บูม-แม๊กกี้ นำทีมนักแสดง “ฝายน้ำใจ” ยึดหลักคำสอนของพ่อหลวง เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
บูม-กิตตน์ก้อง ขำกฤษ และ แม็กกี้-อาภา ภาวิไล สองนักแสดงนำละครเทิดพระเกียรติ “ฝายน้ำใจ” กักเก็บรักษ์ไว้ ไม่แห้งจากดิน ผลิตโดยบริษัท แคนดิดส์ อินทีเรีย จำกัด โดยผู้จัดฯ คุณเกตุ-เทพจุฬา เจียรนัย โดยมีวัตถุประสงค์หยิบยกเรื่องฝายชะลอน้ำ และหลักการทรงงาน 9 คำสอนของพ่อหลวง มาถ่ายทอดเป็นละคร จากปลายปากกาของ เพ็ญจันทร์ วงศ์สมเพ็ชร บทโทรทัศน์โดย เพ็ญจันทร์ วงศ์สมเพ็ชร, ธันยนันท์ สังข์เทศ และกำกับการแสดงโดย เพ็ญจันทร์ วงศ์สมเพ็ชร ชักชวนเพื่อนๆ นักแสดงร่วมถ่ายทอดความรู้สึกในการนำหลักคำสอนของในหลวงมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละคนยึดหลักคำสอนที่ว่า….
บูม-กิตตน์ก้อง ขำกฤษ
“บูมโชคดีมากครับที่ได้เป็นทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์ ดีใจมากที่ได้เป็น ทหารของพระราชา จากที่รักประเทศชาติ รักพระองค์ท่านมากอยู่แล้ว ก็ยิ่งรักท่านมากขึ้น และรู้ว่าท่านสร้างประโยชน์เอาไว้เยอะมาก ทุกอาชีพ ทุกที่ที่เราไป คือท่านเหนื่อย และทำเพื่อเรามาตลอด สิ่งที่บูมนำหลักคำสอนของท่านมาใช้ในชีวิตประจำวันคือเรื่องของความพอเพียง ปกติบูมไม่ใช้ของแพง ใช้เท่าที่เรามี กินเท่าที่จำเป็น และเป็นคนที่พอเพียง และเกี่ยวกับการทำความดี เพราะว่าท่านก็เป็นแบบอย่างให้เราเห็นอยู่แล้ว เรื่องของการทำความดี อย่างน้อยก็เกิดผลดีกับตัวเรา และไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน”
แม็กกี้-อาภา ภาวิไล
“เมื่อก่อนเวลาแม็กกี้ทำงานหนักๆ เหนื่อยมาก เหนื่อยจนรู้สึกว่า ทำไมเหนื่อยแบบนี้ แต่พอเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพ่อองค์ท่าน เชื่อมั้ยว่า แม็กกี้มีแรงมีกำลังใจขึ้นมาทันที เพราะท่านทำงานเหนื่อยที่สุดแล้ว ท่านทำงานหนักกว่าเราร้อยเท่าพันเท่า พระองค์ท่านคือคนที่ทำงานหนัก และเสียสละทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีความสุข ในเวลาที่แม็กกี้รู้สึกอ่อนแอ อ่อนล้า ก็จะนึกคำสอนของท่าน เราเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้นเอง ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ทำให้เรามีแรงมากขึ้นจริงๆ ค่ะ”
ซีแนม สุนทร
“ใช้หลักคำสอน พอเพียง สำหรับหนูหมายความว่า ไม่ใช่ว่าไม่กินเลยหรือตรากตรำ พอเพียงของหนูคือพอเพียงในเรื่องของจิตใจ สมมติว่าตื่นมากินอาหาร ทำหน้าที่ของตัวเอง ออกไปทำงาน ทำทุกอย่างให้มันพอดี คำว่าพอดีของหนูคือ พอเพียง คนอื่นอาจจะมีไม่เท่ากัน แต่สำหรับหนูคือมีความสุขให้พอดี มีความทุกข์ให้พอดี ทำงานให้พอดี มีเงินให้พอดี เพราะถ้าเราทำงานมากจนเกินไป มันก็อาจจะเหนื่อย มัวแต่หาเงินมากจนเกินไปเราก็อาจจะทุกข์ ความสุขของหนูคือการทำทุกอย่างให้พอดี ตอนที่เข้าวงการมาแรกๆ คือต้องทำงานให้มากๆ พอย้อนกลับมาคิด พ่อบอกว่าทำทุกอย่างให้พอดี ใช้ชีวิตให้พอเพียง เราจะมีความสุข และดำเนินชีวิตทุกอย่างด้วยความพอเพียง”
วรรณษา ทองวิเศษ
“ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม”
นุ้ย-เกศริน เอกธวัชกุล
