ชุมชนนาคำไฮ ในจังหวัดเล็ก ๆ อย่างหนองบัวลำภู น้อยคนจะเคยได้ยินชื่อ ที่นี่เป็นบ้านเกิดของผู้ชายที่ดูธรรมดาคนหนึ่งชื่อ เพลิง วัตสาร เขาจบคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และตั้งแต่ปี 2544 เขาก็นำฝีมืออันเลิศล้ำ ศรัทธาต่อพุทธศิลป์ และความรักบ้านเกิดของตนเอง ออกสู่สายตาสาธารณชน คว้าสารพัดรางวัลเกียรติยศ จนกลายเป็นบุคคลสำคัญของวงการศิลปะมาวันนี้ ทั้งชุมชนนาคำไฮและมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ยืดอกหัวใจพองโตกันอีกครั้งแล้วค่ะ เพราะผลงานของคุณเพลิง วัตสาร ได้รับเชิญมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ ที่ห้องนิทรรศการ 2 ชั้น 1 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนิทรรศการ "เปลวเพลิงแห่งพุทธิปัญญา The mind of the Buddha by Ploeng" ไปดูกันดีกว่านะคะว่าเป็นอย่างไรบ้างการเดินทาง นั่งรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีสยาม หรือ MRT ลงสถานีสามย่าน ก็ได้ แล้วนั่งรถปอพ.ของจุฬาฯ สาย 4 ไปหอศิลป์จามจุรี อาคารจามจุรี 8 (อยู่ใกล้กับอาคารสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่นี่เปิดให้เข้าชมฟรี วันจันทร์-ศุกร์ 10.00-19.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ 12.00-18.00 น. (ปิดให้บริการเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์)ขอบพระคุณภาพจากเพจสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/cuartculture/ขอบพระคุณภาพจากเพจสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/cuartculture/ ตามชื่อเลยค่ะ นิทรรศการนี้แสดงความสูงส่งแห่งศรัทธา และพระปัญญาคุณอันสว่างไสวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชนะความมืดมนของความทุกข์ความชั่วทั้งปวงได้ ภาพวาดทุกภาพละเอียดประณีตสวยงามมาก ๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพระพุทธประวัติ แต่ไม่เหมือนกับจิตรกรรมพุทธประวัติทั่วไปที่เคยเห็นตามวัด เพราะมีการวาดเสริมสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวให้ด้วยยกตัวอย่างเช่น ภาพตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงปลงพระเกศาเพื่อออกผนวช เราจะไม่เห็นแค่ม้ากัณฐกะ ที่เป็นม้าทรง แบบม้าธรรมดา แต่เห็นเทพยดาที่สิงอยู่ในม้านั้นด้วย (เนื่องจากเชื่อกันว่าม้ากัณฐกะเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ พอม้าตายแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชื่อว่ากัณฐกะเทวบุตร) แสดงความเกี่ยวข้องของผู้คน วิญญาณ และการใช้เวลาสั่งสมบารมีหลายชาติ กว่าที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้สัจธรรมของชีวิตได้ คือไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียวแต่มีปัจจัยอื่น ๆ มากมาย เราจะเห็นลักษณะความเชื่อและรายละเอียดแบบนี้เยอะมากในงานของคุณเพลิง วัตสาร มีการผสมผสานกับความเชื่อทางพราหมณ์ฮินดูและแนวคิดพระมหากษัตริย์ไทยด้วย เรียกว่ารวมรากฐานวัฒนธรรมของชาติไว้ครบเลยขอบพระคุณภาพจากเพจสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/cuartculture/ขอบพระคุณภาพจากเพจสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.facebook.com/cuartculture/ใครที่สนใจงานศิลปะแนวพุทธศิลป์ก็ขอแนะนำให้มา เพราะแต่ละรูปน่าสนใจและสังเกตจุดนั้นจุดนี้ได้เพลิน มีเอกลักษณ์ต่างจากคนอื่น เหมือนมีอะไรให้ค้นพบตลอด นิทรรศการนี้เปิดมาได้สามวันแล้ว จะมีไปจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2562 คนค่อนข้างน้อย บรรยากาศหอศิลป์สงบเหมาะกับการชื่นชมและขบคิดปริศนาธรรม ส่วนตัวคิดว่า เป็นโชคดีอย่างยิ่งของพวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีชีวิตอยู่ร่วมยุคกับศิลปินที่เปี่ยมพรสวรรค์และทุ่มเทแบบนี้ และก็โชคดีของชาวกรุง ที่อุตส่าห์ได้อยู่ใกล้สถานที่ซึ่งนำผลงานงดงามจับใจมาแสดงฟรี ไม่มาดูสักครั้งก็น่าเสียดายค่ะ