รีเซต

"ไอด้า" จับมือ "เดย์ ฟรีแมน" เล่าชีวิตความเป็นแม่ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข (มีคลิป)

"ไอด้า" จับมือ "เดย์ ฟรีแมน" เล่าชีวิตความเป็นแม่ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข (มีคลิป)
EntertainmentReport3
18 สิงหาคม 2565 ( 15:58 )
247

"ไอด้า ไอรดา ศิริวุฒิ" นักแสดงสาวคุณแม่ลูกหนึ่งสุดแนวตัวแทนแม่เลี้ยงเดี่ยว และ "เดย์ ฟรีแมน" หรือ "อารยาอิสรีย์ เอกอุชุกร" นักแสดงและเจ้าแม่นางโชว์ระดับตำนานตัวแทนแม่ LGBTQ ที่มาเปิดใจเล่าเรื่องราวที่ต้องพบเจอทั้งเรื่องอุปสรรคและคำวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม พวกเขาก้าวข้ามปัญหามาได้อย่างไร ความรักระหว่างแม่ลูกในเดือนพิเศษวันเฉลิมฉลองของวันแม่ #ถ้าใจเป็นแม่เราก็คือแม่ ในรายการ "WOODY FM"

"ไอด้า" จับมือ "เดย์ ฟรีแมน" เล่าชีวิตความเป็นแม่ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข

"ไอด้า ไอรดา" ตัวแทนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว

วันที่รู้ว่าจะต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จิตใจเป็นอย่างไรบ้างในวันนั้น?
ไอด้า : ถ้าให้พูดตรง ๆ เลย เป็นความรู้สึกแบบฮึกเหิมมากกว่า ไม่ได้รู้สึกไปทางที่แบบว่าฉันจะต้องทำยังไงดีนะ แต่มันเหมือนแบบฉันพร้อม ฉันทำได้อะไรแบบนี้ค่ะ เพราะว่าตั้งแต่แรก ตั้งแต่คลอดเราก็อยู่กับเขามาตลอด เลยไม่ได้กังวลว่ามันจะไปทิศทางไหน เพราะเราก็ค่อนข้างมั่นใจในตัวเองว่าเราทำได้ 

เราต้องเจอกับดราม่า คำวิจารณ์ คอมเมนต์ต่าง ๆ แบบไหนบ้าง?
ไอด้า : คือสำหรับหนูจะเจอในลักษณะที่ว่า เป็นแม่ที่อายุไม่ได้เยอะมาก อาจจะดูวัยรุ่นหรืออะไรก็ตาม หนึ่งเรื่องการแต่งตัวไม่เหมาะสม การใช้ชีวิต เรายังใช้ชีวิตเราด้วย เราไม่ได้ไม่รักเขา แต่ว่าเราปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติจริง ๆ เพราะเราเคยพูดกับลูกเลยนะคะว่า ลาลาเบลรู้ไหมลูก เราเป็นแม่ลูกกันก็จริงนะ แต่เราต่างคนต้องต่างมีชีวิตของตัวเองนะ

