รีเซต

ดูหนังออนไลน์ ตํานานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฉบับสมบูรณ์ ครบทั้ง 6 ภาค

ดูหนังออนไลน์ ตํานานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฉบับสมบูรณ์ ครบทั้ง 6 ภาค
Jeaneration
17 มีนาคม 2566 ( 22:00 )
257.1K
11

ดูหนังออนไลน์ ตํานานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

หากจะเอ่ยถึงหนังอิงประวัติศาสตรเรื่องยิ่งใหญ่ในวงการหนังไทยที่กลายมาเป็นแฟรนไชส์หนังชุดมหึมา คงจะหนีไม่พ้นความอลังการของหนังชุด "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่กอบกู้อิสรภาพให้กับไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และยังทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทยออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งสี่ทิศของคาบสมุทรมลายู

เรื่องราวที่ถูกจารึกของพระองค์ได้ถูกตีแผ่ออกมาเป็นหนังฟอร์มใหญ่ ฉบับสมบูรณ์ 6 ภาค ที่ดำเนินเรื่องมาตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ ผ่านศึกสงครามมาหลายเหตุการณ์ ผ่านมุมมองการถ่ายทอดเรื่องราวของ "หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล" และทีมงานระดับนานาชาติ ร่วมด้วยนักแสดงชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทย นี่จึงกลายเป็นหนึ่งแฟรนไชส์หนังไทยอันทรงคุณค่า อัดแน่นด้วยสาระความบันเทิง และเป็นหนังไทยที่มีการใช้งบประมาณสร้างที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว 

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550)

พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา      จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา

สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น

พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า

พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน  สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ  ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์  ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก  สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง

เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม  ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550)

พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 “พระเจ้านันทบุเรง” ขึ้นเสวยราชย์สืบแทน และสถาปนาพระโอรส “มังสามเกียด” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราชา” รัชทายาท ในการนี้เจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายต้องมาร่วมแสดงความสวามิภักดิ์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรด้วย ในขณะที่เจ้าฟ้าเมืองคังไม่ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมอบหมายให้พระมหาอุปราชา, พระราชนัดดา “นัดจินหน่อง” พระโอรสเจ้าเมืองตองอู, และสมเด็จพระนเรศวรช่วยกันเข้าตีเมืองคัง แต่พระมหาอุปราชากลับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเป็นทัพสุดท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทัพของพระองค์และนัดจินหน่องจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะในศึกเมืองคังนี้ สามารถจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังและพระธิดา “เลอขิ่น” กลับมาได้ รัชทายาทหงสาวดีและราชนิกูลฝ่ายพม่าซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เยาว์วัยจึงขุ่นเคืองอาฆาตสมเด็จพระนเรศวรเป็นทวีคูณ

ต่อมาเมื่อเกิดศึกอังวะ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้สมเด็จพระนเรศวรนำทัพมาช่วยรบ แต่พระมหาอุปราชากลับใช้โอกาสนี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแครง แต่ข่าวการลอบปลงพระชนม์ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระนเรศวรผ่านทางพระมหาเถรคันฉ่อง สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเหตุการลอบปลงพระชนม์ในการประกาศอิสรภาพตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญกลับคืนพระนคร

ฝ่ายหงสาวดีเมื่อทราบว่าการลอบปลงพระชนม์ไม่สำเร็จจึงให้นายทัพสุระกำมาเร่งนำทัพออกติดตามทัพของสมเด็จพระนเรศวร ในที่สุดก็ทัพหงสาวดีก็ตามมาถึงในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและไพร่พลกำลังข้ามแม่น้ำ และศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเศวรทรงใช้พระแสงปืนต้นยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพสุระกำมาตายบนคอช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554)

การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร

ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง

กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา  การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554)

ผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยาม กองทัพกษัตริย์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้งพระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า โดยพระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพหลวงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ทัพมังมอดราชบุตร์กับพระยาพระรามตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพพระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทธเลา ทัพนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง ทัพพระเจ้าตองอูตั้งทุ่งชายเคือง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตะนาว

กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของพระเจ้าหงสาที่ยกทัพเข้ามานี้ เมื่อไทยเห็นว่าเป็นศึกใหญ่เหลือกำลังจะต่อสู้เอาไชยชนะได้กลางแปลง จึงเอาพระนครเป็นที่มั่นให้ต้อนคนเข้าพระนคร จัดทัพเป็นกองโจรคอยเที่ยวตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึกอยู่ทุกหนทุกแห่ง การป้องกันพระนครคราวนี้ให้ขุดลำแม่น้ำเป็นคูพระนครทางตะวันออกสำเร็จ ก่อกำแพงด้านตะวันออก ขยายลงไปจนริมน้ำเหมือนกับด้านอื่น ๆ ตั้งปืนใหญ่ประจำป้อมแลกำแพงแข็งแรงเหมือนกันหมดทุกด้านมีปืนใหญ่น้อยกระสุน ดินดำและเครื่องศัตราวุธเสบียงอาหารบริบูรณ์ เสบียงอาหารที่จะขนเข้าพระนครไม่ได้ก็ให้ทำลายเสีย มิให้เป็นกำลังแก่ข้าศึก

ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพม้าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย พระองค์จึงมีรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่โชคดีที่มณีจันทร์ได้ขอชีวิตเอาไว้ การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายของมังจาปะโร เสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ทรงถูกมังจาปะโรใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่าง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงสั่งให้เลิกกองทัพกลับพระนครทันที

พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงมีรับสั่งให้ลักไวทำมูนำทหารไปจัดการพระนเรศวรทันที สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปตีค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที สุดท้ายกองทัพพม่าจึงถอยทัพกลับไป ขณะเดียวกันพระราชมนูยอดทหารเอกกรุงศรีก็ถูกจับตัวไปเป็นเชลย

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (2557)

ในปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์ไพร่พลกว่า 2 แสนข้ามแดนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหมายชิงคืนเป็นประเทศราช ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงใช้พระนครเป็นยุทธภูมิรับศึก และวางยุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือมิทรงปล่อยให้ทัพหงสาที่ล้อมกรุงเป็นฝ่ายรุกรบแต่ฝ่ายเดียว แต่ทรงแต่งกองโจรบุกปล้นค่ายศัตรูให้ต้องตกเป็นฝ่ายรับจนมิอาจรุกเข้าเหยียบถึงคูพระนคร เมื่อล้อมกรุงนานเข้า ทัพหงสาวดีก็ขาดเสบียง สมเด็จพระนเรศก็ทรงนำเรือปืนขึ้นไปยิงถล่มค่ายหลวงพระเจ้านันทบุเรงจนพม่าแตกระส่ำระสาย จอมทัพพม่าบาดเจ็บสาหัสถึงกับเสียพระสิริโฉมและทุพพลภาพ พม่าต้องถอนทัพกลับหงสาวดี และขณะเมื่อค่ายหลวงพม่าแตกนั้น “แม่นางเลอขิ่น” (อินทิรา เจริญปุระ) ก็ได้ช่องช่วย “พระราชมนู” (นพชัย ชัยนาม) จากพันธนาการคืนเข้าอยุธยาได้

พระเจ้านันทบุเรงทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชัยต่อสมเด็จพระนเรศอย่างย่อยยับ จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) ซึ่งตกเป็นองค์ประกันอยู่หงสาด้วยอารมณ์รักและแค้นระคนกัน พระองค์ได้ล่วงประเวณีพระพี่นางพระนเรศและยังทำร้ายพระนางถึงตกพระโลหิต เมื่อ “สมเด็จพระมหาธรรม-ราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาทราบความก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระราชธิดาและแผ่นดินของอยุธยา ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้หงสาวดีกระทำการย่ำยีก็ด้วยเป็นเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้างศัตรู อยู่มาสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา

