รีเซต

[รีวิวซีรีส์] "Analog Squad ทีมรักนักหลอก" น้ำตาท่วมจอ ซีรีส์แห่งการข้ามปีเก่าและคำโกหกที่ดีที่สุดแห่งปี

[รีวิวซีรีส์] "Analog Squad ทีมรักนักหลอก" น้ำตาท่วมจอ ซีรีส์แห่งการข้ามปีเก่าและคำโกหกที่ดีที่สุดแห่งปี
แบไต๋
9 ธันวาคม 2566 ( 12:00 )
815

เรื่องย่อ: เรื่องราวเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1999 ก่อนเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ไม่กี่วัน ท่ามกลางความไม่มั่นคงในใจของคนทั้งโลกที่ลุ้นวิกฤตคอมพิวเตอร์ Y2K เมื่อสี่คนแปลกหน้าต้องมาปลอมตัวเป็นครอบครัวหลอก ๆ เพื่อสมานรอยร้าวของครอบครัวตัวจริง ที่สั่นคลอนใจไม่ต่างจากการข้ามปีที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ปี 2566 น่าจะนับได้ว่า ‘Netflix ทีไทย ทีมันส์’ ทั้ง 6 เรื่องของ ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทย ได้ปิดโปรเจกต์ด้วยการสำแดงเดชอย่างต่อเนื่อง ทั้งขุมกำลังหนังไทยและซีรีส์ไทยคุณภาพที่เรียงหน้าสตรีมมิง ตั้งแต่ ‘The Lost Lotteries’, ‘Hunger’, ‘Delete’, ‘The Murderer’, ‘มนต์รักนักพากย์’ จนมาถึงเรื่องนี้

ว่ากันจากหน้าหนังก็ต้องบอกว่าพลอตนักแสดงจำเป็นต้องมาแสร้งเป็นครอบครัวปลอม ๆ อาจไม่ได้เป็นตัวนำให้เราสนใจมากนักเมื่อเทียบกับพลอตที่หวือหวาของหนังในโปรเจกต์นี้เรื่องอื่น ๆ ทว่าชื่อของผู้กำกับ ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร ขวัญใจเด็กยุคมิลเลนเนียม หนึ่งในผู้กำกับหนัง ‘แฟนฉัน’ (2546) ที่มีลายเซ็นไปฝั่งดราม่าชัดตั้งแต่หนังเดี่ยวใน ‘Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ (2549) มา ‘หนีตามกาลิเลโอ’ (2552) จนถึง ‘คิดถึงวิทยา’ (2557) ก็เป็นชื่อผู้กำกับที่ทำให้เรามองข้ามซีรีส์เรื่องนี้ได้ยากมาก ๆ

และมันก็เป็นเช่นนั้นเพราะเพียง 2 ตอนผ่านไป หนังก็เปลี่ยนท่าทีจากหนังที่พลอตชงไปทางดราม่าปนตลกหรือตลกร้ายไปอย่างสิ้นเชิง และเผยหน้าตาที่แท้จริงว่ามันกำลังพูดเรื่อง คน ความสัมพันธ์ และชีวิตอย่างลึกซึ้งน่าสนใจจนเราเบือนหน้าหนีไม่ได้ และเต็มไปด้วยความขัดแย้งความลับใหม่ ๆ ที่ชกใส่หน้าผู้ชมอย่างต่อเนื่องแทบทุกตอนจนไม่มีช่องให้เบื่อได้เลย

