รีเซต

ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ขอทุ่มสุดตัวสร้าง "Notre-Dame on Fire ภารกิจกล้าฝ่าไฟนอเทรอดาม"

ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ขอทุ่มสุดตัวสร้าง "Notre-Dame on Fire ภารกิจกล้าฝ่าไฟนอเทรอดาม"
Jeaneration
28 มิถุนายน 2565 ( 07:00 )
254

ได้ฤกษ์ฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว สำหรับภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์มหันตภัยไฟสะเทือนใจคนทั้งโลก Notre-Dame on Fire ภารกิจกล้าฝ่าไฟนอเทรอดาม ผลงานสุดยิ่งใหญ่ระดับอภิมหาโปรเจกต์ของสุดยอดผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เจ้าของผลงานสุดยอดเยี่ยมอย่าง Enemy at the Gates

หลังจากที่ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ได้รับเชิญจาก เฌโรม แซดู, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทภาพยนตร์ Pathé เพื่อนำเสนอการสร้างภาพยนตร์ที่เน้นถึงความสมจริงทั้งด้านภาพและเสียงของเหตุการณ์อัคคีภัยในมหาวิหารนอเทรอดาม เขาคิดว่าไม่น่าจะมีฟุตเทจหรือเรื่องราวต่าง ๆ มาประกอบให้เข้ากันได้มากพอที่จะเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวประมาณ 90 นาทีได้ แต่หลังจากที่ได้รับซองเอกสารที่เต็มไปด้วยเอกสารต่าง ๆ มากมาย ที่มีทั้งบทความในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ เขาได้ตั้งใจอ่านมันอย่างละเอียดจนถึงเช้า

และแล้ว ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ก็ได้โทรกลับไปหา เฌโรม แซดู ในเช้าวันนั้นว่าเขาจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากสิ่งที่เขาได้ค้นพบนั้นมันช่างเหนือความคาดหมาย เพราะเรื่องราวมันมีทั้งความพ่ายแพ้, อุปสรรค, ความสำเร็จบนความล้มเหลว หรือส่วนประกอบต่าง ๆ ที่พอจะเห็นเป็นบทภาพยนตร์ได้มันอยู่ตรงหน้าเขาแบบชัดเจนอย่าง บทตัวเอก คือมหาวิหารนอเทรอดาม คู่ต่อสู้หรือวายร้าย คือเปลวเพลิง ที่ทั้งน่าเกรงขามราวกับปีศาจ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ในเวลาเดียวกัน

ส่วนตัวประกอบอื่น ๆ ที่อยู่ท่ามกลางทั้งคู่ก็คือ คนหนุ่ม-สาวธรรมดา ๆ ที่ต่างพร้อมสละชีวิตเพื่อกอบกู้มหาวิหารอันเป็นที่รักนี้ รายละเอียดต่าง ๆ พวกนั้นตรึงความสนใจของเขาได้อยู่หมัด มันทั้งยิ่งใหญ่ และนำเสนอความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็ตระหนักว่าต้องยึดเรื่องราวให้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ดังนั้นรายละเอียดในแต่ละส่วนจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำ และเขาจะต้องรวบรวมข้อมูล คำให้การ และสมมติฐานต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมดจากเหล่าผู้คนที่ได้เคยอยู่ในช่วงเวลานั้นของเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อนี้

ภาพยนตร์นำเสนอภาพอันตระการตาของมหาวิหารนอเทรอดามในปารีส มีฉากไฟไหม้ที่เด่น ๆ ในภาพยนตร์อยู่สามฉาก ได้แก่ การพังทลายลงของยอดแหลม, เพดานโค้งที่ถล่มลงตรงโถงทางเดินกลาง และหอระฆังที่ไฟลุกท่วม ซึ่งในแต่ละฉากนั้นมีข้อจำกัดในการถ่ายทำที่สุดแสนจะยากลำบาก โดยเฉพาะฉากการพังทลายลงของยอดแหลมนั้นเป็นการทำงานที่ซับซ้อนและลำบากที่สุด

ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ เปิดใจว่า มีการสร้างกระเช้าโลหะขนาดมหึมาที่แขวนไว้อยู่ที่ความสูงเกือบ 50 ฟุตในสตูดิโอ ซึ่งควบคุมด้วยมอเตอร์ทำงาน 55 ตัว มีการใส่คานไม้บัลซ่าปลอม, หินปลอมที่ทำจากไม้ก๊อกและปูนปลาสเตอร์ไว้ในแท่นบรรจุขนาดใหญ่ที่มีความจุรวม ๆ กว่า 6,000 ลูกบาศก์ฟุต (ประมาณ 10 ตัน) ด้านการจุดไฟนั้นเขาใช้น้ำมันเบนซิน 25 แกลลอน ซึ่งเมื่อจุดไฟแล้วอุณหภูมิความร้อนจะสูงถึง 460 องศาฟาเรนไฮต์ ส่วนเศษของสิ่งของต่าง ๆ ที่ใส่ไว้เหล่านั้นจะถูกเทปล่อยออกมาเมื่อเริ่มต้นการถ่ายทำ และเขาจะสามารถถ่ายทำฉากนี้ได้เพียงแค่ครั้งเดียว ทั้งที่ใช้เวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ในการเตรียมงานติดตั้งอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และผิดพลาดไม่ได้ เพราะแม้จะปรากฏเป็นความยาวบนจออยู่แค่ไม่กี่วินาที แต่เบื้องหลังมันต้องใช้ความพยายามและสมาธิเป็นอย่างมากเพื่อให้การถ่ายทำนั้นออกมาสำเร็จลุล่วงและสมจริงที่สุด โชคดีที่ทีมงานของเขากว่า 20 ชีวิตล้วนเชี่ยวชาญการทำงานในเทคนิคพิเศษแบบนี้ และทุกคนก็เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นชนิดที่เรียกได้ว่า 100% เต็ม จึงทำให้งานปรากฏออกมาอย่างที่ทุกคนพอใจ

Notre-Dame on Fire นับเป็นสเกลงานที่เรียกได้ว่ามหึมาสุด ๆ เวลาการทำงานนานกว่าหกเดือน ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ กล่าวว่า เขามั่นใจตั้งแต่ตอนเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ว่า 50% ของการนำเสนออารมณ์ในภาพยนตร์จะต้องออกมาจากเสียง เป้าหมายของเขาคือต้องการให้ผู้ชมได้ซึมซับห้วงอารมณ์และความรู้สึกไปกับเหล่านักผจญเพลิงที่อยู่ ณ ใจกลางเปลวเพลิง เขาอยากให้ผู้คนได้ยินเสียงคร่ำครวญ รวมถึงเสียงของวัสดุต่าง ๆ ที่แตกหัก พังทลาย กระจัดกระจายออกเป็นเสี่ยง ๆ ผู้ชมจะได้รู้สึกถึงพลังความโกรธของเจ้า “ปีศาจเปลวเพลิง” มารพิชิตผู้ที่กัดกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ในขณะที่ในเรื่องของภาพ เขาต้องการให้มีการใช้วิชวลเอฟเฟคท์น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นในกระบวนการทำงานคือ ทีมงานและนักแสดงทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันพิเศษ เนื่องจากต้องใช้ไฟจริง ๆ ในการถ่ายทำ มันจึงเป็นงานที่ท้าทาย เสี่ยง และยากในระดับสิบเต็มสิบ ดังนั้นทั้งในเรื่องของภาพและเสียงจึงเรียกได้ว่าจัดเต็มมาเพื่อผู้ชมให้ชมกันแบบนั่งแทบไม่ติดเก้าอี้กันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังได้ ไซม่อน แฟรงเกลน มาทำดนตรีประกอบให้ ไซม่อน ใช้เวลาหลายเดือนในการเรียบเรียง เพื่อบรรเลงประกอบเข้ากับภาพของฉากในภาพยนตร์ที่เน้นย้ำในส่วนของความตึงเครียดและดึงเค้นอารมณ์ออกมา เขาใช้เวลาหลายสิบชั่วโมงในตัดสินใจถึงรูปแบบดนตรีที่เหมาะสมที่สุด หลายสิบชั่วโมงในการสร้างเสียงเวอร์ชั่นร่างแรก และอีกหลายสิบชั่วโมงในการบันทึกเสียงดนตรี เขาใช้ไฟล์เสียงดนตรีที่มีอยู่นับพันไปผสมเสียงและลำดับเสียงกันต่อในกรุงลอนดอน ด้วยการดูแลของ ดิ๊ก เบิร์นสไตน์ นักทำงานด้านเสียงเจ้าของรางวัลเอมมี่ ที่บินตรงมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นพิเศษ

Notre-Dame on Fire นับเป็นภาพยนตร์อภิมหาโปรเจกต์ที่ ฌอง-ชาคส์ อองโนด์ ทุ่มทั้งใจด้วยความรู้สึกท่วมท้นในการถ่ายทอดความสูญเสียและความสะเทือนใจของชาวฝรั่งเศสและผู้คนทั่วโลก โดยมี มารี เดอ เซนิวัล โปรดิวเซอร์จาก Coda ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลออสการ์ปีล่าสุด พร้อมเหล่าทีมงานเบื้องหลัง ระดับคุณภาพบล็อกบัสเตอร์ของฮอลลีวูด ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจอภาพยนตร์ ให้แฟนหนังชาวไทยได้เป็นประจักษ์พยานของมหันตภัยครั้งสำคัญของโลกพร้อมกันใน Notre-Dame on Fire  ภารกิจกล้าฝ่าไฟนอเทรอดาม 14 กรกฎาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

-------------------------------------

>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa