โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 11 การเดินทางอันทรงคุณค่าของสามเณรทั้ง 12 รูป ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์แห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรม ก็มาถึงวันสำคัญ นั่นคือพิธีลาสิกขา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2568 ณ สถานปฏิบัติธรรม ธวีธรรม (ไร่แสงงาม) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อันเป็นการปิดฉากการบรรพชา แต่เป็นการเปิดประตูบานใหม่สู่การนำหลักธรรมไปใช้ในชีวิต เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ผละออกจากต้นเพื่อไปเจริญเติบโตงอกงามตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง พิธีลาสิกขาในครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่คือการเปลี่ยนสถานะจากการเป็นบรรพชิตกลับสู่เพศฆราวาส พร้อมนำพา "ธรรมะ" ที่ได้ร่ำเรียนและปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาการบวช ไปเป็นเครื่องนำทางชีวิตในโลกภายนอก เป็นการเติบโตทางจิตวิญญาณที่ยั่งยืนและพร้อมแบ่งปันคุณค่าสู่สังคม คลิกรับชม สามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 11 ดูฟรี ได้รับความเมตตาจาก พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในฐานะ พระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ใหญ่ประจำโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 11 ประกอบพิธีลาสิกขา โดยมีบุคคลสำคัญจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ , คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ / ประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ริเริ่มโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม, คุณชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส, คณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นำโดย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ พิธีเริ่มต้นด้วย คุณชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอนุโมทนาบุญ จากนั้น คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้กล่าวสรุปภาพรวมความสำเร็จของโครงการ ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมสนับสนุน และแสดงความยินดีกับสามเณรทุกรูปที่ได้บวชเรียนเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ ซึ่งถือเป็นบุญกุศลอันสูงสุดในชีวิต พร้อมทั้งกล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้ชมทางบ้านได้รับจากการติดตามโครงการตลอด 4 สัปดาห์ แบ่งปันประสบการณ์อันล้ำค่าที่ได้รับจากการบรรพชา สามเณรน้อย 9 รูปแรก ได้ผลัดเปลี่ยนกันกล่าวถึงประสบการณ์อันล้ำค่าที่ได้รับจากการบรรพชาตลอด 4 สัปดาห์ ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจจากภายใน ดุจผ้าขาวบริสุทธิ์ ประทับสิ่งใดลงไปย่อมเกิดภาพสิ่งนั้น คำพูดที่เปล่งออกมาซื่อตรง เรียบง่าย และกินใจ บางรูปเล่าถึงช่วงเวลาที่รู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้า