รีเซต

โรคระบาดหาย แต่ตลาดหนังจีนยังร่วงหนัก! เหตุเศรษฐกิจหด หมดยุคคนหนุ่มสาวดูหนังนอกบ้าน

โรคระบาดหาย แต่ตลาดหนังจีนยังร่วงหนัก! เหตุเศรษฐกิจหด หมดยุคคนหนุ่มสาวดูหนังนอกบ้าน
แบไต๋
10 พฤศจิกายน 2567 ( 09:00 )
28

The Hollywood Reporter รายงานสถานการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศจีน แม้ว่าตอนนี้จะผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดมาได้ และปีนี้ยังเป็นปีที่มีหนังจากจีนที่ประสบความสำเร็จบน Box Office แต่สถานการณ์ในอุตสาหกรรมที่เคยเฟื่องฟูในอดีตกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก

รายงานระบุว่า รายได้จากการขายตั๋วหนังภายในประเทศปีนี้ ลดลงมากกว่า 22% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวอย่างรุนแรงหลังจากการฟื้นตัวของตลาดภาพยนตร์จีนหลังโรคระบาดในปี 2023 จากที่เคยมีรายได้กว่า 7,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 83%

แม้ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา หนังต้อนรับเทศกาลตรุษจีนจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อาทิ ‘Yolo’ หรือ ‘หมวยย้วย…มวยไม่ยอมม้วย’ หนังตลกดราม่ากีฬามวยที่ทำรายได้ทะลุ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ‘Pegasus 2’ หนังตลกกีฬารถแข่งแรลลี ที่ทำรายได้ไปกว่า 468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แต่ช่วงเวลาอันเงียบเหงาในฤดูร้อนได้ทำให้อุตสาหกรรมหนังในกรุงปักกิ่งเริ่มเป็นที่น่ากังวล นักสร้างภาพยนตร์และนักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการลดลงของรายได้ และนี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและยาวนานของตลาดหนังในจีน

เจี่ยจางเคอ (Jia Zhangke) ผู้กำกับระดับแถวหน้าของจีน เจ้าของผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ‘Caught by the Tides’ ที่ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชม และได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กล่าวถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนโดยรวมว่า “เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมเพิ่งได้อ่านรายงานการวิจัยภายในท้องถิ่นที่บอกว่า อายุเฉลี่ยของผู้ชมภาพยนตร์จีนเพิ่มขึ้นจาก 22 ปี เป็น 26 ปี แปลว่าคนรุ่นใหม่ของเราไม่ไปดูหนังในโรงกันอีกแล้ว เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า ‘มันเกิดอะไรขึ้น คนเหล่านี้หายไปไหนกันหมด ?'”

ในฝั่งตะวันตก ธุรกิจภาพยนตร์มักถูกมองว่าไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากนัก เพราะผู้คนยังคงต้องการความบันเทิง แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้คนก็ยังคงต้องการความบันเทิง และค่าตั๋วภาพยนตร์ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้คนยังสามารถจ่ายได้โดยไม่กระทบมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของคนวงในอุตสาหกรรม ต่างยืนยันถึงสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่า นิยามนี้อาจไม่เป็นจริงในจีน

ตลอดปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนประสบกับภาวะถดถอยครั้งใหญ่สุดในรอบทศวรรษ จากความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลต่อการเติบโต และภาวะถดถอยนี้ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนหนุ่มสาว สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนถึงกับต้องหยุดรายงานข้อมูลการว่างงานของเยาวชนในเดือนมิถุนายน 2023 หลังจากที่อัตราการว่างงานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดเกณฑ์การว่างงานของประชากรแบบใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวช่วงอายุ 16-24 ปีก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 17% ในเดือนกรกฎาคม

เจมส์ หลี่ (James Li) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทวิจัยตลาดภาพยนตร์ Fanink ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง กล่าวถึงภาพรวมความกังวลของกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวจีน ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์และเศรษฐกิจโดยรวมว่า

“มีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการจ้างงานเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และผู้ที่อยู่ในช่วงระยะกลางของการทำงาน (Mid-Career) ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น”

หลี่ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ในการวิจัยเชิงคุณภาพล่าสุดกับกลุ่มประชากร Gen-Z ในจีนของเรา พบว่าคนหนุ่มสาวนั้นมีแนวโน้มที่จะใฝ่หาความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนผู้สมัครงานราชการที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2024 มากกว่า 3 ล้านคน พวกเขาดูเหมือนจะไม่ทะเยอทะยาน หรือชอบการผจญภัยเหมือนกับคนรุ่นก่อน ๆ”

“โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ พวกเขาเปิดเผยว่า ไม่ชอบเสี่ยงที่จะใช้เวลาและเงินไปกับการดูหนังที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของตนเอง จริง ๆ แล้ว หลายคนต่างบ่นกันว่า การตลาดออนไลน์ของหนังกำลังกลายเป็นสิ่งที่หลอกลวงมากขึ้นเรื่อย ๆ”

แรนซ์ พาว (Rance Pow) ประธานของบริษัทที่ปรึกษาด้าน Box Office ในเอเชีย Artisan Gateway กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์ว่า การตกต่ำของ Box Office จีนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก่อนถึงสิ้นปี โดยประเมินรายได้ Box Office ของจีนปีนี้อยู่ที่ 5,690 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 7,810 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงกว่า 27% ในปีนี้ และลดลง 38% จากระดับสูงสุดก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2019 ที่ 9,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

พาวยังกล่าวด้วยว่า จากความนิยมของการรับชมวิดีโอและเกมผ่านโทรศัพท์มือถือ การเติบโตของแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นทั้ง โต่วอิน (Douyin), บิลิบิลิ (bilibili) และเสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) กำลังบั่นทอนความน่าสนใจของการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง นอกจากนี้ การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่บ้านและรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ ในช่วงเวลาที่ปกติแล้วมักจะเป็นฤดูกาลที่มีผู้ชมออกไปดูหนังมากที่สุด

ในขณะที่ฮอลลีวูด ที่แต่เดิมเคยเชื่อมั่นในตลาดจีนอย่างเต็มที่ ก็ดูจะเปลี่ยนท่าทีไปด้วยเช่นกัน เหตุผลก็คือ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาสามารถทำรายได้ในจีน 797.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะยังเปิดตัวเลขที่สูงมากอยู่ แต่นั่นก็เป็นตัวเลขที่ลดลงกว่า 68% จาก 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019

ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานกำกับดูแลภาพยนตร์ของจีนได้จำกัดจำนวนการเข้าฉายภาพยนตร์จากสหรัฐฯ อย่างเข้มงวด จากจำนวนการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในปี 2023 ที่มีหนังเข้าฉาย 35 เรื่อง แต่จนถึงปีนี้ กลับมีหนังเพียง 29 เรื่องที่ได้เข้าฉายในจีน ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เลวร้ายลงระหว่างทำเนียบขาวและรัฐสภาจีน ก็ส่งผลต่อการรับรู้ของประชาชนจีนที่มีต่อสินค้าบันเทิงจากสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน คุณภาพการผลิตของภาพยนตร์จีนก็พัฒนาขึ้นอย่างมากจนใกล้เคียงกับฮอลลีวูด ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการชมความบันเทิงในภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง แทนที่จะเป็นของต่างชาติ ภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์จากสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในจีนปีนี้ มีเพียงแนวภาพยนตร์สัตว์ประหลาด ตั้งแต่ ‘Godzilla x Kong: The New Empire’ ที่ทำรายได้ 132.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ‘Alien Romulus’ ทำรายได้ 110.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ‘Venom: The Last Dance’ ที่ทำรายได้ในปัจจุบัน 72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงเข้าฉายอยู่ ซึ่งเป็น 1 ในไม่กี่แนวหนังที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านการเซนเซอร์เนื้อหา

โดยภาพรวมแล้ว ความพยายามในการกำกับดูแลสื่อภาพยนตร์ของรัฐในการควบคุมสื่อบันเทิงจากสหรัฐฯ อย่างแนบเนียน ส่งผลให้ตลาดหนังจีนโดยรวม และธุรกิจโรงหนังในจีนซบเซาไปด้วย

“หากจีนมีการเปิดกว้างต่อการนำเข้าผลงานจากต่างประเทศมากขึ้น นั่นจะช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวา และความหลากหลายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่เสียดายที่สิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้น”

“จีนเป็นประเทศที่มีโรงภาพยนตร์มากกว่า 80,000 โรง เราจึงต้องการภาพยนตร์จากทั่วโลกเพื่อมาเติมให้เต็มพื้นที่เหล่านี้ ภาพยนตร์จีนจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้ดีขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอก และผู้ชมก็สมควรที่จะได้รับตัวเลือกในการชมภาพยนตร์ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” เจี่ยจางเคอกล่าวทิ้งท้าย