ข่าวการผลัดแผ่นดินของอยุธยารู้ไปถึงพระเจ้านันทบุเรง พระองค์สำคัญว่าราชอาณาจักรสยามจะไม่เป็นปกติสุข เป็นช่องชวนชิงเชิงจึงโปรดให้ “มังสามเกียด” (นภัสกร มิตรเอม) อุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงดำริจะนำกำลังออกไปรับศึกถึงหนองสาหร่ายแดนเมืองสุพรรณบุรี ด้วยเห็นว่าทัพพระมหาอุปราชานั้นถึงแม้จะมากด้วยกำลังรี้พลแต่ทหารหาญที่เกณฑ์มาหากมิเยาว์ด้วยวัยวุฒิก็ชราภาพ กำลังพลมิได้เข้มแข็งดั่งทัพพระเจ้านันทบุเรง ข้างพระมหาอุปราชานั้นยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ผ่านลงมาถึงเมืองกาญจนบุรีก็ได้แต่เมืองเปล่า ให้ไพร่พลออกเที่ยวลาดหาจับผู้คนก็ไม่ได้ จึงยกพลล่วงลงมาปักค่ายที่ตะพังตรุ

ข้างสมเด็จพระนเรศทรงโปรดให้พระราชมนูแต่งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปดูกำลังข้าศึกถึงหนองสาหร่าย ทัพหน้าพระราชมนูปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน แต่กำลังข้างพระราชมนูน้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศคือ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือ “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ต่างตกน้ำมันวิ่งร่าเบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญ ไพร่พลข้างอยุธยาตามไม่ทันช้างทรง จะมีก็เพียงพลจุกช่องล้อมข้างที่โดยเสด็จไปทัน

ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถฝ่าเข้ามากลางวงล้อมข้าศึกและมาหยุดอยู่หน้าช้างพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรจึงประกาศท้าอุปราชหงสาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีให้ก่อเกิดเป็นเกียรติแก่แผ่นดิน ด้วยขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาก็ไสพระคชาธารออกทำคชยุทธด้วยสมเด็จพระนเรศ ขณะที่พระพี่เลี้ยง “มังจาปะโร” (ชลัฏ ณ สงขลา) ได้ออกทำยุทธหัตถีกับ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) สัประยุทธ์กันเป็นสองคู่ ท้ายที่สุดสมเด็จพระมหาอุปราชาก็ปราชัยสิ้นพระชนม์ด้วยคมง้าวของสมเด็จพระนเรศ ข้างมังจาปะโรก็พ่ายแพ้แก่สมเด็จพระเอกาทศรถตายกับคอช้าง ทัพหงสาก็มีอันปราชัยต้องถอยทัพนำพระศพพระมหาอุปราชาคืนสู่นครหงสาวดี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา (2558)

พ.ศ. 2135  หลังพ่าย “ศึกยุทธหัตถี” ฝ่ายหงสาวดี “พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ทรงโทมนัสที่ต้องสูญเสียพระราชโอรส จึงมีรับสั่งให้คลอกไฟเหล่าแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จ “พระมหาอุปราช” (นภัสกร มิตรเอม) ให้ตายตกตามกัน  ทั้งยังระบายพระโทสะไปที่ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) องค์ประกันและพระราชโอรสธิดาถึงสิ้นพระชนม์ชีพ

ข้าง “สมเด็จพระนเรศวร” (พันโท วันชนะ สวัสดี) นั้น มีพระราชประสงค์จะนำทัพปราบหงสาวดีให้ราบคาบมิให้ตกค้างเป็นเสี้ยนหนาม ครั้นมาได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระพี่นางและพระราชนัดดาก็ยิ่งโทมนัส จึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ หมายเหยียบหงสาวดีให้ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างที่เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะได้จับตัว “พระยาลอ” ผู้สำเร็จราชการแทน ที่ “พระเจ้านันทบุเรง” ส่งให้มาปกครองเมือง ถูก “เม้ยมะนิก” (เต็มฟ้า กฤษณายุธ) ราชธิดาของ “ศิริสุธรรมราชา” เจ้าเมืองเมาะตะมะลอบสังหารเพื่อแก้แค้นแทนบิดา พร้อมรวบรวมชาวรามัญเพื่ออาสาขอเข้าร่วมรบพม่ากับชาวอโยยา

