใจเท่านั้น เทคโนโลยีที่เผยแพร่ภาพลักษณ์ชีวิตดี ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น กลายเป็นเหมือน “โฆษณา” (ที่ต้องใส่ฟิลเตอร์ให้สวยเกินจริง) ส่วนมนุษย์ก็กลายสภาพเป็น “สินค้า” ที่ถูกกลืนกินชีวิตอันมีความหมายไปเสียแล้ว เหลือเพียงแค่ระดับตัวเลขจากศูนย์ถึงห้าเลซี่เกลียดนาโอมิมาก เพราะนาโอมิเป็นคนทำให้เธอไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตาตัวเอง เป็นโรคมีปัญหาด้านการกินตอนวัยรุ่น แถมยังเคยหลับนอนกับแฟนเก่าของเธออีกด้วย แต่เพื่อจะได้คะแนนเกิน 4.5 ดาว เลซี่ต้องทำเสมือนว่าเธอรักเพื่อนคนนี้มาก ๆ ๆ ๆ มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งการที่จะทำให้ทุกคนเชื่อได้ เธอเองนั่นแหละต้องเชื่อเสียก่อน “อาการหลอกตัวเอง” ของเลซี่ โดยยืนกรานปกป้องความผิดในอดีตของนาโอมิ รวมถึงซ้อมคำอวยพรซาบซึ้งจนน้ำตาไหล แต่แล้วก็เริ่มไม่แน่ใจ จนต้องถามความเห็นจากไรอันว่าท่าทางเธอร้องไห้ดูเว่อร์ไปไหม คนในงานจะชอบไหม ฯลฯ ทำให้ไรอันถึงกับอุทานว่า “เธอเป็นคนโรคจิตชัด ๆ !”“ก็โลกเหี้* ๆ ใบนี้มันเป็นแบบนี้” นี่คือเหตุผลที่เลซี่บอกกับ ซูซาน คนขับรถบรรทุกคะแนน 1.4 ดาว ใครทนไม่ได้ รักษามารยาทดีตลอดเวลาไม่ได้ ก็ต้องได้ดาวน้อยและถูกสังคมเหยียบย่ำเป็นคนชั้นล่างไปเอง... จริงของเลซี่ โลกของพวกเราก็ดูจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน สังคมยกย่องบูชาแต่คนที่แลดูไร้ที่ติอยู่เสมอ ในสื่อโซเชี่ยลเรากดไลค์กันแต่ภาพคนที่ดูมีความสุข ฉลาด และประสบความสำเร็จ ทุกคนก็พยายามทำอย่างนั้นกันไม่ใช่หรือขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ แต่การใช้ชีวิตแบบสร้างภาพของเลซี่ก็มาพบกับจุดระเบิด เมื่อเธอทะเลาะกับไรอัน ก่อนไปสนามบินเพื่อร่วมงานแต่งงาน แล้วดูถูกพี่ชายที่ได้ดาวน้อย พร้อมกับกดหนึ่งดาวให้เขา ทำให้ไรอันโมโหและกดหนึ่งดาวให้เธอกลับ พร้อมบอกว่า “โชคดีกับการแสดงของเธอก็แล้วกัน!” การโต้เถียงกันนั้นทำให้เลซี่หุนหันออกไปนอกบ้านและเดินชนเพื่อนบ้านโดยบังเอิญ รวมถึงต้องปล่อยให้แท็กซี่รอ ทั้งหมดนี้ทำให้คะแนนของเลซี่ลดลงมาอยู่ที่ 4.1 ดาว นั่นเอง…เป็นจุดเริ่มต้นของ “กราฟขาลง” หรือโนสไดฟ์ ที่ดิ่งลงไปเรื่อยๆอย่างเครื่องบินตกหัวปักพื้นเมื่อไปถึงสนามบิน เลซี่พบว่าเที่ยวบินของเธอดีเลย์ และเธอไม่สามารถจองตั๋วเที่ยวถัดไปได้ด้วยระดับดาวที่เธอมีอยู่(ต้อง 4.2 ดาวขึ้นไปถึงจะจองได้) ด้วยความกลัวว่าจะพลาดงานแต่งงานของนาโอมิ เลซี่พยายามขอร้องพนักงานเคาน์เตอร์สนามบินอยู่นาน จนเสียงดังและหลุดอุทานคำหยาบ เพียงแค่นั้น คนรอบตัวเธอตกใจเป็นอย่างมาก (ปฏิกิริยาเหมือนไม่เคยได้ยินคำหยาบมาก่อนในชีวิตนี้) และพากันกดหนึ่งดาวให้เธอทันที