รีเซต

[รีวิวหนัง] "Come Back Home" ประเดิมบทบาทดราม่าของ ดอนนี เยน ที่เริ่มต้นได้ไม่สวยนัก

[รีวิวหนัง] "Come Back Home" ประเดิมบทบาทดราม่าของ ดอนนี เยน ที่เริ่มต้นได้ไม่สวยนัก
แบไต๋
29 กรกฎาคม 2566 ( 08:00 )
294

ดอนนี่ เยน (Donnie Yen) หรือ เจิน จื่อตัน เพิ่จะมีอายุครบ 60 ปีไปเมื่อวานนี้ 27 กรกฎาคม เช่นเดียวกับนักแสดงแอ็กชันส่วนใหญ่ เมื่อวัยมากขึ้น ถ้ายังคิดจะอยู่ในวงการแสดง แล้วยอมรับกับสังขารตัวเอง ก็ต้องเปลี่ยนแนวมาดราม่า ย้ายไปคอมเมดี้คงจะประหลาดเกินไปล่ะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็พี่ใหญ่ เฉิน หลง นี่แหละ ยังต้องเน้นดราม่ามากหน่อย แอ็กชันน้อยหน่อย ส่วนเยนก็ลิ้มลองผลงานดราม่าจริงจังครั้งแรกก็ ‘Come Back Home’ เรื่องนี้ล่ะ

หนังใช้ชื่อ ‘Polar Rescue’ ตอนฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ และใช้ชื่อ ‘Come Back Home’ ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้สร้างยังคงมั่นใจกับชื่อ ดอนนี่ เยน ว่าจะต้องเรียกผู้ชมชาวจีนได้เป็นอย่างดี ถึงกับปล่อยหนังออกฉายในวันที่ 3 ตุลาคม 2022 ซึ่งเป็นช่วงวันชาติของจีน ที่หยุดยาวกันตั้งแต่วันที่ 1 – 7 ตุลาคม แล้วยังใช้หน้าของ ดอนนี่ เยน คนเดียวลงเต็มหน้าบนโปสเตอร์โปรโมตภาพยนตร์ แต่หนังก็ไม่สามารถเรียกผู้ชมออกมาได้สำเร็จ เพราะยังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลพยายามจะเอาชนะโควิด-19 กับมาตรการ Zero-Covid ที่สนับสนุนให้ผู้คนยังคงอยู่กับบ้าน กลายเป็นอีกปีที่ตลาดหนังในจีนยังคงซบเซา

ครอบครัวแสนสุข ก่อนที่ลูกชายจะหายตัวไป

‘Come Back Home’เป็นผลงานของ ลอ ชิเหลียง (Law Chi-leung) มือเขียนบทและผู้กำกับฮ่องกง ที่มีผลงานออกมานับสิบเรื่องตั้งแต่ปลายยุค 90’s แต่ก็ไม่มีผลงานที่ดังเปรี้ยงปร้างสักเรื่องเดียว ที่เคยเข้ามาฉายในบ้านเราล่าสุดก็เรื่อง ‘The Bullet Vanishes’ ในชื่อไทย ‘ดับแผนล่ากระสุนสั่งตาย’ หนังปี 2015 ชิเหลียงเป็นผู้กำกับที่ไม่ลายเซ็นของตัวเอง ทำหนังแบบสะเปะสะปะก็ว่าได้ เพราะทำทั้ง หนังเด็ก หนังผี หนังตลก หนังแอ็กชัน มาจนถึง ‘Come Back Home’ชิเหลียงยังคงเหมารวมหน้าที่กำกับและเขียนบทเช่นเคย