แต่ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยกำลังใจจากพระอาจารย์ และกัลยาณมิตร ก่อเกิดปัญญาและศีลธรรมในใจตนเอง ซึ่งจะเติบโตและงอกงามในวันข้างหน้า สามเณรมอส : ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ใหม่ ๆ การฝึกสติ สมาธิ ความขันติอดทน และทำได้แล้ว สามเณรโปรด : ชื่นชอบสถานที่ที่สวยงาม สงบ และขอบคุณพระอาจารย์พี่เลี้ยงที่สอนสิ่งที่ไม่เคยทำได้จนทำได้ เช่น การฝึกภาวนา สามเณรณุภัค : เดิมเป็นคนโกรธง่าย แต่ได้ฝึกตัวเองจนเอาชนะความโกรธได้ สามเณรซัน : ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน เช่น การบิณฑบาตด้วยเท้าเปล่า และฝึกธรรมะ สามเณรกอกล้า : เช่นเดียวกับสามเณรณุภัค ได้มาบวชเพื่อฝึกขันติและทำสำเร็จแล้ว สามเณรสตางค์ : ประทับใจประสบการณ์ออกธุดงค์ สามเณรเซน : มาบวชเพื่อเรียนรู้ธรรมะ ได้ฝึกธุดงค์ แม้จะต้องกลับไปเรียน แต่สัญญาว่าจะกลับมาที่นี่อีก สามเณรติณณ์ : รู้สึกตื้นตันใจจนไม่สามารถพูดอะไรได้ สามเณรหมูตุ๋น : น้องเณรคนสุดท้องอายุน้อยสุดของโครงการฯ มาบวชได้ฝึกความกรุณา เมตตา ฝึกขันติ สามเณรทุกรูปยังได้ร่วมกันอวยพรให้ทุกคนมีความสุขอีกด้วย ส่งมอบความปรารถนาดีแด่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์ พี่เลี้ยง ผู้ปกครอง รวมถึงผู้ชมทุกท่าน ให้มีแต่ความสุข ความเจริญ ทั้งในหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว และในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทานแห่งธรรม การแสดงธรรมเทศนาโดยสามเณร ไฮไลต์สำคัญที่สร้างความปิติยินดีแก่ผู้ร่วมงานและผู้ชมทางบ้าน คือการแสดงธรรมเทศนาโดยสามเณร 3 รูปที่เหลือ โดยมี สามเณรสกาย มาร่วมให้กำลังใจและเป็นพี่เลี้ยง การแสดงธรรมนี้เปรียบเสมือน "ทาน" หรือการให้ที่มีคุณค่าสูงสุด คือการให้คติธรรมเพื่อการดำรงชีวิต ตอบแทนสาธุชนที่ติดตามรับชมและให้กำลังใจตลอดโครงการ สัปดาห์สุดท้ายของโครงการถูกนิยามว่าเป็น "สัปดาห์แห่งการให้" และการแสดงธรรมนี้ก็คือส่วนหนึ่งของการให้นั้น การแสดงธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 1 โดย สามเณรอั่งเปา กล่าวในหัวข้อ "ความกตัญญูต่อบุพการี" ด้วยน้ำเสียงฉะฉานน่าเลื่อมใส สะท้อนถึงแรงบันดาลใจในการบวชเพื่อตอบแทนครอบครัว ได้แง่คิดเรื่องความพอดี เช่นข้าวจากบาตร ตักมานึกว่าน้อยแต่ทานไม่หมด ได้พระอาจารย์สอนให้รู้จักความพอดี การบวชได้รู้วิธีจัดการปัญหาที่เข้ามาในชีวิต เล่าเรื่องราวขณะนั่งออกธุดงค์สมาธิได้มียุงมากัดจนเผลอสติ พระอาจารย์มหาภูมิชัยจึงแนะนำว่าให้เข้าใจว่าในป่ายุงมันเยอะเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องหาเครื่องป้องกันเช่นมุ้งต้องปิดให้มิดชิด ยามพ่ายแพ้ต่อกิเลสรู้สึกท้อ ได้คิดถึงพ่อแม่ จึงได้นำหลักธรรมที่พระอาจารย์สอนนำมาใช้ปฏิบัติให้มีความมุ่งมั่นทำให้ได้ ไม่ย่อท้อ จนสำเร็จ และเรียนรู้ว่าบุพการีไม่ใช่แค่คน ไม่ว่าสัตว์หรือสิ่งของ สามารถเป็นบุพการีได้เช่นกัน เช่นต้นไม้ที่น้องเณรได้ร่วมกันปลูกก็ถือเป็นผู้มีพระคุณ ก่อเกิดเป็นน้ำ อาหาร พร้อมให้พร