รีเซต

[รีวิวซีรีส์] The Lord of the Rings: The Rings of Power ซีซัน 2 สนุกตั้งแต่ตอนแรกเป็นแล้ว

[รีวิวซีรีส์] The Lord of the Rings: The Rings of Power ซีซัน 2 สนุกตั้งแต่ตอนแรกเป็นแล้ว
แบไต๋
1 กันยายน 2567 ( 09:00 )
701

ดูเหมือน Prime Video จะยังไม่ยอมแพ้กับการสร้างแฟรนไชส์เรือธงไว้ประดับแพลตฟอร์มของตนเอง แม้ว่า ‘The Lord of the Rings: The Rings of Power’ ในซีซันแรกสร้างความเคลือบแคลงใจในหมู่คนดูทั้งที่เป็นสาวกบทประพันธ์ของ เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน (J.R.R. Tolkien) หรือแม้แต่คนดูหนังแฟนตาซีทั่วไปว่ามันจะเป็นงานที่คุ้มค่าการดูหรือไม่ อาจด้วยการปูเรื่องเนิ่นนานและเนิบช้า แถมด้วยเส้นเรื่องมากมายเกินไป มีตัวละครเยอะยุ่บยั่บ ยากแก่การจดจำ จนคนดูเบื่อในช่วงครึ่งแรกของซีซัน (ก็ลองคิดดูว่าแค่สรุปผลพวงจากซีซันก่อนในเรื่องย่อต้องยาวขนาดไหน) ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหลายอย่างจากบทประพันธ์เช่นเอลฟ์ผิวดำที่ทำให้รู้สึกว่าผู้สร้างพยายามจะตื่นรู้เรื่องความเท่าเทียม (Woke) ที่มากเกินไปหรือเปล่า

กว่าจะเริ่มเข้าท่าเข้าทางก็ไปช่วงหลังที่เริ่มใส่ฉากแอ็กชันมากขึ้น และการผูกเรื่องที่ชวนให้สงสัยติดตามว่าตัวละครบางตัวนั้นเก็บซ่อนสิ่งใดไว้ และเมื่อการเฉลยของเซารอนตัวจริงมาถึงก็ทำให้เรื่องเข้มข้นขึ้นมาก เพราะเซารอนไม่ใช่ตัวร้ายชนิดที่สร้างกองทัพมหึมาเข้าครอบครองดินแดน แต่มันคือความชั่วที่ล่อลวงให้ทุกคนทุกฝ่ายเล่นไปตามแผนการของมันอย่างแยบยล เป็นสไตล์ตัวร้ายแบบเล่นเกมจิตวิทยาปั่นหัวผู้คน ทำให้เห็นภาพของซีรีส์ว่ามันจะไม่ได้เป็นหนังแบบ ‘The Lord of the Rings’ ของ ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) ที่เป็นเอพิกแฟนตาซีแบบที่ดูซื่อตรงกว่า อาจด้วยความยาวของแบบซีรีส์ที่ทำให้ผู้สร้างอย่าง แพทริก แมกเคย์ (Patrick McKay) และ จอห์น ดี. เพย์น (John D. Payne) สามารถค่อย ๆ ปั้นงานที่แฝงดราม่ากับระดับความลึกของความสัมพันธ์ตัวละครได้มากกว่า และทำให้มันใกล้งานซีรีส์สมัยนิยมของอีกค่ายอย่าง ‘House of the Dragon’ ที่เหมือนจะพยายามชนกันอยู่ในที

แต่มันอาจเป็นความเสี่ยงที่ถูกต้อง เพราะการแลกซีซันแรกที่ยุ่งยากน่าเบื่อหวังจะพยุงด้วยงานซีจีฟอร์มยักษ์จนพอเอาตัวรอด แต่ก็ยังถูกครหาว่าเป็นการทุ่มงบประมาณที่ทำมากได้น้อยนั้น มันคือการสร้างปมเรื่องราวหลายเส้นเรื่องที่แข็งแรงขึ้นจนมันมาทำงานในซีซันที่ 2 สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยขนาดไหน

ในซีซันนี้จุดน่าสนใจหนึ่งคือ นอกจากเราจะได้มองเรื่องราวผ่านสายตาของตัวนำในแต่ละเส้นเรื่อง เช่น กาลาเดรลกับเอลรอนด์ในฝั่งเอลฟ์ โนริกับอิสสตาร์ในฝั่งพ่อมด ดูรินในฝั่งคนแคระ อีเลนดิลแม่ทัพของราชินีมิริเอลในฝั่งเมืองมนุษย์นูเมนอร์ที่มั่งคงลอยตัว เอรอนเดอร์กับธีโอในฝั่งชาวบ้านมิดเดิ้ลเอิร์ธ อดาร์ในฝั่งออร์ก ที่เหมือนเกลียวเชือกที่ค่อย ๆ พันเข้าหากัน เรายังจะเห็นการเดินเรื่องผ่านสายตาของตัวร้ายอย่างเซารอนที่ใช้ทุกวิถีทางทั้งปลอมแปลงปลิ้นปล้อนซ้อนแผนทดแทนความไร้พลังอำนาจที่ยังไม่กลับคืนมา ซึ่งมันเหมือนการหยอดกาวลงในเกลียวเชือกที่ทำให้เส้นเรื่องรวมมันยิ่งแข็งแรงหนักแน่นเข้าไปอีก