หนังเล่าเรื่อง่าย ๆ ของครอบครัวเล็ก ๆ ที่มี พ่อ แม่ ลูกชายคนโต และลูกสาวคนเล็ก ที่พากันขับรถไปเที่ยวภูเขาหิมะ ระหว่างทางจะกลับที่พัก รถเกิดติดหล่ม ระหว่างที่พ่อแม่กำลังช่วยกันขุดหิมะออกนั้น ‘พาเว่ย’ เจ้าลูกชายวัย 8 ขวบก็วิ่งทะเล่อทะล่าออกไปกลางถนน ทำให้รถที่วิ่งมาต้องเบรกจนเสียหลัก หลังขอโทษขอโพยคู่กรณี พ่อก็หันมาดุว่าเจ้าลูกชาย ทำให้พาเว่ยเสียใจ งอนพ่อและวิ่งไปซ่อนตัวในกระท่อมข้างทาง พอแก้ไขเรื่องรถติดหล่มได้เรียบร้อย พร้อมจะเดินทางต่อ พาเว่ยก็หายไปจากกระท่อมนั้นเสียแล้ว กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครต้องออกตามหาเด็กน้อยท่ามกลางหิมะที่ตกหนักและหนาวเหน็บ และเป็นภารกิจที่ต้องแข่งกับเวลาเพราะไม่รู้ว่าเด็กน้อยจะรอดชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศเช่นนี้ได้ยาวนานเพียงใด

ดอนนี่ เยน ในบทพ่อที่ตามหาลูกชาย

ว่ากันด้วยพล็อตแม้ไม่แปลกใหม่ แต่ก็มีความน่าสนใจ ชวนติดตามพอดู เพราะหนังเล่าผ่านทางพ่อฝั่งเดียว ในใจก็ค่อนข้างเชื่อล่ะว่า หนังที่ออกฉายในช่วงเทศกาลมงคลแบบนี้ คงไม่ใจร้ายเขียนให้เด็กตายหรอก แต่ก็น่าติดตามว่า ชิเหลียงจะเขียนให้เด็กรอดอย่างไร ในขณะที่ตั้งโจทย์มายากเย็นแสนเข็ญแบบนี้ เยนประเดิมงานดราม่าเต็มตัวครั้งแรกกับบทพ่อที่ไม่น่าประทับใจนัก และไม่น่าจะเป็นที่จดจำของผู้ชม แต่เยนจะจดจำบทนี้ตลอดไป เพราะเป็นหนึ่งในหนังคว่ำในเครดิตของเขาไปแล้ว ชิเหลียงเขียนให้ ‘พ่อ’ ของเยนเป็นพ่อที่ ‘น่ารำคาญ’ มาก และกลายเป็นตัวทำลายหนังเสียเอง เมื่อบทพระเอกของเรื่องกลายเป็น ‘จุดด้อย’ ของหนังเช่นนี้ ก็เข้าใจได้ล่ะ ว่าพ่อย่อมเป็นห่วงลูก แต่พ่อในเรื่องนี้แสดงความเป็นห่วงด้วย อาการหัวร้อน พูดจาโผงผางรุนแรง และก้าวก่ายงานของเจ้าหน้าที่ และรุนแรงที่สุดก็คือการทำตัวให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ต้องเสียกำลังคนมาช่วยเหลือพ่อ แทนที่จะได้ไปตามหาลูกกัน ดูไปก็นึกขอบคุณชิเหลียงที่ไม่เขียนให้แม่และลูกสาวกลายเป็นตัวละครวุ่นวายเพิ่มมาอีก

จนมาครึ่งหลังที่หนังดูจะน่าสนใจขึ้นมาก เมื่อหนังเริ่มสอดแทรกฉากใหญ่อย่าง ภูเขาหิมะถล่มเข้ามา เป็นฉากที่น่าชื่นชมครับ เปลี่ยนภาพลักษณ์จากหนังฟอร์มเล็ก ดูเป็นหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงขึ้นมาเลย กับภาพมุมกว้างที่เห็นความน่ากลัวของหิมะถล่ม บวกกับนักแสดงประกอบหลายสิบคน และไม่ใช่ผ่านไปแบบแว้บ ๆ แต่เป็นฉากที่ลากยาว แม้จะไม่ได้ทำให้เส้นเรื่องหลักเดินไปข้างหน้า แต่ก็เป็นการตอกย้ำความรู้สึก ‘ผิด’ ให้กับผู้เป็นพ่อ ที่เขาแบกรับความรู้สึกนี้มาตั้งแต่แรกว่าเป็นเพราะเขาต่อว่าลูกชาย เลยทำให้ลูกชายน้อยใจหนีไป แล้วยังเป็นสาเหตุที่พาให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากต้องมาเผชิญอันตรายกับหิมะถล่มเช่นนี้ ซึ่งส่งผลให้กับการตัดสินใจกระทำการที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงท้ายของหนัง

