รีเซต

ริดลีย์ สก็อตต์ ฉะ! “หุบปากไปเลย!” โต้คนทักท้วงหนัง "Napoleon" ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์

ริดลีย์ สก็อตต์ ฉะ! “หุบปากไปเลย!” โต้คนทักท้วงหนัง "Napoleon" ไม่ตรงตามประวัติศาสตร์
แบไต๋
20 พฤศจิกายน 2566 ( 11:00 )
145

ในหนังดราม่าประวัติศาสตร์เรื่องล่าสุด ‘Napoleon’ ผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของผู้กำกับดัง ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ที่ได้นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) มารับบทเป็น นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส ที่เป็นการหยิบเอาเรื่องราวการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนโปเลียน และความสัมพันธ์อันซับซ้อนของนโปเลียน กับจักรพรรดินีโจเซฟีน เดอ โบอาร์แน (Joséphine de Beauharnais) พระมเหสีองค์แรก ที่แสดงโดย วาเนสซา เคอร์บี (Vanessa Kirby)

แม้จะมีคำวิจารณ์ออกมาว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของสก็อตต์ แต่หนังเรื่องนี้ก็หนีไม่พ้นคำทักท้วงของนักประวัติศาสตร์หลายคน ที่ออกมาทักท้วงถึงรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตของ นโปเลียน โบนาปาร์ต ที่มีความแตกต่างผิดเพี้ยนออกไปจากข้อเท็จจริง

ซึ่งแน่นอนว่า สก็อตต์เองก็ดูไม่พอใจกับคำทักท้วงเหล่านั้นพอสมควร เพราะเขาต้องการที่จะนำเสนอเรื่องราวชีวประวัติของ นโปเลียน โบนาปาร์ต ตามวิสัยทัศน์ในแบบของเขาเอง มากกว่าจะมุ่งเน้นความสมจริงทุกกระเบียด ในบทสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ The Times ตั้งแต่เหตุผลของการปรับแปลงรายละเอียดในประวัติศาสตร์บางจุด โดยเฉพาะบางช็อตที่ปรากฏในตัวอย่างหนัง

ยกตัวอย่างเช่น ในข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ จักรพรรดินีโจเซฟีนมีอายุมากกว่าพระสวามีของนาง 6 ปี ในขณะที่เคอร์บีนั้นมีอายุห่างจากฟีนิกซ์มากถึง 13 ปี ซึ่งสก็อตต์เล่าว่า “ผมไม่คิดว่ามันจะสำคัญอะไรนะ ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในชีวิต แต่ผมมักจะเห็นผู้หญิงที่อายุมากกว่า กับผู้ชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ”

หรือในช็อตที่นโปเลียนสั่งให้ทหารใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าใส่ปิรามิด สก็อตต์ให้เหตุผลว่า “คือผมก็ไม่รู้ว่าเขาทำแบบนั้นหรือเปล่านะ แต่มันเป็นวิธีที่รวดเร็วในการบอกว่า เขายึดอียิปต์ได้แล้ว” นอกจากนี้ สก็อตต์ยังวิพากษ์วิจารณ์นักประวัติศาสตร์บางคน ที่หมกมุ่นกับรายละเอียดในหนังเรื่องนี้ที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงแบบเผ็ดร้อน

“มันก็เหมือนกับรายงานประวัติศาสตร์ฉบับอื่น ๆ นั่นแหละ นโปเลียนเสียชีวิตตอนนั้น แล้วอีก 10 ปีต่อมา ก็มีคนเอาไปเขียนหนังสือ จากนั้นก็มีคนเอาหนังสือเล่มนั้นไปเขียนอีกเล่มหนึ่ง และ 400 ปีต่อมา (ในหนังสือประวัติศาสตร์) มันก็เต็มไปด้วยจินตนาการมากมาย ถ้านักประวัติศาสตร์จะมีปัญหากับเรื่องนี้กับผมเนี่ย ผมก็อยากจะถามว่า ‘ขอโทษนะเพื่อน นายไปอยู่ในยุคนั้นด้วยหรือเปล่าวะ ก็ไม่ใช่ไหม ? ถ้างั้นมึ-ก็เงียบปากไปเหอะ'”

อีกกรณีของการทักท้วงประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องในหนัง ‘Napoleon’ ก็คือการที่ แดน สโนว์ (Dan Snow) นักประวัติศาสตร์และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ได้โพสต์คลิปวิจารณ์รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องของหนังเรื่องนี้ลงใน TikTok ของตนเอง ไล่ไปตั้งแต่ข้อความบนโปสเตอร์ที่ระบุว่านโปเลียนนั้น “มาแบบตัวเปล่า” (“He came from nothing.”) แต่จริง ๆ แล้วพ่อของนโปเลียนเป็นขุนนาง รวมทั้งรายละเอียดอีกหลายจุด

ซึ่งในการสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ The New Yorker สก็อตตได้แสดงความคิดเห็นต่อคลิปดังกล่าวแบบกระชับเรียบง่ายว่า “ไปให้พ้นไป…”

แม้สก็อตต์จะไม่แยแสกับการทักท้วงของนักประวัติศาสตร์ แต่เขาเองก็ใส่ใจในการถ่ายทำฉากต่าง ๆ โดยเฉพาะฉากสงคราม ด้วยการใช้การถ่ายทำด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิม เลือกพร็อปจริงทั้งหมด และใช้ CGI ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ฉากสมรภูมิที่สมจริงเหมือนหลุดเข้าไปในยุคนั้น

พอล บิดดิส (Paul Biddiss) ที่ปรึกษาด้านการทหารของสก็อตต์ ที่คอยดูแลการถ่ายทำให้เป็นไปอย่างละเอียด ได้เล่าถึงเบื้องหลังฉากสำคัญ และความใส่ใจในรายละเอียดของสก็อตต์ ในการถ่ายทำ ในฉากยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo)

“ฉากที่วอเตอร์ลูใช้เวลาถ่าย 5 วัน ใช้กล้อง 11 ตัว มันค่อนข้างจะวุ่นวายมาก ผมรู้ว่าริดลีย์ชอบมัน เพราะเขาใส่ใจองค์ประกอบต่าง ๆ มาก ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเขา ไปจนถึงหนุ่ม ๆ (นักแสดงที่รับบทเป็นทหาร) พวกนั้น เขาจะตรวจให้แน่ใจว่า หมวกของพวกเขาตั้งตรง และไม่มีดาบปลายปืนกระบอกไหนที่ไม่ประสานกัน”

ฟีนิกซ์ นักแสดงเจ้าของบทจักรพรรดิ์นโปเลียน ก็เป็นอีกคนที่สนับสนุนสก็อตต์ในเรื่องนี้เช่นกัน เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Empire ที่เขาอธิบายว่า มุมมองของสก็อตต์ที่มีต่อนโปเลียน ไม่ได้มาจากนโปเลียนตัวจริงในประวัติศาสตร์ แต่มาจากมุมมองของเขาที่มีต่อตัวละครนี้มากกว่า

“หากคุณอยากจะเข้าใจนโปเลียนจริง ๆ คุณก็ควรจะศึกษาและอ่านหนังสือด้วยตัวเอง เพราะถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้ ประสบการณ์นี้จะถูกบอกเล่าผ่านสายตาของริดลีย์”


ที่มา: CBR, The Times, The Independent, The New Yorker