แต่ครั้นเมื่อทัพของพระองค์เสด็จถึงหงสาวดีก็พบแต่เพียงเศษซากของมหานครอันเคยยิ่งใหญ่ ด้วย “นัดจินหน่อง” (นาวาอากาศโทจงเจต วัชรานันท์) ราชบุตรพระเจ้าตองอูได้วางอุบายเชิญพระเจ้านันทบุเรงพร้อมกวาดต้อนผู้คนแลทรัพย์ศฤงคารของหงสาไปไว้ยังตองอูจนหมดสิ้น

ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรจึงทรงยกทัพตามขึ้นไปถึงเมืองตองอู มีพระราชบัญชาให้ “เมงเยสีหตู” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เจ้าเมืองส่งตัวพระเจ้านันทบุเรงออกมาถวาย ด้านนัดจินหน่องเห็นว่าพระเจ้านันทบุเรงที่เชิญมานั้นเป็นภัยชักศึกเข้าบ้านจึงหมายยืมมือสมเด็จพระนเรศวรสังหารพระเจ้านันทบุเรงเสีย แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้านันทบุเรงที่ทรงทุพพลภาพเป็นที่น่าสมเพชก็ให้สลดพระราชหฤทัย ระหว่างนั้น “เมงราชาญี” (รณ ฤทธิชัย) เจ้าเมืองยะไข่ได้แต่งทัพเป็นกองโจรตีลัดตัดเสบียงอยุธยามิให้ส่งข้าวน้ำขึ้นไปเลี้ยงทัพที่ล้อมพระนครตองอูอยู่ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) จึงแบ่งทัพลงมาหมายจะเผด็จศึกยะไข่มิให้เป็นหอกข้างเเคร่ แต่ทรงพลาดท่าถูกเมงราชาญีจับตัวได้ พระราชมนูจำต้องขันอาสานำกำลังลงมาแก้เอาสมเด็จพระเอกาทศรถกลับคืน และยกทัพกลับยังอยุธยา

ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้นได้บังเกิดกษัตริย์ชาตินักรบขึ้นมาแทนพระเจ้าชนะสิบทิศมีพระนามว่า “พระเจ้ายองยาน” ตามชื่อพระนครที่ปกครอง  พระเจ้ายองยานทรงขยายแสนยานุภาพครอบคลุมดินแดนพม่าตอนบน เข้ายึดครองหัวเมืองในรัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย  และทรงกรีฑาทัพเข้าตีเมืองยองห้วยและเมืองแสนหวีซึ่งขณะนั้นล้วนเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงล่วงรู้ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลมไม่ให้อธิราชศัตรูพลิกฟื้นขึ้นมาเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอยุธยาได้อีก สมเด็จพระนเรศวรจึงได้เสด็จยกกองทัพไปตีอังวะ ครั้งนั้น “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์  ชาตรี) และ “พระอัครมเหสีมณีจันทร์” (ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ก็ทูลขอให้งดซึ่งราชการสงคราม สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้สัญญาว่าจะเสด็จไปทำศึกครานี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็ยั้งทัพจัดกระบวนอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้ทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกขึ้นไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหางตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว  อยู่มาสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรจึงโปรดให้ข้าหลวงรีบเชิญเสด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า ครั้นมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยาราชธานี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-------------------------------------

กดเลย community แห่งความบันเทิง 📸เมาท์ข่าวดารา กับเจ๊รุงรังขังรวม
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ 🍿ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล 😍ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย https://bit.ly/34057In