สร้างความซาบซึ้งให้ผู้ฟังการแสดงธรรม การแสดงธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 2 โดย สามเณรเทมส์ พี่ใหญ่ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาแห่งโครงการ เล่าความหมายของความกตัญญูตามความเข้าใจตลอดการบรรพชา 1 เดือน โดยการปลูกพืชเพื่อหวังผลฉันใด การเตรียมให้ลูกเป็นคนดีก็ต้องเตรียมพื้นฐานของชีวิตคือความกตัญญู เจอปัญหาเข้ามาในชีวิต ขอเพียงมีความตั้งใจ มุ่งมั่น จะสามารถเอาชนะปัญหาทุกอย่างได้สำเร็จ พ่อแม่ต้องกตัญญู ครูต้องเคารพ เพื่อนต้องหมั่นพบ จึงได้ชื่อว่ามีความกตัญญู การเอาชนะความท้อ และความคิดถึงบ้านโดยมองว่าสถานปฏิบัติธรรมธวีธรรมคือ "บ้าน" หลังหนึ่ง เรียนรู้ว่าการแสดงความกตัญญูมิใช่เพียงให้สิ่งของ ต้องทดแทนด้วยใจ จึงถือว่าทดแทนบุญคุณได้ การแสดงธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 3 โดย สามเณรฟีนิกซ์ บรรยายความรู้สึกว่าตนเองชอบทุกกิจกรรม ชอบการเดินสนามหญ้า การเดินบนหินกรวดรู้สึกเจ็บก็เลี่ยงได้ แต่มารดาอุ้มท้องแม้เจ็บปวดก็ต้องทนให้ได้ เราจึงควรแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เป็นคติธรรมลึกซึ้งเกินวัย สะท้อนถึงการบ่มเพาะสติ ปัญญา ที่ได้รับตลอดการบวช พร้อมเล่าเรื่องราวพระสิทธัตถะ หลังตรัสรู้แล้วได้ยืนต่อหน้าต้นศรีมหาโพธิ์จนเกิดเป็นพระปางถวายเนตร เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้เป็นร่มเงาให้เฝ้าบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จ เราจึงกตัญญูต่อทุกสิ่งไม่ว่าเป็นแม่น้ำ ลำธาร ด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบแทนเม็ดเลือดในร่างกายด้วยการไม่นำสิ่งเป็นพิษเข้าสู่ตัว เริ่มความกตัญญูต่อร่างกายตัวเอง ถือเป็นการเปรียบให้เห็นภาพหลักธรรมที่เฉียบแหลม พร้อมฝากธรรมะทิ้งท้ายว่าชีวิตที่ดี ต้องคิดดี ดูดี ฟังดี พูดดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี สติดี ชีวิตดีแน่นอน สามเณรฟีนิกซ์เป็นตัวแทนของสามเณรทั้ง 12 รูป กล่าวให้พรเป็นภาษาบาลี บทสวดสัพพี หรือสามัญญานุโมทนาคาถา “มาเต ภะวัตวันตะราโย อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” ให้ผู้ที่ได้รับพรมีความสุข มีอายุยืนยาว และมีความแข็งแรง ถึงเวลาสำคัญเข้าสู่พิธีลาสิกขา ทุกอย่างดูสงบนิ่ง หมายถึงเวลาแห่งการจากลาได้มาถึง พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในฐานะพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ใหญ่ประจำโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 11 ได้ประกอบขั้นตอนสำคัญในการลาสิกขา คือการเปล่งวาจาลาสิกขา สามเณรทุกรูปน้อมนึกถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับตลอด 4 สัปดาห์ ทั้งความรู้ ความเมตตาจากพระอาจารย์ และประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้หลายรูปถึงกับน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว จากนั้น สามเณรได้ท่องนะโม 3 จบ กล่าวคำขอขมาโทษ และคำลาสิกขา ก่อนจะทยอยเข้าไปให้ พระพรหมบัณฑิต ได้ทำการปลงผ้าไตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเพศบรรพชิต เป็นอันสิ้นสุดการบรรพชาตลอด 4 สัปดาห์อย่างสมบูรณ์ งดงาม และเปี่ยมความหมาย หลังสิกขาลาเพศ เปลี่ยนเครื่องแต่งกายสู่การเป็นฆราวาส กล่าวอาราธนาศีล 5 รับศีลรับพรจากพระพรหมบัณฑิต ซึ่งได้เมตตากล่าวสัมโมทนียกถา (ใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความยินดี หรืออนุโมทนา เมื่อรู้แจ้งว่ามีบุคคลประกอบกรรมดี เป็นกุศลในทางพระพุทธศาสนา) ผมขออนุญาตอัญเชิญใจความสำคัญของท่าน ที่ฟังแล้วบังเกิดความซาบซึ้งกินใจ “ขอให้จดจำว่าเราเป็นบัณฑิต คำว่าบัณฑิตคือคำของพระพุทธเจ้าที่ใช้มาก่อน ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาทางโลก ความหมายของบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาคือผู้รู้ ผู้มีปัญญา รู้ธรรมะ ทำให้เราเป็นบัณฑิตในทางธรรม” นั่นคือคนเราต้องมีความรู้สองอย่าง เปรียบมีดวงตาสองข้าง คือความรู้ในทางโลก และความรู้ในทางธรรม รู้สองอย่างเรียกว่าเป็นบัณฑิต หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปย่อมไม่สมบูรณ์ เช่นเก่งแต่อาจจะโกง ใครก็ไม่อยากคบ ย่อมไม่ใช่บัณฑิตทางพระพุทธศาสนา จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่เด็กน้อยทั้ง 12 คน รับฟัง จดจำ น้อมนำไปใช้ในการดำรงชีวิต กล่าวอนุโมทนาบุญรับพรอันเป็นหลักธรรมอันมีค่าจากพระอาจารย์ก่อนที่โครงการฯ จะส่งต่อทั้ง 12 คนสู่อ้อมกอดครอบครัวที่อบอุ่น สายลมที่พัดผ่านวิหารพุทธะเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อน ไม่ต่างไปจากวันนี้เลย มันยังคงพัดพาเอากลิ่นหอมของดอกไม้มาให้สดชื่น ต่างเพียงแค่เบื้องหน้าองค์พระพุทธปัญญาธรรมที่เคยมีสามเณรน้อยทั้ง 12 รูปนั่งเรียงราย บัดนี้ว่างเปล่า เสียงสวดมนต์ที่เคยได้ยิน เสียงซุกซนตามประสาวัยเด็ก ภาพที่คุ้นตาคงทำเอาพวกเราน้ำตาคลอ แต่ยิ้มรับความจริงด้วยความยินดี สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง ต้องมีเกิด มีตั้งอยู่ และจากไป ตามกาล จากนี้ทุกคนจะแยกย้ายไปส่งต่อธรรมะความดีที่ได้เรียนรู้มาตามบทบาทหน้าที่ของตัวเอง เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ที่จากลาต้นเพื่อไปเจริญเติบโต ขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมในโครงการอันทรงคุณค่านี้ ดีใจที่ได้มีโอกาสเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงอันงดงามของดวงใจดวงเล็ก ๆ ที่ได้มอบธรรมะตามหลักขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อเกิดแรงบันดาลใจ แง่คิดการใช้ชีวิตที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม สืบไป … #สามเณรปลูกปัญญาธรรม #ทรูปลูกปัญญา #ธรรมะ #เด็กน่ารัก #บวชเณร #truelittlemonk #trueplookpanya ดู สามเณรปลูกปัญญาธรรม ปี 11ฟรีคลิก ภาพประกอบโดย สามเณรปลูกปัญญาธรรม : พื้นหลัง , พื้นหลัง 2 , ภาพที่ 1 , ภาพที่ 2 , ภาพที่ 3 , ภาพที่ 4 , ภาพที่ 5 , ภาพที่ 6 , ภาพที่ 7 , ภาพที่ 8 , ภาพที่ 9 , ภาพที่ 10 , ภาพที่ 11 , ภาพที่ 12 , ภาพที่ 13 พูดคุยธรรมะ สาระธรรมดี ๆ ที่ห้องสามเณรปลูกปัญญาธรรม