รางวัลซีไรต์ หรือ S.E.A. Write - Southeast Asian Writers Award มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน” ซีไรต์ถือกำเนิดขึ้นโดย Kurt Wachtveitl - เคิร์ท วาชไฟท์ล ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมโอเรียลเต็ล เขาต้องการสร้างรางวัลนี้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะเดิมนั้น โรงแรมโอเรียลเต็ล มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนักเขียนชื่อดังของโลกมาอย่างยาวนาน ตัวโรงแรมเองก็มีตึกที่ชื่อว่า “ตึกนักเขียน” (Author Residence) ซึ่งภายในตึกนั้นก็มีห้องต่าง ๆ ที่ตั้งชื่อขึ้นตามนักเขียนคนสำคัญที่เคยมาพักที่โรงแรม อย่างเช่น โนเอล โคเวิร์ด - Noel Coward โจเซฟ คอนราด - Joseph Conrad ซัมเมอร์เซ็ต มาห์ม - Somerset Maugham บาร์บารา คาร์ตแลนด์ - Barbara Cartland เจมส์ เอ. มิเชอเนอร์ - James A.Michener จอห์น เลอ กาเร - John le Carré และ เกรแฮม กรีน - Graham Greene ภาพโดย iSSANDYรางวัลซีไรต์ ถือกำเนิดเริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2522 โดยมีการจัดประชุมร่วมกันหลายฝ่ายทั้งจากคณะกรรมการจากโรงแรมเอง สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เริ่มต้นจากนักเขียน 4 ประเทศ จนกระทั่งกลายมาเป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้แก่นักเขียนใน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยมีหลักเกณฑ์ให้องค์กรนักเขียนของแต่ละประเทศพิจารณาผลงานเขียน และส่งชื่อเจ้าของผลงานวรรณกรรมในแต่ละปีรางวัลซีไรต์ มีวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้คือ- เพื่อให้เป็นที่รู้จักถึงความสามารถและงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน- เพื่อให้เป็นที่ทราบถึงโภคทรัพย์ของงานวรรณกรรม วรรณศิลป์ ลิขสิทธ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ของกลุ่มประเทศอาเซียน- เพื่อส่งเสริมเกียรติอัจฉริยะทางวรรณกรรมของนักเขียน- เพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพอันดีในหมู่นักเขียนและประชาชนทั่วไปในกลุ่มประเทศอาเซียนภาพโดย iSSANDYรางวัลซีไรต์ แบ่งการตัดสินรางวัลเป็นรายปี โดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละประเภทงาน คือ นวนิยาย กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และมีหลักเกณฑ์ย่อย ๆ แตกต่างตามแต่ละประเภทผลงานที่ส่งเข้าร่วมพิจารณา โดยมีคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ แบ่งออกเป็น คณะกรรมการคัดเลือก (Selection Committee) และคณะกรรมการตัดสินรางวัล (Board of Juries) ในปี 2563 นี้ก็หมุนเวียนมาถึงรอบของงานประกวดประเภทกวีนิพนธ์ ซึ่งถึงขณะนี้เหลือผลงานเข้ารอบจากการประกาศ long list ออกมาแล้ว 17 เล่ม และยังคงต้องรอลุ้นกันว่า จาก 17 เล่มนี้ เล่มใดบ้างจะได้พิจารณาเข้าสู่รอบต่อไปของซีไรต์ภาพโดย iSSANDYรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ มีนักเขียนและสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ส่งผลงานเข้าประกวดตามประเภทนั้น ๆ มากมายในแต่ละปี การที่ผลงานได้ผ่านเข้ารอบลึก ๆ จากการตัดสินของคณะกรรมการ หรือการคว้ารางวัลวรรณกรรมซีไรต์มาครองได้ก็จะส่งผลทางบวกในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งผลงานส่วนตัวอันน่าภาคภูมิใจ ทั้งผลงานจากสำนักพิมพ์นั้น ๆ ที่ร่วมกับนักเขียนออกผลงานมาซึ่งก็จะส่งผลถึงชื่อเสียง เป็นที่รู้จักมากขึ้น และส่งผลถึงยอดขายอีกด้วย เพราะหากหนังสือเล่มนั้น ๆ ได้รางวัลซีไรต์ สำนักพิมพ์ก็ต้องออกหนังสือปกใหม่เพื่อให้มีตราประทับของซีไรต์ติดมาบนปกด้วย เพื่อผู้คนที่สนใจหนังสือของนักเขียนที่ได้รับรางวัลจะได้ง่ายต่อการหามาอ่าน และครอบครองเป็นเจ้าของ แต่สุดท้ายแล้วไม่ใช่หนังสือที่ไม่ได้รับรางวัลจะกลายเป็นหนังสือที่ไม่น่าอ่าน เล่มที่ได้รางวัลเราอ่านแล้วอาจจะไม่ชอบก็ได้ การอ่านหนังสือ งานวรรณกรรมต่าง ๆ เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว ที่ไม่มีใครมาตัดสินแทนใครได้ และรางวัลก็เป็นเรื่องของรสนิยมของกรรมการในการตัดสินรางวัลนั้น ๆ เช่นเดียวกันส่วนตัวแล้วตามอ่านตามเก็บงานเขียนทั้งที่ได้รางวัล และเข้ารอบซีไรต์มาแล้วหลายเล่ม หากถามถึงความประทับใจที่ต้องเลือกขึ้นมาแนะนำ ก็คงเป็น คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ ที่ได้รางวัลในประเภของนวนิยาย เมื่อปี 2524 ที่พูดเรื่องปมความขัดแย้งในชุมชน การลงโทษของกระบวนการทางสังคม ต่อฟักและสมทรง ตัวละครในเรื่อง ที่ถูกความเชื่อความงมงายตีตราว่าเป็นคนชั่วคนเลว โดยขาดหลักเหตุผลอันเชื่อได้ว่าจริง หรือ ไม่จริงอย่างไร ในคำพิพากษาสะท้อนสภาวะการณ์ของสังคมไทยบริบทที่ทับซ้อนกันกับโลกแห่งความเป็นจริง ที่เรายังคงหาอ่านได้จากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์งานเขียนของชาติ กอบจิตติ มีลักษณะสอดแทรกสัญญะอยู่ระหว่างบรรทัดในตัวหนังสือ เล่นกับความรู้สึกนึกคิดในระดับจิตใจด้านมืดดำของมนุษย์ที่ปรากฎเด่นชัดในตัวละครหลายตัว สังคมเราต่างทำตัวเป็นผู้พิพากษาเสียเองไม่รู้ต่อกี่เรื่อง และสุดท้ายก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ขาดการทบทวน แถมยังผลิตซ้ำกระบวนการนี้อย่างไม่รู้จบ ส่วนอีกเรื่องที่อยากแนะนำ เป็นหนังสือบทกวี ที่ชื่อ ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ถือเป็นมิติใหม่ของการคว้ารางวัลบทกวีซีไรต์ เนื่องจากเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่สอดแทรกขึ้นมาคว้ารางวัลไปได้ เป็นหนังสือที่ได้รับคำวิจารณ์ และถกเถียงกันในวงกว้าง ทั้งคนที่เชื่อในขนบแบบเก่า และคนที่เชื่อในเรื่องการไร้ขอบเขตของงานบทกวี ที่จะทำให้บทกวีพัฒนาไปไกลอย่างไรก็ตาม ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา มีลักษณะงานเหมือนเป็นบทหนังสั้น เหมือนความเรียงแบบภาษาต่างประเทศ การเลือกใช้คำในงานเขียนของ ซะการีย์ยา อมตยา สะท้อนความคิดออกมาผ่านภาษาอันงดงาม ภาพปกโดย iSSANDY