แม้ว่าเลซี่จะรีบขอโทษ เท่านั้นยังไม่พอ ฝ่ายรักษาความปลอดภัยถูกเรียกมา “จัดการสถานการณ์” เขาลดคะแนนเธอลงไปอยู่ที่ 3.1 ดาว และยังลงโทษด้วยมาตรการ “หักคะแนนสองเท่า” กล่าวคือ หลังจากนี้เป็นเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ถ้ามีใครกดให้ดาวเลซี่ต่ำ ทุกครั้งเธอจะโดนลดดาวแบบคูณสองคะแนน 3.1 ดาวทำให้เลซี่หมดสิทธิ์ที่จะใช้ยานพาหนะหลายประเภท เธอเหลือทางเลือกที่จะไปร่วมแต่งงานเพียงแค่เช่ารถรุ่นเก่า ที่ไม่มีแม้แต่เมนูภาษาอังกฤษ แล้วขับไปด้วยตัวเอง เลซี่พยายามหลอกตัวเองว่าทุกอย่างจะต้องกลับมาเป็น “ปกติ” ในไม่ช้า แต่แล้วก็พบกับอุปสรรคมากมาย รถของเธอแบตเตอรี่หมด ไปหาสถานีเสียบไฟก็ไม่ได้เพราะเป็นรถรุ่นเก่าที่ปลั๊กตกรุ่น ครั้นเธอพยายามจะโบกรถหรือขอความช่วยเหลือ ผู้คนก็หวาดระแวงเธอจากคะแนนต่ำและไม่ยอมช่วย ซ้ำยังกดให้ดาวเธอต่ำลงไปอีกด้วยความรังเกียจเราจะเห็นได้ว่า ความช่วยเหลือที่เลซี่ได้รับในเรื่องกลับมาจาก “คนชั้นล่าง” ที่ไม่คิดอะไรเรื่องการให้คะแนน เช่น ซูซาน และคณะนักแสดงคอสเพลย์ บรรดาคนที่ดูแปลกและผิดไปจากมาตรฐานสะอาดเนี้ยบสีพาสเทลเหล่านี้กลับมีบุคลิกที่ดู “ปกติ” มากกว่าเลซี่เพราะความจริงใจของพวกเขา เลซี่เองค่อยๆซึมซับความคิดและลักษณะของพวกเขาไป และเสื้อผ้าหน้าผมของเธอก็ยับเยินเข้าไปทุกทีตามสภาพพาหนะต่างๆที่เธอนั่ง จนเมื่อไปถึงงานแต่งงานของนาโอมิ เธอก็มอมแมมไปทั้งตัว และสุดท้ายก็โดนยามรักษาความปลอดภัยนำตัวไปให้ตำรวจในที่สุดขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ ฉากที่น่าประทับใจและน่ารักที่สุดของโนสไดฟ์ ก็คือฉากสุดท้ายในคุกนี่เอง ขณะดูเรารู้สึกเลยว่าลมหายใจที่สูดเข้าออกแผ่วๆด้วยความเกร็งและอึดอัดของเลซี่(และของเราด้วย)ได้ผ่อนระบายออกมาเฮือกใหญ่ ในคุกเลซี่ถูกถอดคอนแทคเลนส์ออก ทำให้มองไม่เห็นคะแนนของใครอีกต่อไป และในห้องขังนั้นก็ไม่มีใครมานั่งตัดสินกิริยาท่าทางหรือคำพูดของเธออีก เธอสบถด่าเพื่อนร่วมคุกในห้องขังฝั่งตรงข้ามอย่างหยาบคาย ไร้การเซ็นเซอร์อย่างสิ้นเชิง และสนุกสนาน ทำให้ทั้งสองยิ้มออกมาอย่างขำจริงๆ ต่างกับรอยยิ้มสุภาพที่เห็นจากคนในโลกสีพาสเทลบรูคเคอร์ใช้เวลาถ่ายฝุ่นที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศของห้องขังนานมาก เราดูฉากนั้นแล้วทั้งสะเทือนใจและโล่งใจ ฝุ่นที่เต้นวนและค่อยๆลอยลงมาจากเบื้องบนนั้นเหมือนภาพศิลปะทีเดียว เลซี่ก็ถึงกับยิ้มออกมาทั้งน้ำตาเมื่อเห็น “ข้อบกพร่อง” หรือ “ความสกปรก” ของโลกเป็นสิ่งสวยงามได้เสียที คุกที่ควรจะเป็นสถานที่ลิดรอนอิสรภาพกลายเป็นที่เดียวในโลกของเลซี่ที่มนุษย์สามารถมีอิสระจริงๆ นั่นก็คืออิสรภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดความเห็นอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์อีกต่อไปนอกจากความคล้ายคลึงกับโลกความเป็นจริงที่กดดันเราทั้งหลายไว้ดังได้กล่าวไปแล้ว และการแสดงอันยอดเยี่ยมของไบรซ์ ดัลลาส โฮเวิร์ด ในบทเลซี่ (เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี) แบล็คมิเรอร์: โนสไดฟ์ ยังมีเสน่ห์ที่รายละเอียดของสิ่งต่างๆในเรื่อง ทุกฉาก ทุกเฟรม ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ การจัดวางตำแหน่งสิ่งของและลักษณะสถาปัตยกรรมล้วนมีความเชื่อมโยงกับธีมเรื่องการสร้างภาพและโลกที่ดู “ปลอม” แทบจะไม่เหมือนชีวิตจริง แต่เป็นเหมือนตัวอย่างห้องโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น รวมถึงซุกซ่อนผลทางจิตของผู้คนในโลกใบนั้นเอาไว้เราประทับใจรายละเอียด คือรอยแผลกรีดข้อมือ บนแขนของแขกคนหนึ่งในงานแต่งงาน ซึ่งโผล่มาแค่ไม่ถึงสามวินาที มันสอดคล้องกับคำพูดของไรอันตอนเลซี่ได้รับเชิญไปงานแต่งงานว่า “พวกคะแนนสี่กว่าสูงๆน่ะ ฉันพนันได้ว่าข้างในใจพวกเขาต้องนึกอยากฆ่าตัวตาย” สิ่งเล็กๆน้อยๆเช่นนี้แหละที่แสดงหัวใจอันประณีตของผู้สร้างสรรค์ ทำให้ดูซ้ำกี่รอบก็สังเกตเจอสิ่งใหม่ๆไม่มีเบื่อขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ อย่างไรก็ตาม โนสไดฟ์ มีจุดอ่อนหลักๆอยู่สามอย่าง อย่างแรก พล็อตเรื่องเดาได้ง่ายเกินไป ผู้ชมดูถึงประมาณกลางๆเรื่องก็จะรู้แล้วว่ามันจบแบบไหน (อาจจะเพราะมันดันชื่อโนสไดฟ์ด้วย ฮ่า ๆ) ดังนั้น ครึ่งเรื่องหลังเรียกว่าไม่มีอะไรตื่นเต้นประหลาดใจเลย ได้แต่ชื่นชมลีลาการถ่ายทำและความหมายที่ซ่อนอยู่ในแต่ละฉาก ส่วนลำดับเหตุการณ์นั้นน่าเบื่อแทบหลับเพราะทำนายได้หมดอย่างที่สอง ตัวละครซูซานมีลักษณะเป็นเทวดามาโปรด (Deus ex machina) มากเกินไป บทของเธอไม่มีอะไรนอกจากเทศนาเลซี่ในฐานะ “ผู้รู้แจ้งแล้ว” ว่า เธอเคยคิดผิดใช้ชีวิตเพื่อคะแนนดาวสูงๆแบบเลซี่มาก่อน แต่พอสามีเธอป่วยเป็นมะเร็ง แล้วไม่ได้รับการรักษาเพราะคะแนนเขาต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เธอเห็นความเย็นชาไร้มนุษยธรรมของระบบให้ดาวนี้ เธอก็เลิกสนใจเรื่องดาวไปเลย และมาเป็นคนขับรถบรรทุกที่ “ปกติ” พูดและทำอะไรตามที่ใจคิดอย่างที่เลซี่เห็น แล้วเลซี่ก็ได้รับอิทธิพลจากมุมมองของซูซานอย่างรวดเร็ว เราคิดว่า การคลี่คลายปมหรือเปลี่ยนแปลงคนที่ทุ่มเทใช้ชีวิตเพื่อดาวมาตลอดอย่างเลซี่น่าจะซับซ้อนมากกว่านี้สักหน่อย เรื่องบังเอิญและปูมหลังเกี่ยวกับมะเร็งของสามีซูซานค่อนข้างไร้ชั้นเชิงในการนำเสนออย่างที่สาม การตัดสินใจของตัวละครเลซี่ในฉากเคาน์เตอร์สนามบินดูแปลกและไม่น่าเชื่อ เลซี่เป็นคนที่ระมัดระวังในการใช้ชีวิตมาก (ดังที่เล่าไปว่าส่องกระจกซักซ้อมวิธีพูด ยิ้ม หัวเราะ ทั้งยังฝึกตัวเองให้เรียบร้อยน่ารักตลอดเวลา) จู่ ๆ จะเกิดสบถคำหยาบอย่าง fu*king ออกมาถึงสองครั้ง แม้ว่าพนักงานเคาน์เตอร์จะเตือนเธอแล้วหลังพูดครั้งแรก และเธอก็รีบขอโทษแล้ว ดูเป็นไปได้ยาก มิหนำซ้ำ ตอนที่เธอหาทางไปงานแต่งงานจนคะแนนต่ำลงเรื่อยๆ และนาโอมิโทรศัพท์มาห้ามไม่ให้เธอไปงานแต่งงาน แต่เลซี่ยังดื้อดึงไปต่ออีก ก็ยิ่งเป็นการตัดสินใจที่พิกล... เราอาจจะเดาว่าเลซี่จงใจทำให้ตัวเองถูกจับเข้าคุก เพื่อหาอิสรภาพจากสังคมที่คุมขังเธอ แต่ดูเหมือนเธอจะไม่รู้ตัวเช่นนั้นจนกระทั่งนั่งมองฝุ่นอยู่ในคุกสักพักหนึ่งแล้ว จึงไม่มีคำอธิบายใดๆที่ดีไปกว่า “เธอคงสติแตก” ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ในเมื่อเลซี่ถูกกดดันให้สร้างภาพมาตลอดชีวิต แต่ทำไมสิ่งที่ทำให้สติแตกถึงเป็นแค่เรื่องจองตั๋วเครื่องบินไม่ได้ (เธอคะแนน 4.1 ดาวในตอนนั้น แค่เดินออกมาจากเคาน์เตอร์แล้วช่วยเหลือใครในสนามบินเล็กๆน้อยๆสองสามคน ก็กลับไป 4.2 ดาวผ่านเกณฑ์ได้สบาย) เราคิดว่าผู้เขียนบทบังคับเร่งเรื่องมากเกินไปจนผิดจากบุคลิกของเลซี่ที่ปูไว้ขอบพระคุณภาพแคปชั่นซีนภาพยนตร์ จากเว็บไซต์ The Verge โดย Tasha Robinson https://www.theverge.com/ โดยรวมแล้ว โนสไดฟ์ ทำให้เราขบคิดถึงวัฒนธรรม มารยาท การสร้างภาพใส่กันของคนในสังคม และอิทธิพลของสื่อโซเชี่ยลอย่างดีเยี่ยม เมื่อดูจบแล้วต้องนั่งคิดอย่างเงียบงันอยู่นาน ละครเรื่องนี้สะท้อนปัญหาชีวิตของคนสมัยใหม่ได้แจ่มแจ้ง แบล็คมิเรอร์หรือ “กระจกดำ” เปรียบกับหน้าจอของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ยามที่ปิดแสง ย่อมสะท้อนใบหน้าของเราอยู่เสมอ เหมือนเป็นกระจกที่สะท้อนด้านมืดที่สุดของมนุษย์ออกมา มันอยู่ใกล้ชิดเรา และที่สุดก็อาจควบคุมชีวิตเรา จินตนาการเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ดูเป็นไปได้เช่นนี้มีประโยชน์มากกว่าแค่บันเทิงสนุกและก่อให้เกิดการวิเคราะห์ถกเถียงถึงทิศทางของเทคโนโลยี ทั้งในโลกตะวันตกที่มีแอพ Peeple (ให้คะแนนนิสัยคนที่รู้จัก) และโลกตะวันออกที่มีระบบ Social Credit System (ติดกล้องที่สาธารณะและให้คะแนนพฤติกรรมโดยรัฐบาลจีน เพื่อรับสิทธิ์หรือจำกัดสิทธิ์ต่างๆในการใช้ชีวิต) รวมถึงสารพัดโซเชี่ยลที่เรียกหายอดไลค์ เรื่องอาจไม่ได้มีบทที่สมบูรณ์แบบ และตัวละครแปลก ๆ ไปบ้าง แต่ก็เปิดประเด็นที่ชวนขบคิดมาก ๆเช่นเดียวกับคุณค่าของมนุษย์ที่ไม่อาจวัดได้ ยากเหลือเกินที่เราจะบอกว่า “ต้องการให้คะแนนโนสไดฟ์กี่ดาว” ดี? เอาเป็นว่าแนวคิดของเรื่องได้ประทับแน่นในใจเรา จนลังเลที่จะให้ดาวสิ่งต่างๆในแอพ(รวมถึงละครเรื่องนี้)อย่างแต่ก่อนก็แล้วกันค่ะ