ขอบคุณคลิปจากรายการ Woody FM

คุณบอกเขาตอนอายุเท่าไหร่? 
ไอด้า : 2 ปีที่แล้ว ตอน 7 - 8 ขวบ ลูกก็เข้าใจ เราก็อธิบายให้เขาฟัง เพราะสุดท้ายแล้วมันจะไม่มีใครเป็นเจ้าชีวิตใครนะลูก เหมือนกันหม่าม้าก็จะไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าชีวิตหนู เป็นแม่หนูให้ความรัก ให้คำแนะนำดูแล แต่สุดท้ายแล้วชีวิตของหนูก็คือชีวิตของหนู โตขึ้นเราอยากให้เขามีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตเองถ้าวันหนึ่งไม่มีเรา เราก็เลยอธิบายให้เขาฟังตั้งแต่แรก แล้วเราก็บอกในพาร์ทเราเหมือนกันเลย เขาเป็นลูกเรา เรารักกันก็จริง แต่ว่าเราจะไม่ใช่เจ้าชีวิตกันนะ การที่หนูชอบอะไร หม่าม้าไม่ชอบอะไร เราจะไม่โกรธกัน เราจะเข้าใจกันเพราะว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ความเป็นแม่มีหลากหลายรูปแบบมาก เห็นรูปแบบของแม่เปลี่ยนไปไหม ตั้งแต่ตอนเราเป็นเด็กจนถึงวันนี้?
ไอด้า : เห็นแบบที่หลากหลายมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยประสบพบเจอ เพราะว่าบริบทสังคมมันเป็นแบบนั้นมาตลอด แต่พอยุคนี้คืออาจจะด้วยสื่อโซเชียลหรืออะไรหลาย ๆ อย่าง เราได้เห็นมุมมองหรือความคิดของคนอื่นมากมาย ก็ทำให้เห็นว่ามีความหลากหลายมาก ๆ แล้วแม่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาในรูปแบบของผู้หญิงที่เรียบร้อย แต่งตัวสุภาพตลอดเวลา 

ความเป็นแม่แบบไอด้าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
ไอด้า : สำหรับหนูความเป็นแม่คือรักด้วยความจริงใจ รักแบบไม่หวังผลตอบแทนจากเขา ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องมาเป็นทุกอย่างที่เราอยากจะให้เป็น แล้วอยู่กันให้เหมือนแบบเป็นเพื่อน คืออาจจะด้วยเราถูกเลี้ยงมาแบบนี้สนิทกับพ่อกับแม่มาก พูดกับเขาได้ทุกเรื่อง แล้วมันเกิดความสบายใจเวลาที่เกิดปัญหาแล้วกล้าที่จะปรึกษา เราอาจจะก้าวเดินทางผิดไปแต่สุดท้ายกลับตัวได้เพราะคนรอบข้างเรา มีการให้คำแนะนำปรึกษากันได้ค่ะ เลยคิดว่าถ้าเราเลี้ยงเขาแบบเหมือนเป็นเพื่อนกับเรา แบบไว้ใจเรา 100% มีเรื่องอะไรก็ตามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่แล้วเขากล้าที่จะพูดกับเรา บางทีก้าวพลาดไปอาจจะกลับตัวได้ทัน เพราะว่าเราได้มีการสื่อสารกัน

ลูกเล่าทุกเรื่องไหมครับ?
ไอด้า : เล่าทุกเรื่องเลยค่ะ ตอนแรกเราก็กังวลว่าจะยังไงดี ถ้าสมมุติโตขึ้นแล้วเขามีอะไรที่ไม่กล้าบอกเรา เช่น เรื่องความรักหรือมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียนหรืออะไรก็ตาม ก็เลยคิดว่าฉันจะเป็นเพื่อนให้ลูกไว้ใจ 100% เรื่องไหนที่เขาไม่ชอบให้พูด เราจะไม่พูดกับคนอื่น เขาก็จะไว้ใจเรา 

เคยร้องไห้กับลูกไหม?
ไอด้า : มีเกือบค่ะ เราเป็นคนค่อนข้างเก็บอารมณ์มาก ไม่ร้องไห้กับใครเลยด้วยซ้ำ แล้ววันหนึ่งที่เราเครียดลูกคงสัมผัสได้ แล้วตอนนั้นลูกยังพูดไม่ชัดเลย อยู่ดี ๆ ก็เดินมาจับหม่าม๊าไม่แฮปปี้เหรอ หนูมีเงินนะ หนูเก็บเงินได้ 10 บาท เดี๋ยวหนูพาไปซื้อไอติมเอาไหม นั่นแหล่ะน้ำตาขึ้นมาเลย แบบเขาสัมผัสได้ถึงเอเนอร์จี้ของเรา ทุกคืนก่อนนอน เวลาเรานอนด้วยกันมันจะมีช่วงเวลาเปิดใจ คือเราตั้งกันเอง เช่นเวลาเขาไปโรงเรียนจะถามเขาว่าวันนี้เป็นยังไง มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เราเข้าใจว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวจะลำบากกว่าคนที่มีคู่อยู่ด้วย ในความเป็นจริงแม่เลี้ยงเดี่ยวคือยังไง?
ไอด้า : สำหรับหนูคิดว่าไม่ได้จริงขนาดนั้น คือความลำบากเกิดได้ทุกครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางทีคนมีคู่อาจจะลำบากกว่าก็ได้ มันก็แล้วแต่บุคคล แม่เลี้ยงเดี่ยวบางคนเขาก็พร้อมค่ะ ใจก็พร้อมกายก็พร้อม เพราะฉะนั้นมาวัดกันไม่ได้ว่าการที่มีคนเดียวจะลำบากกว่า 2 คน

"เดย์ ฟรีแมน" ตัวแทนคุณแม่ LGBTQ

วันที่ตัดสินใจว่าจะมีลูกในฐานะที่เราก็เป็น LGBTQ ตอนนั้นคิดอะไรทำไมถึงอยากมีลูก?
เดย์ ฟรีแมน : เราหาคำตอบให้กับตัวเองว่าเกิดมาทำไม ผู้ชายก็ไม่ใช่ ผู้หญิงก็ไม่เชิง เราผิดเหรอที่เราเกิดมาเป็นแบบนี้ เราเกิดมาเพื่ออะไรเป็นคำถามที่ถามตัวเองเสมอตอนเด็กพอโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จากการร่ำเรียนหรือการเห็นรอบตัวเอง ความเป็นจริงสารคดี วรรณกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็เริ่มเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วทุกคนเกิดมามีหน้าที่ของมัน อยู่ที่ว่าหน้าที่ตรงนั้นเราจะพร้อมหรือยังเท่านั้นเอง หน้าที่สำคัญคือทำให้สิ่งที่สร้างมาแล้วเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปได้มากกว่า

การที่จะเป็นแม่ยิ่งใหญ่มาก ในวันนั้นที่ตัดสินใจเป็นแม่คน
เดย์ ฟรีแมน : เราไม่ได้อยากยิ่งใหญ่ แต่อยากทำสิ่งหนึ่งที่เราเกิดมาแล้วคิดว่ามีศักยภาพพอที่จะกระทำ แล้วเราพร้อมแล้วที่จะทำ ถึงอยากที่จะเป็นแม่ แม่ไม่ใช่แค่คำนาม แค่ผู้หญิงที่ออกลูกมา แล้วลูกก็เรียกว่าแม่ แต่แม่เป็นคำกิริยา เป็นการกระทำ จะทำยังไงให้กับลูกคนนั้นโตขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ โตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีความสุข นั่นคือหน้าที่ของแม่ แม่ไม่มีคำว่าเกษียณด้วย จนวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังเป็นแม่อยู่ มันไม่มีอะไรจะลบคุณค่า ลบความยิ่งใหญ่ ลบความสุขในการเป็นแม่ได้เลย นั่นแหล่ะเราถึงอยากเป็น เราอาจจะไม่ใช่คนสร้างอย่างที่บอก แต่เราเป็นแม่ที่โอบอุ้ม เป็นแม่ที่ดูแลต่อ เป็นแม่ที่เลี้ยงดูเหมือนแม่กาที่ฟักไข่ของแม่นกกาเหว่า ธรรมชาติที่ทำให้เราเห็นหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ทำแบบเดียวกัน มนุษย์ก็ทำได้ ไม่ได้แค่สร้าง ไม่ได้แค่เกิดมาแล้วจบ จะต้องเลี้ยงดูไปจนกว่าเด็กคนนั้นจะเจริญเติบโตดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุขได้ยังไง นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้และต้องทำ

