เดนิส วิลเนิร์ฟ นับได้ว่าเป็นอีกผู้กำกับที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ด้วยในช่วงหลัง ๆ หนังของเขาทุกเรื่องล้วนแต่ได้เข้าชิงรางวัลมากมาย ตั้งแต่ Prisoners , Sicario และ Arrival ด้วยลายเซ็นการกำกับงานที่ไม่แมสมากนัก และหนังของเขาส่วนใหญ่มักเป็นหนังที่แฝงไปด้วยอารมณ์ของจิตวิทยา ที่ค่อนข้างลึกซึ้งและมีชั้นเชิง และในผลงานล่าสุดอย่าง Blade Runner 2049 กับผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นหนังภาคต่อเรื่องแรกของเขา จากผลงานในตำนาน Blade Runner (1982) ของ ริดลี่ย์ สก้อต นอกจากนี้นี่ยังเป็นหนังที่มีสเกลใหญ่ที่สุดของ วิลเนิร์ฟ อีกด้วยBlade Runner 2049 เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากภาคแรก 30 ปี หลังจากที่มีมนุษย์เทียมได้ทำการก่อกบฏทางบริษัทวอเลซ ที่เป็นผู้สร้างมนุษย์เทียมเหล่านี้ก็ได้สร้างมนุษย์เทียมรุ่นใหม่ที่มีความซื่อสัตย์ต่อมนุษย์มากกว่าเดิม เจ้าหน้าที่ ‘เค’(ไรอัน กอสลิ่ง) เบลดรันเนอร์ที่คอยทำหน้าที่กัดบรรดามนุษย์เทียมรุ่นเก่าที่หลงเหลืออยู่บนโลก แต่การทำหน้าที่นี้ก็ได้ทำให้เขาไปพบกับเบาะแสบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ เด็คการ์ด (แฮริสัน ฟอร์ด) อดีตเบลดรันเนอร์ที่หายตัวไปกว่า 30 ปีแม้ว่าจะเป็นหนังภาคต่อที่เว้นช่วงมานานถึง 30 กว่าปี แต่ก็ต้องชื่นชมในความสามารถของ วิลเนิร์ฟ ที่สามารถเชื่อมต่อเรื่องราวจากภาคก่อนมาเล่าในหนังของตัวเองได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเด็นในการเชื่อมที่ชาญฉลาด และยังคงไว้ซึ่งประเด็นต่างๆ จากภาคแรก ที่สำคัญคือการที่ วิลเนิร์ฟ ยังใส่อารมณ์หนังจิตวิทยาที่เขาถนัดลงไปในหนังเรื่องนี้ด้วย แน่นอนว่าความเป็นจิตวิทยานี่เองทำให้หนังเรื่องนี้ดูซับซ้อน เข้าใจยากมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้หนังดูแฝงปรัชญามากมายที่ผู้สร้างสามารถถ่ายทอดได้อย่างมีชั้นเชิงและด้วยความยาวของหนัง 2 ชั่วโมง 43 นาที ที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นผลงานที่ยาวที่สุดของ วิลเนิร์ฟ ประกอบกับหนังของ วิลเนิร์ฟ ที่แน่นอนว่าไม่ใช่หนังสำหรับทุกคนที่จะเอ็นจอยไปกับมัน ด้วยความที่หนังค่อนข้างเน้นอารมณ์ เน้นบท และพลอตเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน หากใครที่ไม่เคยดูภาคแรกมาก็อาจจะไม่เข้าใจกับหนังทั้งเรื่อง และแม้คนที่ดูภาคแรกมาแล้วก็อาจจะไม่เกตกับบางประเด็นที่ผู้กำกับนำเสนอ ทำให้คนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้มีทั้งชอบและไม่ชอบ เข้าใจและไม่เข้าใจไปกับมันอย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้หนังดูไม่น่าเบื่อจนเกินไปคือองค์ประกอบและวิธีการดำเนินเรื่องของหนัง การดำเนินเรื่องในรูปแบบหหนังทริลเลอร์ ลึกลับ ที่ วิลเนิร์ฟ เคยทำมาแล้วใน Sicario แต่มาใน Blade Runner หนังมาในสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยการที่หนังได้ ฮานส์ ซิมเมอร์ มาร่วมทำดนตรีให้ หลังจากที่ทำสกอร์สุดเร้าใจใน Dunkirk มาในเรื่องนี้ ซิมเมอร์ ทำดนตรีที่ให้อารมณ์ต่างกันสิ้นเชิง ครั้งนี้เป็นดนตรีแบบวังเวง ลุ้นระทึก แต่ก็ยังจัดเต็มไปด้วยความอลังการในแบบของซิมเมอร์ เช่นเคยอีกแง่ที่น่าชื่นชมของตัวหนังคือการที่หนังสามารถสร้างโลกอนาคตปี 2049 ออกมาได้อย่างสมจริง โดยมีการหยิบเอาองค์ประกอบจากของภาคแรก(อย่าง รถ รูปทรงตึก อาคาร เป็นต้น) มาใช้อย่างเคารพต่อต้นฉบับ และที่เพิ่มเติมอีกมากมายในโลกอนาคตที่หนังทำออกมาได้แปลกใหม่ โดยเฉพาะการพูดถึง ภาพโฮโลแกรม ที่ค่อนข้างเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญของเรื่องที่เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อคนดูไม่น้อยอีกจุดขายของหนัง วิลเนิร์ฟ คือการคัดนักแสดงคุณภาพมาร่วมงานกับเขา ซึ่งแต่ละคนที่เคยร่วมงานในหนังของเขานั้นต่างก็แสดงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น เอมี่ อดัมส์ (Arrival) , เอมิรั้ บลันท์(sicario) , เจค จิลลาฮาล(Enemy.Prisoner) และใน Blade Runner 2049 เป็นครั้งแรกที่ วิลเนิร์ฟ ได้ร่วมงานกับ ไรอัน กอสลิ่ง ทีคราวนี้ กอสลิ่ง ต้องสลัดหนุ่มนักดนตรีจาก La La Land กลับมาเป็นบทคนมาดขรึม พูดน้อย ต่อยหนัก เหมือนบทบาทที่เราคุ้นเคยของเขาใน Drive ซึ่งแน่นอนว่า กอสลิ่ง ยังสามารถแสดงบทบาทออกมาได้ดีทั้งการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสายตาที่แฝงไปด้วยความเศร้า และยังเต็มไปด้วยมาดขึงขังจริงจัง ที่ทำให้เรื่องนี้เป็นบทบาทที่ดูเท่มาก ๆ อีกบทบาทของ กอสลิ่ง ในขณะที่บทของ แฮริสัน ฟอร์ด ในบทเดิมจากภาคที่แล้ว ที่แม้ในภาคนี้เขาจะออกไม่เยอะมากเหมือนในตัวอย่าง แต่ก็ถือว่าเป็นบทบาทที่ต่อเนื่องจาก 30 กว่าปีที่แล้วได้อย่างลงตัวท้ายที่สุดแล้ว Blade Runner 2049 อาจไม่ใช่หนังที่สนุกสำหรับทุกคน แต่ก็พูดได้ว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่มีชั้นเชิงในแง่ของการนำเสนอ ทั้งยังเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายให้เราได้นำไปตีความไปต่อยอดกันในภายหลัง และที่แน่ๆ คือนี่จะเป็นหนัง ไซไฟ ที่จะถูกจารึกไปอีกนานไม่แพ้กับผลงานที่ ริดลี่ย์ สก้อต เคยทำไว้ Cr.รูปภาพจาก https://www.facebook.com/TheGreenMileOfficial/