ต้องชื่นชมการวางเส้นเรื่องและการสร้างตัวละครของ นิธิวัฒน์ และผู้สร้างสรรค์ร่วมอย่าง อัม-อมราพร แผ่นดินทอง ที่เคยมีผลงานเขียนบทฝั่งดราม่าอย่าง ‘ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว’ (2552) หรือ ‘บ้านฉัน…ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้)’ (2553) เป็นอาทิ มันดีพอให้กล้าพูดได้ว่าทุกตัวละครที่ปรากฏบนซีรีส์เรื่องนี้ล้วนมีปูมหลังหรือมิติความคิดที่น่าสนใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไม่ว่าจะชายที่พยายามทำให้ชีวิตดูปกติทั้งที่จริงมันไม่มีอะไรเลยที่ปกติ, เนิร์ดหนังทอมบอยที่ทำให้เห็นว่ามูฟวี่อีสเมจิก, แฟนเก่าสุดมั่นที่เข้มแข็งจนไม่มีใครรู้ว่าเธอกอดระเบิดเวลาเอาไว้และต้องทำใจแข็งต่อหน้าคนที่เคยทิ้งเธอไปแต่งงาน และโดยเฉพาะเด็กหนุ่มที่มีแม่เป็นดาวนู้ดและใช้คำโกหกมาทั้งชีวิตเพื่อให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเป็นเหมือนตัวละครที่สะท้อนภาวะในหนังมากที่สุดกับคำถามว่า คุณค่าของคำโกหกคืออะไร เรียกได้ว่าแต่ละตัวละครพร้อมง้างหมัดชกเข้ากลางใจให้น้ำตาผู้ชมทะลักมาแต่ไกลทีเดียว

นอกจากบทที่ดี ต้องยอมรับว่าเหล่านักแสดงหลักและสมทบต่างคือสุดยอดในการคัดสรรครั้งหนึ่งเลย ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ในบทปอนด์ ลูกที่ไม่ยอมกลับมาหาพ่อนับสิบ ๆ ปีเป็นบทบาทที่อาจไม่ได้เล่นท่ายากมากที่สุดของปีเตอร์ที่เขาเคยเล่น แต่มันพูดได้ว่าเขาลงตัวสมบูรณ์มากที่สุดครั้งหนึ่งกับการเป็นตัวละครนี้ได้อย่างน่าจดจำ เช่นเดียวกับ น้ำฝน กุลณัฐ ในบท ลิลลี่ เราไม่ได้เห็นเธอแสดงมานานมาก การกลับมาครั้งนี้มันทั้งมากเสน่ห์และหยุดมองเธอไม่ได้เลย ฉากที่เธอทุ่มเทกลั่นหัวใจจนเส้นเลือดปูดโปนบนศีรษะมันช่างน่าเอาใจช่วยมาก ๆ

นักแสดงรุ่นเด็กทั้ง เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม ในบท เก๊ก และ ปริมมี่-วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ ในบท บุ้ง ต่างก็เกินเบอร์ที่จะวัดมาตรกับการเป็นดาราวัยรุ่นทั่วไปแล้วเช่นกัน จะว่าไปจากความไม่น่าจะเข้ากันทางกายภาพของนักแสดงที่ต้องเป็นครอบครัวปลอม ๆ นี้ ทว่านักแสดงค่อย ๆ กร่อนจนเราเชื่อว่าพวกเขารักกัน ผูกพันเป็นครอบครัวกันจริง ๆ ไปเอง มันคือบทพิสูจน์แล้วว่านักแสดงเรื่องนี้เก่งขนาดไหน

ทั้งยังต้องชื่นชมนักแสดงสมทบที่ทีมสร้างคัดสรรมาให้หายคิดถึง หลายคนเราไม่เห็นหน้ามานานมากอย่าง ปู่เขียว ที่ได้ สุรสีห์ อิทธิกุล นักร้องรุ่นใหญ่มาเล่นเป็นพ่อปอนด์ ก็ส่งพลังผ่านคำพูดและสายตานิ่ง ๆ ได้อย่างมีพลังแต่ก็อบอุ่น ขณะที่ วิยะดา โกมารกุล ณ นคร นักแสดงรุ่นเก๋ามาแสดงบทย่าสดใสก็เป็นแสงสว่างในห้องยามตัวละครอื่นหม่นหมองได้อย่างดี, โยโกะ ทาคาโน ในบทแม่ของเก๊ก หรืออย่าง ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม แห่งโต๊ะกลม ก็ล้วนเป็นนักแสดงที่เราเคยเห็นหน้าประจำในยุคหนึ่ง แต่ก็แทบจะไม่คิดว่าจะได้พบเจออีกครั้ง