ตั้งแต่ที่เราเลี้ยงดูเป็นแม่คน เจออุปสรรคจากความไม่เข้าใจในสังคม การพูดจากคนรอบข้างไหม?     
เดย์ ฟรีแมน : เลี้ยงตั้งแต่ 6 เดือน แน่นอนเอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอม ขนาดคนปกติทั่วไปที่รับลูกเขามาเลี้ยงยังมีประโยคนี้ แล้วอย่างเราเป็นเพศทางเลือกแบบนี้ เราถูกมองจากสายตาและเสียงที่เข้าหูมา  กระเทยเลี้ยงเด็กผู้ชายต้องเลี้ยงต้อย ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงเลี้ยงไว้ขาย แม่เล้า หรืออะไรอย่างนี้ เสียงจะเข้ามาเหมือนป้าข้างบ้านทั่วไป แล้วที่ได้ยินก็คือเราเป็นแบบนี้จะเลี้ยงลูกได้ยังไง ตัวเองยังสับสนกับตัวเอง ลูกโตมาไม่มีปัญหาเหรอ ต้องตัดสินใจและตั้งใจทำให้คนอื่นได้เห็นว่าอย่างกลุ่มเรามีพลังพอที่จะดูแลเด็กทำหน้าที่ได้ แน่นอนต้องทุ่มเทความรักให้เต็มที่ เราอยากจะถามย้อนไปว่าปัญหาที่คุณมองคืออะไร เด็กไม่เคยบอกนะว่าฉันต้องการแม่แบบไหน พ่อแบบไหน ไม่มีลูกคนไหนต้องการแบบนั้น เพราะฉะนั้นปัญหาของเด็กคือไม่มีคนรับเลี้ยง เขาจะโตขึ้นมายังไง เขาจะเอานมที่ไหนกิน ใครจะให้ความอบอุ่นแก่เขา นี่คือปัญหาที่เราจะต้องแก้ไขก่อนตังหาก พอเขาโตขึ้นมาแล้วเขามีสมองคิดของเขาเอง เขาแก้ไขปัญหาเองได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาคิดว่าเด็กโตขึ้นมาแล้วจะมีปัญหา

ความสัมพันธ์ระหว่างพี่เดย์กับลูกเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้?
เดย์ ฟรีแมน : คือตอนเด็ก ๆ เขาจะรับรู้ว่าตอนนอนจะเอาผ้ามาห่มให้เขานะ คอยหาโน้นหานี่ให้ หิวไหมอะไรทุกอย่าง ตอนนี้เขาโตแล้ว บางทีเดย์อาจจะทำงานติดต่อกันนอกเวลา แล้วง่วงหลับไปเขาก็จะคอยมาปรับพัดลมให้ ห่มผ้าให้ คอยเตรียมอาหารเอาไว้ให้เผื่อเราตื่นขึ้นมาแล้วจะหิว เหมือนกับสิ่งที่เราทำ นั่นคือความผูกพันธ์สิ่งที่เราทำให้เขา เขาก็ทำให้เรากลับ

ตั้งแต่วันที่มีลูก เราเคยมองไหมว่าจะเป็นแม่แบบไหน?
เดย์ ฟรีแมน : เราต้องศึกษา ดูตัวอย่างรอบ ๆ ตัว เราไม่มีมาตราฐานที่เป็นเส้นว่าต้องเป็นแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกันกับลูกของเราจะไปขีดมาตราฐานให้เขา อย่างเธอจะต้องเป็นหมอ มันไประบุให้เขาไม่ได้ไง ชีวิตเป็นของเขา เราแค่เลี้ยงให้เขาเติบโตขึ้นไป จิตใจกับสมองเป็นของเขาเอง แล้วตัดสินใจกับชีวิตของเขาเอง เราไม่ได้เลี้ยงเพื่อให้กลับมาทดแทนบุญคุณ ให้เป็นเด็กดี ให้เป็นเยาวชนดีเด่น ไม่ใช่ เป็นตัวเขานั่นแหล่ะ แต่มอบสิ่งดี ๆ ที่สุดให้เขาแล้ว เท่าที่เรามี แต่จะเป็นอะไรนั่นเป็นทางเดินของเขา

สามารถติดตาม "Woody FM" ได้ที่ช่องทาง Podcast : WOODY FM , Facebook: Woody, Youtube: Woody ทุกวันพุธ เวลา 19.00 น.

 

อ่าน ข่าวบันเทิงวันนี้ ที่เกี่ยวข้อง :