ถ้าหากจะพูดถึงหนังที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในยุค 90 คนที่เป็นคอหนังแนวเดียวกับผู้เขียนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีกับหนังเรื่อง Twister สร้างในปี 1996 เป็นหนังดังจากค่าย Warner Bros. Pictures ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับนักล่าพายุทอร์นาโดกลุ่มหนึ่ง ที่ไล่ล่าตามพายุทอร์นาโดเพื่อที่จะทำการศึกษาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพายุทอร์นาโด จุดประสงค์ของพวกเขาที่ยอมเสี่ยงชีวิตและอุทิศเวลา ก็เพื่อที่จะได้นำผลไปวิจัย วิเคราะห์เพื่อช่วยเหลือในการเตือนภัยล่วงหน้าให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย จะได้มีเวลาเตรียมตัวหนีไปซ่อนในที่ปลอดภัยได้ทันเวลาภาพจาก warnerbros.com ตอนที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก และได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก พอดูจบก็ทำให้รู้สึกชอบและหลงรักพายุทอร์นาโดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรารักในความสวยงามของมัน ความสวยในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงรูปทรงของมัน เกลียวของพายุ ขนาดของมัน และความทรงพลังของมัน มันทำให้เราไม่กลัว เสียงฟ้าร้อง ไม่กลัวฟ้าผ่า แต่กลับชอบทุกครั้งที่มีพายุผ่านมา ถึงในไทยจะไม่มีทอร์นาโดเกิดขึ้น ขอแค่เพียงมีฟ้ามืด ๆ ลมแรง ฟ้าร้อง ผู้เขียนก็รู้สึกฟินแล้วค่ะ อ่านถึงตรงจุดนี้คุณผู้อ่านอาจรู้สึกว่าผู้เขียนปกติดีหรือไม่ ขอตอบเลยว่าปกติดีค่ะ คือต้องบอกว่ามันเป็นความชอบส่วนบุคคลจริง ๆ เพราะเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องของธรรมชาติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามกระบวนการของมัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของพายุ เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ไม่อาจเลี่ยงได้ เป็นเรื่องน่าเศร้าทุกครั้งที่ต้องสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สิน แต่ก็เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ที่ทั้งสร้างและทำลายธรรมชาติ ภัยพิบัติก็ยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ จะรุนแรงหรือไม่แค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับฝีมือมนุษย์ด้วยเช่นกันภาพจาก warnerbros.com เนื้อหาของหนังผู้เขียนขอเล่าแบบย่อ ๆ ในแบบของตัวเองแล้วกันนะคะ ตัวเอกในเรื่องจะเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียพ่อไปในวัยเด็ก จากเหตุการณ์พายุทอร์นาโดที่มีขนาดใหญ่และรุนแรงที่สุด ซึ่งในตอนที่เธอเป็นเด็กนั้น เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้ามาก มีการเตือนภัยทางข่าวในทีวีเพียงไม่กี่นาทีก่อนหน้าที่พายุมาถึง ทำให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่หลบหนีได้อย่างหวุดหวิด และพ่อของเธอก็ได้เสียสละชีวิต โดยการจับประตูห้องหลบภัยไว้เพราะกลัวประตูจะเปิดออก แต่ด้วยแรงลมมหาศาล มันดูดทุกอย่างขึ้นสู่ฟ้ารวมทั้งพ่อของเธอก็ถูกดูดหายไปในพายุในคืนนั้นด้วย เมื่อเธอโตขึ้นจึงกลายเป็นทีมล่าพายุ เธอและทีมงานของเธออุทิศทั้งชีวิตและเวลาเพื่อที่จะส่งเจ้าเครื่องมือที่มีชื่อว่า โดโรธี ที่มีตัวเซ็นเซอร์นับร้อยตัว ซึ่งเป็นตัววัดอุณหภูมิและข้อมูลต่าง ๆ วิธีการส่งเจ้าเครื่องนี้เข้าไป จำเป็นที่จะต้องเสี่ยงเข้าใกล้พายุให้มากที่สุด เพื่อวางเครื่องดักไว้ในทิศทางที่พายุจะผ่าน กว่าที่จะทำสำเร็จได้พวกเขาก็ต้องผ่านความล้มเหลวมาหลายครั้งหลายหน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทำได้สำเร็จทำให้ได้ข้อมูลที่ใช้ในการพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเนื้อหานอกเหนือจากนี้ต้องลองไปติดตามรับชมกันในหนังนะคะ สปอยล์มากเดี๋ยวจะหมดสนุก อิอิภาพจาก warnerbros.com เรามาพูดถึงประโยชน์ที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้กันบ้างดีกว่า ข้อดีของหนังเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยนะคะ อย่างเช่นวิธีการสังเกตสิ่งผิดปกติรอบตัว อย่างในหนังก็มีหลาย ๆ ฉาก ฉากที่พระเอกลองจับทรายขึ้นมาแล้วโปรยไปตามลมเพื่อดูทิศทางของลม ฉากที่พายุมาตอนกลางคืน ถ้าหากเราดูทีวีอยู่ ภาพในทีวีจะมีลักษณะสัญญาณขาดหาย ก็ต้องเอะใจได้แล้วว่าพายุอาจกำลังมาใกล้ตัวแล้ว หรือแม้กระทั่งเครื่องมือที่ผู้คนในพื้นที่เสี่ยงภัยประดิษฐ์ขึ้นมาเองด้วยภูมิปัญญา อย่างเครื่องมือที่คอยส่งเสียงคล้ายกระดิ่งลม เวลาพายุมาใกล้ ลมยิ่งแรงเครื่องมือนี้ก็จะยิ่งส่งเสียง กรุ๊งกริ๊ง ดังขึ้น เร็วขึ้น ถี่ขึ้นมากเรื่อย ๆ ทำให้ผู้อาศัยที่อยู่ในบ้านรู้ตัวว่าพายุเข้าใกล้มากแล้วต้องรีบหนีโดยเร็ว และฉากที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ก็คงเป็นฉากหนีเอาตัวรอด อย่างฉากที่พระเอกนางเอกหนีเข้าไปในไร่ และมีพายุไล่ตามมา พวกเขาโชคดีที่ไปเจอกับท่อสูบน้ำที่ตัวท่อดูจะฝังลึกลงไปใต้ดินหลายฟุต ทำให้มีความแข็งแรงมากพอที่จะตรึงร่างทั้งสองคนไว้ได้ พวกเขาใช้สายเข็มขัดรัดตัวเองไว้กับตัวท่ออีกที ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นเพียงแค่หนัง ซึ่งถ้าเทียบกับความจริงเราอาจไม่โชคดีแบบนั้น แต่อย่างน้อยหนังก็บอกให้เรารู้วิธีเอาตัวรอดว่า ต้องรู้จักสังเกตสิ่งรอบตัวเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นภาพโดย Ralph W. lambrecht จาก pexels.com เกร็ดความรู้อีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากการดูหนังเรื่องนี้ก็คือ ชื่อที่ใช้เรียกตามระดับความรุนแรงของพายุทอร์นาโด ซึ่งจะมีระดับตั้งแต่ F0 – F5 ตัว F ในที่นี้ย่อมาจาก Fujita scale หรือมาตรวัดฟูจิตะ โดยระดับF0 ความเร็วลมจะอยู่ที่ 64-116 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลเสียหายเล็กน้อย เช่น แผ่นกระเบื้องหลุด หลังคาบางส่วนปลิวF1 ความเร็วลมจะอยู่ที่ 117-180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลเสียหายปานกลาง เช่น หลังคาบ้านปลิว ประตู หน้าต่างหลุดF2 ความเร็วลมจะอยู่ที่ 181-253 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลเสียหายหนัก เช่น ต้นไม้ใหญ่สามารถถูกถอนรากได้F3 ความเร็วลมจะอยู่ที่ 254-332 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลเสียหายอย่างหนักสาหัส เช่น บ้านหรือรถ รวมถึงสิ่งของ สิ่งปลูกสร้างที่มีน้ำหนักมาก ปลิวขึ้นบนอากาศได้F4 ความเร็วลมจะอยู่ที่ 333-418 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระดับความเสียหายถึงขั้นทำลายล้าง เช่น บ้านที่แข็งแรงก็ยังสามารถถูกพัดได้อย่างง่ายดาย แบบไม่เหลือซากF5 ความเร็วลมจะอยู่ที่ 419-512 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดแต่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถ้าหากเกิดขึ้นความเสียหายที่ตามมาก็จะกระจายเป็นวงกว้างไม่อาจประเมินค่าได้ สาเหตุของการเกิดพายุเกิดจากสภาพอากาศที่มีความอุ่น ลอยเข้าไปในสภาพอากาศที่มีความเย็นกว่า จึงทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศหมุนเวียนขึ้นในเขตจำกัด บวกกับบริเวณใกล้ ๆ นั้น มีจุดศูนย์กลางกระแสลม ที่มีแรงลมมาก หมุนเร็วจนเกิดเป็นเกลียวพายุสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยเพราะมีทั้งอากาศร้อนและอากาศเย็นปะทะกันแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูล https://www.twitterbrasil.org และ https://th.wikipedia.orgและนี่ก็คือ การดูหนังแนวภัยพิบัติธรรมชาติในแบบฉบับของผู้เขียน ซึ่งการดูหนังแนวนี้นอกจากได้ความสนุกแล้ว ก็ทำให้เราอยากรู้ต่อไปอีกว่าที่มาที่ไปของพายุเกิดขึ้นได้อย่างไร วิธีสังเกต วิธีเอาตัวรอด ถึงแม้เหตุการณ์ในหนังอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย แต่ก็รู้ไว้ใช่ว่านะคะ สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ให้คิดว่า ดูหนังแล้ว นอกจากตักตวงความสนุกแล้วก็ขอให้ตักตวงสาระด้วยนะคะ ความรู้มีอยู่รอบตัวเราค่ะ ภาพโปสเตอร์หนังที่อยู่บนหน้าปกบทความจาก warnerbros.com ภาพพื้นหลังหน้าปกโดย Oleg Magni จาก pexels.com