คนที่โตมายุคหลังจากนั้นอาจไม่ได้รู้สึกอะไรด้วยมาก เท่ากับที่เจอคามิโอเป็นดารายุคใกล้ ๆ อย่าง พิมฐาหรือ เอม ภูมิภัทร บนจอ แต่มันเป็นความใส่ใจของแคสติ้งที่มีความหวนไห้ชวนคนดูที่เคยอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ได้คิดถึงช่วงเวลานั้นอีกครั้งจริง ๆ และมันก็เพื่อให้เราตระหนักถึงความรู้สึกไม่มั่นคงของยุคสมัยตอนที่ทั้งโลกต่างวิตกกังวลว่าการก้าวข้ามปี 1999 ไปเจอปัญหา Y2K ที่เชื่อว่าคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะล่ม ความศิวิไลซ์จะพังทลาย และปี 2000 จะเป็นจุดจบของโลกจนมีหนังวันโลกแตกออกมาในช่วงนั้นมากมายได้อีกครั้ง ซึ่งความหวาดกลัวการเดินหน้าของเวลานี้ ก็คือความหวาดวิตกที่เราพบเจอปกติในทุกช่วงการก้าวข้ามผ่านวัยหรือเติบโตนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่หนังของนิธิวัฒน์แสดงมาเสมอคือ การเติบโตที่เด่นชัด จากเรื่องราวของนักเรียนมัธยมต้นที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อเรียนต่อมัธยมปลายในสายดนตรี มาสู่สองเพื่อนรักนักศึกษาจบใหม่ที่ตัดสินใจไปตายดาบหน้าในต่างแดน และคุณครูบรรจุใหม่ที่ต้องจัดการกับสิ่งแวดล้อมและจิตใจที่ขาดไปทุกอย่าง มันมีการก้าวผ่านวัยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในทุกครั้ง และตัวละครมักตกเป็นน้องใหม่สำหรับขั้นบันไดของชีวิตช่วงนั้น ๆ

ในเรื่อง ‘Analog Squad’ นี้ก็เช่นกัน แต่ต่างไปตรงนิธิวัฒน์ตั้งคำถามว่าคนที่อยู่วัยกลางคนอย่าง ปอนด์ ที่เป็นลูก หรือแม้แต่วัยไม้ใกล้ฝั่งอย่าง ปู่เขียว ที่เป็นพ่อของปอนด์ ที่ต่างฝ่ายต่างผ่านชีวิตมามากมายยังจะต้องเรียนรู้ก้าวข้ามเป็นน้องใหม่ของอะไรอีก และมันนำพาผู้ชมไปเรียนรู้พร้อมกันมากมายทั้งความหมายของคำว่าครอบครัว ความทุกข์ที่ต้องกลืนคำโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ และการสูญเสียพลัดพรากที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

จึงกล่าวได้ว่าซีรีส์ ‘Analog Squad ทีมรักนักหลอก’ เป็นงานคราฟต์ที่ดีทั้งเนื้อหา ความลุ่มลึก รายละเอียด กิมมิก การแสดง บทสนทนา ไปจนถึงคุณภาพงานสร้างที่เราภูมิใจอวดชาวโลกได้ เพราะแทบทุกช็อตภาพและทุกการตัดต่อ จังหวะเพลง การเล่าเรื่อง มันคืองานฝีมือที่สวยงามน้ำตาไหลจริง ๆ ไม่รู้ว่าใครจะมีหนังไทยหรือซีรีส์แห่งปีในใจกันหรือยัง แต่เรื่องนี้ต้องเบียดขึ้นมาอิงแอบอยู่ลำดับต้น ๆ ของคนรักหนังไทยแน่นอน และไม่ว่ากี่คำโกหกที่พวกเราจะได้เจอมาในชีวิตมันจะเลวร้ายทำร้ายขนาดไหน อย่างน้อยซีรีส์เรื่องนี้คือคำโกหกดี ๆ ที่ทำให้เราก้าวข้ามผ่านปีไปด้วยพลังใจที่เปี่ยมล้นแน่นอน

สุดยอดครับทีมสร้างไทย