เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ มันมีหลากหลายเทคนิคทีเดียว ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นดูน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อฉาก การเล่นมุมกล้องต่าง ๆ และอีกเทคนิคหนึ่งที่ผู้กำกับหลายคนทำกันนั่นคือ Long Take หรือการถ่ายทำเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยไม่มีสั่งคัทหรือตัดต่อใด ๆ เลยครับการถ่ายทำแบบ Long Take นั้นจะบอกว่าเป็นเทคนิคฟังดูอาจจะง่ายเพราะเป็นการถ่ายยิงยาว ไม่ต้องมีการสั่งคัทหรือต้องตัดต่อให้วุ่นวาย ถ่ายครั้งเดียวจบก็แยกย้ายกลับบ้านได้ ความจริงแล้วมันถือว่าเป็นเทคนิคยาก แถมยังท้าทายความสามารถของนักแสดงกับทีมผู้สร้างด้วยว่า จะควบคุมสภาพแวดล้อมทุก ๆ อย่างให้อยู่หมัดได้หรือไม่เนื่องจากการถ่าย Long Take เป็นการถ่ายที่ใช้ความต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเมื่อผู้กำกับสั่งแอ็คชั่นแล้วกล้องจะเดินหน้าติดตามตัวนักแสดง ส่วนทางด้านนักแสดงเองจะต้องดำเนินเรื่องตามบทโดยไม่มีหยุดพัก ห้ามผิดพลาด ไม่อย่างนั้นแล้วจะต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดเลยลองคิดดูว่าเมื่อคุณแสดงไปถึงจน 90% ของหนังแต่คุณเดินสะดุดล้มหรือลืมบทพูด ทุกอย่างที่ผ่านมาจะถูกยกเลิก เริ่มจากศูนย์ใหม่หมดครับ ดังนั้นมันจึงกดดันพอสมควรสำหรับการถ่ายทำแบบนี้มาถึงตรงนี้ก็อาจจะมีหลายคำถามครับที่ว่า Long Take นั้นมันต้องถ่ายนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่า Long Take แล้วการถ่ายแบบนี้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะดี คำตอบในส่วนของระยะเวลานั้นมันไม่มีตัวเลขตายตัวครับ อาจแค่ 30 วินาที หรือ 5 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ได้ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้กำกับครับ แต่สิ่งที่เรียกได้ว่ามันคือ Long Take คือการถ่ายโดยใช้กล้องตัวเดียว เดินตามถ่ายตัวละครไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหมายปลายทางเราอาจจะเห็นฉากบางฉากที่ถูกใส่มาเป็น Long Take เช่นฉากเปิดในเรื่อง Spectre, ฉากต่อสู้ในห้องโถงในเรื่อง Old Boy, ฉากต่อสู้บุกโรงแรมตามหาช้างในเรื่อง ต้มยำกุ้ง รวมไปถึงใน Music Video บางเพลงก็ใช้เทคนิคนี้ ซึ่งจะมีระยะเวลาประมาณ 4-5 นาทีครับหากจะเป็นการถ่ายภาพยนตร์ทั้งเรื่องก็มีเช่นเดียวกัน ซึ่งภาพยนตร์บุกเบิกในการใช้เทคนิคดังกล่าวคือเรื่อง Russian Ark ในปี 2002 ครับ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัสเซียในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา ถ่ายทำในพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้เวลาถ่ายทำถึง 90 นาที โดยที่กล้องจะเดินตามนักแสดงและไม่มีสั่งคัทจนกว่าจะจบเรื่องอย่างไรก็ตามการถ่าย Long Take ใช่ว่าจะต้องถ่ายม้วนเดียวจบเสมอไป เพราะในภาพยนตร์ยุคใหม่หลายเรื่องก็ใช้เทคนิคดังกล่าว แต่ว่าจะมีการตัดฉากอย่างแนบเนียนให้ดูเหมือนว่าถ่ายต่อเนื่องครับ ให้สังเกตง่าย ๆ เวลาที่ตัวละครกำลังเดินเข้าไปในถ้ำมืด ๆ หรือตัวละครโดนระเบิดแล้วฝุ่นคลุ้งกระจายจนมองไม่เห็น แม้กระทั่งการแพนกล้องไปอีกทางอย่างรวดเร็วกับการซูม Close-up สิ่งที่ว่าเหล่านี้คือ “ช่องว่าง” ของหนังให้ตัดต่อฉากได้ยกตัวอย่างในเรื่อง 1917 ฉากที่ตัวละครหลักเดินเข้าประตูในสนามเพลาะ, ใน Birdman จะมีฉากแพนกล้องไปหาอีกตัวละครอย่างรวดเร็วแล้วหันกลับมาที่เดิม ตรงช่องว่างแบบนี้ก็จะเป็นตัวช่วยให้การถ่าย Long Take ง่ายขึ้นอีกเล็กน้อยครับ (แต่ก็ยากลำบากอยู่ดี) ทว่าการตัดต่อแบบนี้จะใช้ให้น้อยที่สุด เนียนตาที่สุดครับเพิ่มเติมในส่วนที่ว่าทำไมต้องใช้เทคนิคดังกล่าว จากภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่ได้ประสบพบเจอมาอาจจะบอกได้ว่ามันเป็นการดึงอารมณ์ร่วมให้คนดู “อิน” ไปกับหนังได้มากขึ้น ทำให้ฉากนั้น ๆ ดูทรงพลังมีความหมาย เช่น Spectre กับฉากเปิดเทศกาลแห่งความตาย จะช่วยเสริมความยิ่งใหญ่อลังการของตัวงาน, Atomic Blonde กับฉากสู้กับนักฆ่าบนตึก จะช่วยให้คนดูลุ้นว่านางเอกของเราจะรอดจากนักฆ่าหรือไม่ดังนั้นการถ่ายทำ Long Take จะไม่มีเวลากำหนดแน่นอนว่านานแค่ไหน ส่วนการถ่ายจะสามารถถ่ายม้วนเดียวจบหรือจะใช้เทคนิคตัดต่อภาพในมุมมืดแล้วถ่ายต่อเนื่องก็ถือว่าเป็นการถ่าย Long Take เหมือนกันครับ เพียงแต่ต้องให้ดูเนียนตาที่สุด ใช้กล้องติดตามตัวละครตั้งแต่เริ่มจนจบเป็นมนต์เสน่ห์ที่น่าสนใจมากทีเดียว แถมยังเป็นชาเลนจ์สำหรับทีมผู้สร้างอีกด้วย แม้ว่าการถ่ายทำแบบนี้จะเสี่ยง มีความกดดันสูง ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้ แต่เชื่อเถอะครับว่าถ้าทำสำเร็จ มันจะเป็นรางวัลอันหอมหวาน เป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก ๆ เลยทีเดียวที่มารูปภาพ: รูปภาพปก / รูปภาพ 1 / รูปภาพ 2 / รูปภาพ 3 / รูปภาพ 4 / รูปภาพ 5