ฉากเดินบนแผ่นน้ำแข็ง หนึ่งในฉากระทึกของหนัง

ในช่วงท้ายหนังยังมีฉากให้ลุ้นระทึก กับการเดินบนแผ่นน้ำแข็งเปราะบาง แม้ว่าเรา ๆ ต่างก็เคยเห็นฉากนี้ในหนังฮอลลีวูดกันมาเป็นสิบ ๆ เรื่องแล้ว แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกที่เห็นฉากแบบนี้ในหนังจีน ก็ถือว่าทำออกมาได้ชวนลุ้นดีไม่น่าอายนัก ได้เห็นภาพมุมกว้างที่น้ำแข็งแตกออกไปเป็นเส้น ๆ ได้เห็นภาพจากมุมใต้น้ำ ที่ตัวละครต้องแหวกว่ายหาช่องโผล่ออกไปเหนือผิวน้ำ ก็ซีนที่ถ่ายทอดได้ระทึกดีครับ

แต่ถึงแม้หนังจะมีฉากระทึกสอดแทรกเข้ามาเนือง ๆ แต่อารมณ์โดยรวมของหนังก็ยังคงเป็นดราม่า เพราะผู้กำกับชิเหลียงดูพยายามขับเน้นอารมณ์ดราม่ามากนัก ทั้งอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาจากตัวพ่อที่มองว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความโกลาหลครั้งนี้ ดราม่าจากการสูญเสียทีมงานบางคนไปในระหว่างปฏิบัติภารกิจ ซึ่งหนังตั้งใจบิ้วอย่างมาก ทั้งสีหน้า อารมณ์ สายตา ของบรรดานักแสดงในฉากนั้น บทพูดที่มุ่งเร้าอารมณ์ และดนตรีประกอบที่ตั้งใจบิ้วให้เศร้าสุด ๆ แต่สำหรับตัวผู้เขียนเอง ที่เป็นคนเสียน้ำตาให้กับหนังดราม่าอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่คนใจแข็งอะไรมากมายนัก กลับไม่รู้สึกอะไรกับฉากดราม่าในเรื่องนี้เลยแม้แต่นิด

ฉากภูเขาหิมะถล่ม หนึ่งในฉากใหญ่ของหนัง

ปัญหาน่าจะมาจาก ผู้ชมไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไรกับตัวละครฝั่งเจ้าหน้าที่เลย และตรงนี้ล่ะที่เป็นปัญหาใหญ่ของหนัง เพราะเรื่องราวทั้งหมดเกิดบนภูเขาหิมะ บรรดาเจ้าหน้าที่ก็เลยต้องมาในชุดยูนิฟอร์มสีดำยาวถึงข้อเท้า ใส่ถุงมือดำ หมวกดำ แล้วเรียกขานตำแหน่ง ผู้พัน ผู้กอง สารวัตร กันแทนชื่อ ซึ่งจำเป็นต้องใช้สมาธิพอควรกับการจดจำหน้าตาตัวละครที่ดูเผิน ๆ ก็หน้าตาเหมือนกันหมด ซึ่งยังไม่ทันจะจำได้ครบ ก็ต้องมีการสูญเสียจากไปแล้วหนังก็พยายามเร้าอารมณ์ให้โศกเศร้าเสียเหลือเกิน

สรุป ‘Come Back Home’ เป็นหนังที่ตั้งใจขายดราม่าแต่ฉากดราม่าจุดไม่ติด แถมกลายเป็นจุดด้อยของหนังไปเสียอีก แต่สิ่งที่ทำให้หนังเดินหน้าไปอย่างน่าสนใจคือ ปริศนาว่าหนังจะเขียนให้เจอลูกชายที่ไหนอย่างไร ซึ่งก็เฉลยออกมามีเหตุและผลพอควร และฉากระทึกที่สอดแทรกเข้ามาเนือง ๆ เป็นโปรดักชันใหญ่ที่ภาพออกมาแนบเนียนสมจริงดี เอาใจช่วย ดอนนี่ เยน ต่อไปครับ เชื่อว่ายังไงเขาก็ต้องไปต่อกับหนังดราม่า ส่วนผลงานเรื่องต่อไป เยนกลับไปเล่นหนังแอ็กชันในหนังฮอลลีวูด ‘Sleeping Dogs’ หนังที่ดัดแปลงมาจากวิดีโอเกมปี 2012 ยังไม่ประกาศกำหนดฉาย