ถ้าพูดถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของบ้านเราเนี่ย ทุกคนนึกถึงอะไรคะ TCAS, Admission, อ่านหนังสือ, เด็ก ม.6, ความเครียด-ความกดดัน, เรียนพิเศษ, ข้อสอบ (สุดโหด T o T) นึกถึงคำพวกนี้อยู่ใช่ไหมล่ะคะ จะว่าไประบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยก็ผ่ามาหลายรุ่นเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นระบบแรกอย่าง Entrance: ยุคแรก + ยุคใหม่ ถัดมาคือ Admission: O-net, A-net ตามมาด้วย Admission: Gat-Pat จนกระทั่งล่าสุดคือ ระบบ TCAS ที่ต่อไปก็ถึงเวลาของรุ่น TCAS 66 แล้วนะคะ วันนี้ ซามะ มีหนังสารคดีย้อนวันวานแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบเอนทรานซ์อย่าง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550) หนังที่ซามะเชื่อว่า เด็กส่วนใหญ่จะกดเข้ามาดูเรื่องนี้ในช่วงเตรียมตัวสอบแน่นอนค่ะ เพราะเราเองก็ดูเหมือนกันค่ะ 55555 น้องๆ คนไหนที่ไม่เคยดูสามารถรับชม Final score ได้ทาง Netflix นะคะ ถ้าพร้อมแล้วไปฟังรีวิวจากซามะกันเลย (การรีวิวนี้เป็นความเห็น และความรู้สึกส่วนตัวของซามะนะคะ ผิดพลาดประการใดขออภัยล่วงหน้าจ้า) ตัวอย่างคลิปตัวอย่าง ตัวอย่าง Final Score 365วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (Official Trailer)ขอบคุณคลิปจาก Youtube : GTHchannel เรื่องย่อ Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ คือภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่องราวของเด็ก ม.6 ซึ่งเป็นปีที่เด็กหลายคนกำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีตัวละครหลัก 4 คน ได้แก่ เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์, โบ๊ท-สราวุฒิ ปัญญาธีระ, บิ๊กโชว์-กิตติพงศ์ วิจิตรจรัสสกุล และ ลุง-วรภัทร จิตต์แก้ว จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้า จาก Entrance สู่ Admission กำเนิดข้อสอบ O-net และ A-net ที่นักเรียนชั้น ม.6 ต้องเผชิญกันถ้วนหน้า หนังสารคดีเรื่องนี้ถ่ายทำโดยไม่มีสคริปต์ ไม่มีบท ทุกอย่างที่ปรากฎในหนัง คือ ช่วงเวลาแห่งความเครียด กดดัน ผิดหวัง และสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นจริง เด็กทั้ง 4 คนนี้จะสอบติดคณะ และมหาวิทยาลัยที่ตัวเองตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ ระหว่างทางจะเจอเรื่องหนักๆ ของชีวิตวัยรุ่นอะไรบ้าง แล้วพวกเขาเหล่านี้จะผ่านพ้นด่านสุดท้ายของ ม.6 อย่างไร ย้อนวันวานแห่งช่วงเวลาสอบเข้า ซามะเชื่อว่าทุกคนทั้งนักเรียน ครู หรือแม้กระทั่งคนที่จบการศึกษาไปนานแล้วกลับมาดู ต้องคิดถึงช่วงเวลา (ทรหด) ของการอ่านหนังสือ ทำสรุปอ่าน นับถอยหลังวันสอบสนามต่างๆ เวลาที่ต้องไปนั่งเรียนตามกวดวิชา ที่เรียนพิเศษกับเพื่อน ในตัวหนังเนี่ยจะถ่ายตั้งแต่ตื่นนอน ไปโรงเรียน ตอนอาจารย์กำลังสอนหนังสือ ถ่ายชีวิตประจำวันของเด็ก ม.6 ทั้ง 4 คน ภาพจะตัดไปถ่ายเปอร์บ้าง โบ๊ทบ้าง รวมถึงบิ๊กโชว์ และลุงด้วยว่ามีการเตรียมตัวการสอบเข้าอย่างไร มีความฝันอยากเข้าคณะอะไร ไปจนถึงที่บ้านมีพูด มีความเห็น คิดยังไงกับเส้นทางเข้าสู่รั้วมหาลัยของพวกเขากันบ้าง ในยุคนั้นยังมีการสอบตรงกับมหาวิทยาลัย หนังก็ได้เก็บภาพบรรยากาศส่วนตรงนี้มาด้วย และฟีลลิ่งที่ทุกคนมาดูประกาศรายชื่อตัวเองว่าติดที่ไหน คณะอะไร โมเมนต์ที่ใจเต้นแทบจะหลุดออกมา สมหวัง ผิดหวัง เครียด ดีใจ เสียใจ เหนื่อย ท้อแท้ ทุกความรู้สึกนี้เด็กวัยรุ่นไทยต้องประสบมาทุกรุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน #เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย ประเด็นชวนคิดจากเรื่อง ชีวิตวัยรุ่นของไทย หมดไปกับการอ่านหนังสือสอบ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะผ่านมากี่ระบบ กี่รุ่นก็ตามแต่ ชีวิตวัยรุ่นหมดไปกับการสอบเข้านี่ก็ยังพูดได้เสมอเลยในความรู้สึกของเรา แต่ซามะไม่ได้เหมารวมทุกคนนะคะ บางคนอาจจะสามารถจัดการเวลา บริหารเวลาตัวเองได้ ในหนังอาจจะยังแสดงออกเรื่องตรงนี้ไม่มากนัก แต่ก็มีภาพบางส่วนที่ทุกคนนั่งอัดๆ กัน ในห้องเรียนพิเศษ นั่งอ่านหนังสือหน้าทีวี แถมอ่านหนังสือกันด้วยความเครียด ไม่เข้าใจเนื้อหา เบื่อๆ ง่วงๆ และยังต้องเรียน และสอบวิชาในโรงเรียนอีก ความฝัน Vs ความมั่นคงจะเห็นได้จากโบ๊ทเลยค่ะ ตัวโบ๊ทเนี่ยชอบปลามาก ถึงขนาดเข้าเป็นสมาชิกในสโมสรปลาหมอสีเลยค่ะ มีคณะที่อยู่ในใจคือคณะประมง อยากเปิดฟาร์มปลา มีแหล่งเพาะพันธุ์ปลาเป็นของตัวเอง แต่ที่บ้านไม่ค่อยเห็นด้วยกับคณะนี้ค่ะ เพราะมองว่าสายงานมันจะไม่มั่นคงกับชีวิตของลูก ควรหาคณะที่มีงานทำแน่นอนดีกว่า เช่น นิติ บัญชี ตอนที่เลือก 4 อันดับเนี่ยโบ๊ทก็เลือก 3 อันดับแรกเพื่อความต้องการของที่บ้านก่อน นับถือใจพี่แกมากๆ เพราะถ้าติดขึ้นมาอาจจะไม่มีความสุขเลยก็ได้ เรื่องความฝันกับความมั่นคง ณ ปัจจุบันแม้ว่าผู้ปกครองหลายท่านจะเข้าใจเด็กมากขึ้น และสนับสนุนให้ทำตามความฝันมากขึ้น แต่ห้ามไม่ได้ค่ะว่าสมัยนี้ความคิดแบบนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ แต่ซามะอยากให้เข้าใจในสองมุมค่ะ ทั้งมุมของผู้ใหญ่ที่เขาแค่หวังดี อยากให้เรามีอนาคตที่ดี (ในโมเดลของผู้ใหญ่) กลับกันในมุมของวัยรุ่นที่ถ้ามีความฝันเขาก็อยากทำตามความรู้สึก และสิ่งที่เขารักอย่างสุดความสามารถเท่านั้นเองระบบการสอบเข้าของไทยเปลี่ยนบ่อยมากในหนังดำเนินเรื่องในช่วงปี พ.ศ.2549 ที่เป็นการเปลี่ยนจาก Entrance สู่ Admission ซึ่งเพิ่ม A-Net กับ O-Net เข้ามาเป็นปีแรก ก็....นั่นแหละค่ะ ถ้าใครที่ดูแล้วก็จะรู้เลยว่ามีปัญหาตอนประกาศคะแนนสอบโอเน็ต ผิดพลาด! คะแนนนักเรียนที่สอบไปมั่วผสมกันไปหมด เช่น มีคนได้คะแนนวิชาภาษาไทยสูงกว่าคะแนนสูงสุดของประเทศ ทำเอาวุ่นกันทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ต้องมายื่นเอกสารขอตรวจสอบคะแนนกันที่ สทศ. เป็นข่าวใหญ่โตมากค่ะในตอนนั้น เพราะการประกาศคะแนนผิดแล้วต้องตรวจสอบทั้งประเทศใหม่ ใช้เวลานานเป็นหลายๆ เดือนเลยค่ะ เด็กก็เกิดความเครียด บางคนก็มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย อยากหนีไปบวชเข้าทางธรรมดีกว่า ความน่าเชื่อถือของ สทศ. ลดลงไปเยอะมากเลยค่ะ ซึ่งซามะคิดเห็นได้จากข้อนี้คือ ทุกการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบ มักพบปัญหาที่ใหญ่หลวงตามมาเสมอ มาจนถึงรุ่นปัจจุบัน (TCAS) ก็ยังมีปัญหาในปีแรกอีก เราเลยคิดว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการสอบเข้าเนี่ยควรจัดการปัญหาให้ถูกจุด เข้าใจหัวอกเด็กมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องความผิดพลาดของคะแนนนะคะ แต่อีกหลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจ สร้างความเครียดให้ตัวเด็กด้วย 1 ในหนังที่เด็กทุกรุ่นแวะเข้ามาดู จากประสบการณ์ส่วนตัวของซามะ และเพื่อนๆ ของซามะที่ดูเรื่องนี้ในช่วงสอบเข้ามหาลัย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันค่ะว่า "ต้องดูเรื่องนี้" เราเชื่อมากๆ ว่าหลายคนที่เข้ามาดูอาจจะผ่านการแนะนำจากคนอื่น หาในอินเทอร์เน็ตแล้วบอกว่าต้องดูนะเรื่องนี้ แต่ต้องมีคนที่ท้อแท้ หมดไฟ และเหนื่อย อ่อนเพลียกับการอ่านหนังสือแน่นอนค่ะ เราเองก็ดูในตอนที่เรากำลังท้อและเบื่อกับการอ่านหนังสือเหมือนกัน เลยอยากหาอะไรดูแล้วก็เจอหนังเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในบ้านเรา ตอนที่ดู Final score ตั้งแต่ต้นจนจบเรารู้สึกมีไฟขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล ทั้งๆ ที่ยุคในหนังกับยุคที่เราสอบอะไรๆ มันเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร อาจเป็นเพราะว่าเราได้เห็นตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางของเด็กทั้ง 4 คนนี้ ช่วงการอ่านหนังสือ (ที่แม้ว่าจะชวนหลับ ง่วงนอน น่าเบื่อก็ตาม) หรือช่วงนั่งอยู่หน้าจอคอม คอยกดรีโหลดหน้าเว็บไซต์เรื่อยๆ เพื่อดูประกาศผล พูดรวมๆ คือ เรารู้สึกมีประสบการณ์ร่วมกันกับหนังค่ะ ตัวละครหลักในเรื่องมีที่เรียนกันทุกคน ที่ชอบมากคือตอนจบของเรื่อง คือ ภาพที่ทุกคนกลับมาเยี่ยมที่โรงเรียนหลังจากเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แล้ว ภาพนี้ทำให้จุดไฟในการเพิ่มพลังอ่านหนังสือขึ้นมาได้บ้างว่า ถ้าเราพยายามมันต่อไป สักวันมันจะสำเร็จตามเป้าหมายเรา รีวิวจากซามะ สำหรับซามะ Final Score คือภาพยนตร์ในตำนานที่ตีแผ่ สะท้อนความจริงของการศึกษาอีกหลายแง่มุมเลยค่ะ ดูช่วงแรกๆ เนี่ยอาจจะเนิบๆ ง่วงๆ ยังไม่ค่อยมีอะไร แต่พอช่วงแนะนำตัวละครผ่านไป และแต่ละคนเริ่มไปสอบตรงตามที่ต่างๆ อันนั้นแหละค่ะจะเริ่มมีความสนุกขึ้นมาบ้างแล้ว ในหนังไม่ได้มีแค่เรียนล้วนๆ นะคะ ยังมีไปคอนเสิร์ต, นั่งรถไฟไปเที่ยวก่อนสอบ Admission, งานปัจฉิมนิเทศ ม.6 เก็บทุกช่วงของวัยรุ่นก่อนจะเริ่มเข้ารั้วมหาลัย แล้วคิดถึงสุดๆ กับเพลงปิดเรื่องอย่างเพลง "วันเดือนปี" (วันจันทร์ฉันคอยอยู่ อังคารก็คอยดูดูดูว่าเธอเป็นไง T . T ) แล้วประมวลภาพตอนเรียนมัธยมนี่คือที่สุดของซามะแล้วค่ะ ^ ^ ถ้าใครอยากย้อนเวลานั่งไทม์แมชชีนไปสมัยมัธยม หรือคิดถึงตัวเองตอนสอบเข้ามหาลัยอย่างขะมักเขม้น ก็อย่าลืมไปดู Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ ได้ที่ Netflix นะคะ ซามะอยากถามทิ้งท้ายทุกคนว่า ตอนช่วงเตรียมตัวสอบ ทุกคนมีช่วงเวลาไหนที่จดจำไม่ลืมบ้าง? ถ้ามีอย่าลืมคอมเมนต์ด้านล่างนะคะ ครั้งหน้าจะมารีวิวอะไร ต้องติดตามกันบทความหน้า วันนี้ซามะลาไปก่อนน้า สวัสดีค่าาา (ปล.ภาพสุดท้ายมันโดนมาก 5555) เครดิตภาพ ภาพปก : Canva จาก ผู้เขียน (ซามะ) ภาพประกอบโดย Facebook : GDHภาพที่ 1 จาก Facebook : GDHภาพที่ 2 3 4 5 จาก Youtube : ตัวอย่าง one THEATRE 14 ธ.ค.57 Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ I one31ภาพที่ 6 จาก Facebook : Netflix *STAR COVER"อย่ามัวแต่ดูมาดังกัน"*ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ขอชวนทุกคนมาสนุกโคฟเวอร์ พร้อมลุ้นรับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 7,000 บาท (5 รางวัล) โคฟคนที่ใช่ ไลค์คนที่ชอบ`ร่วมสนุกได้ที่ ทรูไอดีคอมมูนิตี้ ห้อง cover บนแอปทรูไอดี` คลิกเลย >> https://ttid.co/UAnK/7y9jfqkqอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >> https://bit.ly/3O1cmUQร่วมสนุกตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 - วันที่ 3 สิงหาคม 2565