หิ่งห้อย(เนื้อหาอาจมีสปอยล์และเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน) หิ่งห้อย หรือ fireflies เป็นกวีนิพนธ์ที่ประพันธ์โดย รพิทรนาถ ฐากูร หรือ Rabindranath Tagore กวีผู้มากด้วยความสามารถชาวอินเดีย หิ่งห้อยได้ถูกนิพนธ์ขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อน และได้รับการถอดความเป็นภาษาไทยด้วยฝีมือของคุณประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา และคุณระวี ภาวิไล ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ภารตะ แต่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 กับสำนักพิมพ์ศึกษิตสยามหิ่งห้อยเป็นกวีนิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบของปกแข็ง ดูแข็งแรงสวยงาม ตัวปกถูกออกแบบมาในโทนสีแดง และได้รับการตกแต่งด้วยริบบิ้นคั่นหน้าสีทอง ตัวเล่มทำออกมาได้ดีมาก ดูทนทานและมีมนต์ขลัง ภาพประกอบออกแนวอินเดีย ซึ่งทำให้รู้จักกับหนังสือเล่มนี้ได้ในเบื้องต้น ในราคา 297 บาท (ในตอนนั้น)กวีนิพนธ์ในหลาย ๆ บทนั้นไพเราะจับใจ มีทั้งบทที่แปลออกบ้างแปลไม่ออกบ้าง คำที่ใช้ในบทกวีนั้นบางคำก็ยากจนไม่รู้ความหมาย แต่บางคำก็ฟังดูสวยงามจนรู้สึกซาบซึ้งมากภายในหัวใจอีกข้อดีหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ แม้ประโยคจะยากสักเพียงไหนก็ยังมีประโยคภาษาอังกฤษแปลความอยู่ด้านล่างเสมอ ทำให้บางคำที่เราแปลไม่ออกว่าหมายถึงอะไร คำศัพท์ภาษาอังกฤษก็สามารถช่วยเราได้ในระดับหนึ่งถ้อยคำในบทกวีออกจะเป็นคำที่ไพเราะและดูสละสลวยและหลาย ๆ คำก็ฟังดูโบราณมากเหลือเกิน แต่มันก็มีเสน่ห์ดึงดูดให้รู้สึกว่าอยากเรียนรู้มากขึ้นไปอีก “แม้ฟ้าจะตระกองธรณีคู่พิสมัยไว้ในอ้อมกอด ฟ้าก็ยังอยู่ไกลแสนไกล” เป็นบทกวีที่ทำให้รู้สึกประทับใจได้มากที่สุด แม้จะงง ๆ อยู่บ้างว่าคำว่า ตระกอง ควรจะแปลว่าอะไร แต่ก็พอเดาออกว่าควรเป็นความหมายทำนองไหน เป็นประโยคที่อ่านแล้วรู้สึกเจ็บในใจแบบหน่วง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าคนบางคนก็เป็นเหมือนท้องฟ้า ที่เหมือนจะอยู่ใกล้กับเรามากแค่ไหน สุดท้ายแล้วนั่นก็เป็นความห่างไกลที่ยากจะเอื้อมถึงอยู่ดีหิ่งห้อย คือ กวีนิพนธ์ อีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่าน มันให้ความรู้สึกแบบค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่และต้องคิดตามอยู่เสมอ ๆ และด้วยรูปเล่มที่สวยงาม แข็งแรง เป็นหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่ถูกตีพิมพ์แบบปกแข็ง ด้วยเหตุผลทั้งปวงจึงเหมาะสมแก่การมีไว้ในครอบครองเป็นแน่แท้ภาพประกอบโดยผู้เขียน