“นุ้ยรักและเชื่อพ่อค่ะ นุ้ยนำหลักคำสอนของในหลวงมาใช้ทุกข้อเลยค่ะ จริงๆแล้วในชีวิตคนเรานี้มีหลายบทบาท เราต้องอยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุข ต้องรู้จักเป็นผู้ให้ รู้จักเสียสละ ทุกวันนี้นุ้ยมีท่านเป็นแบบอย่างที่ดี นุ้ยจึงมาทำงานอาสาสมัครร่วมกตัญญู และหลายองค์กร นอกจากนี้คำสอนของพ่อทุกข้อเป็นธรรมเป็นสัจธรรม ที่เราสามารถน้อมนำมาใช้ได้ทั้งหมด ข้อคิดในการใช้ชีวิต เช่น อย่าทำลายความหวังของใคร เพราะเขาอาจจะเหลืออยู่แค่นั้น รู้จักฟังให้ดีหัดทำสิ่งดี ใครจะวิจารณ์เราก็ช่าง ไม่ต้องเสียเวลาโต้ตอบ ให้โอกาสผู้อื่นเป็นครั้งที่ 2 แต่อย่ามีครั้งที่ 3 อย่าวิจารณ์นายจ้าง พูดจริง ทำจริง และอีกหลายๆ ข้อ อย่างข้อความของนายวิทย์ อนันตะ พระองค์ทรงตรัสว่า “เป็นครูใช่ไหม” ผมรีบกราบทูล “ใช่ครับ” ทรงตรัสว่า “ขอฝากเด็กๆ ด้วยนะ ช่วยสอนให้เขาเป็นคนดี” ซึ่งนุ้ยมีความผูกพันเป็นห่วงเด็กๆเยาวชนคนไทย การที่เราเป็นครูสอนเต้นในโครงการทูบีนัมเบอร์วัน และเป็นครูอาสาสมัครและวิทยากร การที่เราได้มีโอกาสสอนสัคคสาสมาธิ และเป็นครู ก็จะนำหลักคำสอนของพ่อหลวงมาใช้ในการทำงาน เป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจในการทำสิ่งดีๆและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตค่ะ”
นึกคิด บุญทอง
“ผมใช้หลักคำสอนของในหลวงในเรื่อง พอเพียง เราใช้สอนลูกมาตลอด เราเคยลำบากมาก่อน ไม่ว่าวันนี้เราจะมีอะไร แต่ก็ต้องนึกถึงตอนที่เราลำบาก เมื่อก่อนเงินหนึ่งร้อยบาทก็ยังหายากเลย ก็พยายามบอกตัวเอง และสอนลูกหลานให้รู้จักประหยัด ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อครับ”
ครีม-ธิชาชา บุญเรืองขาว
“สำหรับครีม ครีมยึดหลักคำสอนของพ่อหลวงเรื่องการ พอเพียง และพออยู่ พอกินค่ะ คือคำว่า พอเพียง นี่ มหัศจรรย์มากนะคะ ตอนแรกครีมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร ต้องประหยัดมากแค่ไหน หรือต้องใช้ชีวิตอย่างไร แต่พอศึกษาจริงๆ แล้ว หลักคำสอนในเรื่องความพอเพียง ก็คือ ความพอดี เหมือนหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าคือ การเดินทางสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ครีมมองว่าในหลวงของเราคือ พระพุทธเจ้า อีกองค์หนึ่งเลยนะคะ เมื่อก่อนครีมยอมรับว่าครีมใช้ชีวิตแบบไม่คิดอะไรมาก แต่พอมาศึกษาคำว่า พอเพียง นี่เข้าใจเลยค่ะ และบอกกับตัวเองว่าจะนำหลักคำสอนของท่านมาใช้ในชีวิตจนกว่าจะสิ้นลมหายใจค่ะ”
ชิน-ชินตวัน อัครนพธนา
“ชินยึดหลักคำสอนในเรื่องของ ความพอเพียง ครับ ข้อนี้เป็นอะไรที่ถูกต้องที่สุด ชินรู้สึกว่าในหลวงท่านท่านทรงมีพระปรีชาสามารถมากๆ ท่านคิดหลักคำสอนข้อนี้มาให้กับประชาชนของท่าน ทำให้ประชาชนของท่านได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ประชาชนของท่านรู้จักความพอเพียง พอดี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี ชิน อยู่ด้วย ความพอดีของชิน คือ ไม่ทุกข์เกินไป ไม่สุขเกินไป เดินทางสายกลาง ทำทุกอย่างให้พอดีครับ”
อาร์ม-สุกวิน แก้วพิกุล
“ผมใช้หลักคำสอนเรื่อง พอเพียง ครับ คือใช้แต่พอดี ซื้อแต่พอดี เท่าที่จำเป็น แต่ถ้าหาเงินมาได้ แล้วจำเป็นต้องซื้อ ก็ซื้อครับ คือโดยรวมแล้วจะมองในเรื่องของความพอดี พอกิน พอใช้ครับ ซึ่งผมเองก็ยึดหลักคำสอนนี้มาใช้หลายปีครับ โดยตอนเด็กๆ ยังหาเงินเองไม่ได้ ก็จะไม่ค่อยเห็นค่าของเงิน อยากได้อะไรก็ขอเงินพ่อแม่ โดยไม่คำนึงว่าจะจำเป็นหรือมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน พอเข้าวงการมา หาเงินใช้ได้เองถึงรู้ซึ้งถึงคำว่า พอเพียง และพอดีครับ”
จัสมิน ริชเทอร์
“หนูจะยึดหลักการทำความดีค่ะ ในหลวงท่านสอนว่า ทำความดี อาจจะทำยาก คนไม่เห็นคุณค่า แต่ก็จำเป็นต้องทำค่ะ เพราะคนดีจะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ค่ะ คนดีก็คือคนดี คนดีคือคนทำความดี หนูก็จะพยายามเป็นคนดี และทำความดีให้ถึงที่สุดค่ะ”
ชมทีวีออนไลน์ช่อง 7 แบบสดๆ ได้ที่นี่ |