ผู้กำกับสาว ชาร์ลอตต์ แบรนด์สตรอม (Charlotte Brändström) ที่เคยผ่านงานซีรีส์ ‘The Witcher’ (2019) และ ‘Shogun’ (2024) ครั้งนี้ได้มาสานงานต่อจากซีซันแรก โดยได้ผู้กำกับสาว หลุยส์ ฮูเปอร์ (Louise Hooper) จากซีรีส์ ‘The Sandman’ (2022) มาช่วงแบ่งเบา และเป็นการรวมทีมที่น่าสนใจทีเดียวเมื่อขาดชื่อเบอร์ใหญ่อย่างผู้กำกับ เจ.เอ. บาโยนา (J.A. Bayona) ที่ช่วยเบิกฤกษ์เอาชัยใน 2 ตอนแรกของซีซันก่อนไว้ เพราะมันยังเต็มไปด้วยโปรดักชันที่สวยทุกฉากไม่ว่าจะมีซีจีมาเกี่ยวหรือไม่ วิสัยทัศน์ในการนำเสนอยังแฟนตาซีสาแก่ใจแฟน ๆ และยังครบเครื่องไปด้วยฉากดราม่าห้ำหั่นคม ๆ และฉากบู๊ที่ซัดกันเว่อวัง

และที่ทำให้รู้สึกทั่งตั้งแต่ตอนแรกของซีซัน 2 คือ มันเปิดด้วยฉากการตายของเซารอนก่อนเลย เพื่อให้เห็นปมระหว่างเซารอนกับอดาร์ แถมผลที่ต้องการอย่างการเสนอภาพว่าเซารอนตอนนี้ไร้พลังและอ่อนแอเพียงใด แต่มันก็ยังเป็นภัยคุกคามที่น่าหวาดหวั่นเพราะจะถูกทำลายร่างไปแล้วแต่ด้วยมันสมองและเล่ห์กล มันก็ยังเข้าหาผู้คนเพื่อปั่นหัวจนเอาชนะได้ตามประสงค์ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่านักแสดงที่รับบทนี้อย่าง ชาร์ลี วิกเกอร์ส (Charlie Vickers) มีเสน่ทั้งหน้าตาและการแสดงที่ชวนให้หลงจริง ๆ จนเข้าใจเลยว่ากาลาเดรลทำไมกลัวใจตัวเองนักที่จะเจอหน้าอีกครั้ง และมีบางช่วงผู้ชมอาจเผลอลุ้นเอาใจช่วยตัวร้ายที่ถูกกระทำจนซมซานให้เอาคืนสำเร็จโดยไม่รู้ตัว จะบอกว่าซีซันนี้คือเรื่องราวของเซารอนเลยก็ไม่แปลกนัก

และไม่ได้เป็นแค่แฟนตาซีที่ธรรมะปะทะอธรรมทื่อ ๆ เท่านั้น เรื่องราวยังเดินหน้าโดยตรงกับแฟรนไชส์เพราะซีซันนี้เราจะได้เห็นแล้วว่าเซารอนสร้างแหวนทั้งหมดขึ้นมาได้อย่างไร โดยมันขับเน้นด้วยธีม ตัวเลือกและการเลือก ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ต้นเราจะเห็นเลยว่าทุกตัวละครในเรื่องถูกบีบให้เชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว อันเป็นจุดที่เซารอนนำมาใช้ประโยชน์ เอลฟ์เชื่อว่าอาณาจักรจะดับสิ้นต้องกอบกู้ต้นไม้แห่งชีวิตเท่านั้น แต่ในอีกทางเอลรอนด์ก็ชี้ให้เห็นตลอดว่าเอลฟ์อาจเลือกความรอบคอบแล้วลี้ภัยคืนดินแดนภูติละทิ้งมิดเดิ้ลเอิร์ธเสียก็ได้ การปล่อยวางอาจดีกว่าการยอมรับพลังที่น่าเคลือบแคลงที่จะเป็นต้นตอของหายนะ แต่เซารอนก็มองออกว่าบาปของพวกเอลฟ์คือความมั่นนั่นล่ะ เพราะมั่นใจว่าตนจะไม่ลุ่มหลงในอำนาจของแหวน มั่นใจว่าโลกจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเอลฟ์ มั่นใจว่าพวกตนปราดเปรื่องที่สุดและเป็นความหวังเดียวที่จะปราบเซารอน นำไปสู่เส้นทางที่เซารอนขีดเขียนอย่างไม่รู้ตัว

การได้ดูซีรีส์ในซีซันนี้ถือว่าเข้าฝักขึ้นมาก สนุกตั้งแต่ตอนแรก แถมยังทิ้งจุดชวนถกชวนคิดตามหลายอย่างทีเดียว บางมุมก็ชวนนึกถึงมนุษย์เราเหมือนกัน ได้เห็นคนบ้าอำนาจเล่นเกมอำนาจโดยคิดว่าตนอยู่เหนือเกมเหล่านั้นได้ จะไม่ถูกอำนาจหรือเกมเหล่านั้นเล่นกลับ แต่พอมองผ่านคติคิดที่ได้จากซีรีส์ก็รู้สึกว่ามนุษย์เราก็โง่เขลาและมืดบอดได้ไม่ต่างจากเอลฟ์ ราชาคนแคระ และเหล่าราชามนุษย์ผุ้พยายามครอบครองแหวนแห่งมิดเดิ้ลเอิร์ธเลย

โดย ธนพล น้อยชูชื่น