ออสการ์ยังน่าลุ้น! “หลานม่า” มีโอกาสเข้ารอบสุดท้ายหรือไม่ วาไรตี้เผยความลับจากวงในให้รู้กัน
ปิดการโหวตเป็นที่เรียบร้อย สำหรับรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่คณะกรรมการต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อการให้คะแนนทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ จำนวนของภาพยนตร์ที่ถูกส่งเข้าพิจารณาชิงรางวัลที่มากถึง 323 เรื่อง ปัญหาด้านเรตติ้งและจำนวนผู้ชมทางโทรทัศน์ที่ยังคงถดถอย รวมถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ไฟป่าแคลิฟอร์เนียครั้งล่าสุดที่สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลอีกด้วย
การประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลในปีนี้ จะประกาศให้ทราบผ่านสื่อต่างๆ พร้อมกันทั่วโลก ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม ตรงกับเวลาในประเทศไทยประมาณ 20.30 น.
และจะทำการประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม เวลาประมาณ 8.00 น. เวลาประเทศไทย ดำเนินรายการโดยพิธีกรหนุ่มใหญ่อารมณ์ดี โคนัน โอไบรอัน (Conan O’Brien) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่บนเวทีออสการ์เป็นครั้งแรก
ทรูวิชั่นส์ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดสดไปให้ทุกคนได้ลุ้นกันพร้อมกับแฟนหนังทั่วโลก ผ่านช่อง True Film 1 หมายเลข 222 รับชมได้ทั้งแบบกล่องและสตรีมมิ่งที่แอปทรูวิชั่นส์ นาว
หนึ่งสิ่งที่น่าจับตามองที่สุดในการประกวดรางวัลภาพยนตร์ของปีนี้ คือการที่แต่ละเวทีประกวดต่างมีแนวทางการคัดเลือกผู้เข้าชิงในแต่ละสาขา และมีผลการตัดสินที่แตกต่างกันออกไป ต่างจากหลายปีก่อนหน้าที่ผู้ชมมักใช้ผลรางวัลจากเวทีประกวดก่อนหน้ามาเป็นเครื่องกะเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับรางวัลออสการ์
เคลย์ตัน เดวิส (Clayton Davis) คอลัมนิสต์จากสื่อยักษ์ใหญ่ Variety ผู้ซึ่งคลุกวงในอยู่กับสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานออสการ์ ได้เผยถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ของการตัดสินใจลงคะแนนโหวตให้กับภาพยนตร์ต่างๆ ของบรรดาสมาชิก ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนดังนี้
1. ความยาวของหนังมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินรางวัล
หลายคนมักเข้าใจผิดว่ายิ่งหนังยาวมากเท่าไหร่ จะยิ่งมีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นอาจเป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากสมาชิกบางส่วนยอมรับว่าพวกเขาไม่สามารถดูหนัง The Brutalist ของผู้กำกับ แบรดี คอร์เบ็ต (Brady Corbet) ที่มีความยาวกว่า 3 ชั่วโมงครึ่งจนจบได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เฟลิซิตี้ โจนส์ (Felicity Jones) ซึ่งมีบทบาทในช่วงครึ่งหลังของเรื่องถูกมองข้ามไปจากการประกวดหลายๆ เวที
2. อิทธิพลของรางวัลลูกโลกทองคำ
แม้หลายปีที่ผ่านมาผู้ชนะระหว่างรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำจะมีความแตกต่างกันเกือบจะสิ้นเชิง แต่สมาชิกหลายคนยอมรับว่ารางวัลลูกโลกทองคำมีผลต่อภาพยนตร์ที่พวกเขากำลังให้ความสนใจ เช่น I’m Still Here และการแสดงของเฟอร์นันดา ตอร์เรส (Fernanda Torres) ผู้ชนะลูกโลกทองคำนำหญิงในปีนี้ รวมถึง Emilia Perez, Conclave และ A Real Pain ที่กระตุ้นให้พวกเขาต้องการรับชมมากยิ่งขึ้น
3. เสียงวิจารณ์ และแรงเชียร์จากคนดู อาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ
ยังคงเป็นที่กังขามาตลอดว่าเหตุใดจึงเกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “หนังยอดเยี่ยม” ในสายตาของผู้ชมและนักวิจารณ์ กับการตัดสินใจของคณะกรรมการผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน
ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์หลายเรื่องในปีนี้ เช่น Nickel Boys ของ ราเมล รอส (Ramell Ross) และ Hard Truths ของ ไมค์ ลีห์ (Mike Leigh) ต่างได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก และเสียงชื่นชมจากคนดูอย่างล้นหลาม แต่กลับไปได้ไม่สวยนักบนเวทีการประกวดต่างๆ
ในทางกลับกลับ ภาพยนตร์ที่มีการต่อต้านอย่างเผ็ดร้อนอย่าง Emilia Perez ของ ฌาร์ค ออดิอาร์ด ที่ผู้ชมต่างเทคะแนนลบให้บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes กลับเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากมาย และมีแนวโน้มที่จะสร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากที่สุดง
แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการผู้ลงคะแนนต่างมีเกณฑ์การตัดสินของตนเอง โดยอ้างอิงจากรสนิยมส่วนตัวมากกว่าการตัดสินจากมุมมองภายนอก
4. ความเบื่อหน่ายต่อข่าวร้ายและเรื่องดราม่า
เคลย์ตันเผยว่าประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนจากการได้พูดคุยกับเหล่าสมาชิก คือทุกคนต่างเบื่อหน่ายกับข่าวร้ายและเรื่องราวดราม่า พวกเขาพยายามมองหาภาพยนตร์ที่ดูแล้วไม่ต้องขบคิด ได้รับความสุขสนุกสนาน และช่วยให้หลีกหนีจากโลกแห่งความจริงได้ อย่างเช่น Wicked และ A Complete Unknown เป็นต้น
ซึ่งตัวเขาเองเชื่อว่าหากคณะกรรมการส่วนใหญ่เลือกภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาจรรโลงใจ สาขาที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดคือสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม เนื่องจากในปีนี้มีรายชื่อหนังจำนวนมากที่ยอดเยี่ยมแต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าหดหู่ เช่น The Seed of the Sacred Fig จากเยอรมนี, Santosh จากสหราชอาณาจักร, From Ground Zero จากปาเลสไตน์ และ I’m Still Here จากบราซิล เป็นต้น (ซึ่งหากคณะกรรมการมองว่า "หลานม่า" มีเนื้อหาที่จรรโลงใจและถูกจริต ก็อาจมีสิทธิ์ได้เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย เช่นเดียวกันกับ Kneecap จากไอร์แลนด์ และ Flow ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากลัตเวีย)
5. ปรากฏการณ์ “การโกงหมวดหมู่” ที่มีทีท่าหนักข้อขึ้น
หลายปีมานี้เราได้ยินคำว่า “การโกงหมวดหมู่” หรือ “Category Fraud” กันหนาหูขึ้น ทั้งในสื่อต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย และในกลุ่มผู้ลงคะแนน
การโกงหมวดหมู่ อธิบายโดยง่ายคือการสลับบทบาทการแสดงของตัวละคร เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับรางวัล
ตัวอย่างเช่นในปีนี้ Emilia Perez ส่ง โซอี ซัลดานา (Zoe Saldana) เข้าชิงในสาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม ทั้งที่เธอมีจำนวนเวลาบนจอมากกว่า คาร์ลา โซเฟีย กัสคอน (Karla Sofia Gascon) ที่ถูกเลื่อนขึ้นไปเป็นนำหญิงแทน
รวมถึง เคียแรน คัลกิน (Kieran Culkin) ใน A Real Pain และ อารีอานา กรานเด (Ariana Grande) ที่แจ้งเกิดจาก Wicked ก็ต่างถูกลดบทบาทมาเป็นนักแสดงสมทบแทน ทั้งที่เป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่องเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้วความพยายามในการโกงรายชื่อ เพื่อส่งให้นักแสดงจากภาพยนตร์ของตัวเองมีโอกาสได้รางวัลสูงขึ้นนี้ จะสำเร็จผลหรือไม่ หรือคณะกรรมการอาจพร้อมใจกันโหวตให้กับนักแสดงคนอื่นที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสมกับบทบาทของตัวเอง ต้องติดตามการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ แบบห้ามกระพริบตา
ร่วมลุ้นรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล และเชียร์ให้ “หลานม่า” เข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้ายสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมไปพร้อมกัน วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม เวลา 20.30 น. ถ่ายทอดสดทางช่อง True Film 1 (222)
ที่มา: https://variety.com/2025/film/columns/oscar-voting-closes-juror-no-2-challengers-surprise-1236277811/