“เราคาดหวังให้มนุษย์คนหนึ่ง แจ่มแจ้งในโลกใบนี้ได้อย่างไร หากตัวเขาเองไม่สามารถมองเห็นความเป็นไปของโลก” เป็นคำถามที่ตัวผมเองเริ่มคบคิดตั้งแต่วินาทีแรก ที่ตัวละครเดย์ จากซีรีส์ ภาพนายไม่เคยลืม (Last Twilight) เริ่มสูญเสียการมองเห็น ทว่าตลอดการควานหาตัวตนของเดย์ ในดินแดนที่แสงตะวันสาดส่องไปไม่ถึง กลับทำให้ผมในฐานะคนเฝ้าดู พานพบมุมมองของโลกใบใหม่ ผ่านการเรียนรู้การใช้ชีวิต ไปพร้อม ๆ กับตัวละครตาบอดที่สลับซับซ้อน ทว่าไม่ย่อท้อที่จะส่องสว่างในความมืด แม้ความเป็นจริง จะไม่ง่ายดายก็ตาม ทุกครั้งที่ผมดู Last Twilight จบแต่ละตอน ผมก็จะพยายามขีดเขียนหัวข้อ และแก่นสำคัญที่จะนำมาใช้เขียนเป็นบทความนี้ขึ้นมา ทว่ายิ่งกลับมาพลิกหน้ากระดาษที่ตัวเองจดไว้ ก็พบว่ามีเรื่องให้ได้กล่าวถึงซีรีส์เรื่องนี้เยอะเหลือเกิน จนผมจำเป็นต้องลดทอนบางเนื้อหาออก และหยิบเพียงสารัตถะสำคัญ ที่ซีรีส์พยายามจะสื่อสารกับคนดู เหนือสิ่งอื่นใด เพื่อบอกเล่าข้อคิด มุมมองความหวังในการใช้ชีวิต ผ่านตัวละครตาบอดอันทรงพลัง และความมุ่งมาดวาดหวังอันเต็มเปี่ยมของทีมพัฒนา เพื่อรังสรรค์ซีรีส์น้ำดีอีกเรื่องของไทย Disclaimers*** มีการเปิดเผยเนื้อหาในบทความ*** เนื้อหาทั้งหมด เป็นการตีความ และทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น “อะไรที่จำเป็นต้องใช้ในภายหลัง ก็ให้รีบนำเสนอคนดูเสียแต่เนิ่น ๆ” “อะไรที่จำเป็นต้องใช้ในภายหลัง ก็ให้รีบนำเสนอคนดูเสียแต่เนิ่น ๆ” เป็นคำพูดของใครสักคน จากบทเรียนในชั้นเรียนสักแห่ง ที่ผมเองก็รื้อค้นจากเศษเสี้ยวความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อ ทว่าจริงเสมอในความคิดของผม สมมุติคุณต้องสร้างตัวละครขึ้นมาหนึ่งตัว คุณจะทำให้คนดูของคุณเชื่อได้อย่างไรว่าตัวละครนั้นเกลียดกลัวงูเข้ากระดูกดำ โดยที่คุณพึ่งจะยัดฉากเผชิญความหวาดกลัวงูลงไปกลางเรื่อง คงไม่มีใครเชื่อแน่นอน ดังนั้นถ้าการกลัวงูสำคัญต่อมิติตัวละครดังเช่นตัวอย่าง โดยเฉพาะเนื้อเรื่องแล้วละก็ ขอให้นำเสนอมันเสียแต่เนิ่น ๆ (เริ่มเรื่องได้ยิ่งดี) เหมือนอย่างที่เรากำลังจะวิเคราะห์ฉากเปิดแรก ใน last twilight ซีรีส์นำเสนอการเริ่มเรื่อง ผ่านวิธีการตัดสลับระหว่างตัวละครเดย์ (ซี ทวินันท์) นักกีฬาแบดมินตันหนุ่มอนาคตไกล และ หมอก (จิมมี่ จิตรพล) เด็กช่างที่ชีวิตหมิ่นเหม่เข้าออกคุกตะรางเป็นเรื่องปกติ ภาพชีวิตที่ถูกฉายสลับคู่ขนานนี้ มีจุดร่วมที่จะกลายเป็นแกนหลักของเนื้อเรื่องที่เหลือต่อไป ลองสังเกตดูให้ดีครับ มันคือ “การมองเห็น” นั่นเอง โดยฉากแรกที่นำเสนอภาพของเดย์ ที่กำลังแข่งขันแบดมินตัน ดวงตารอบสนามทุกคู่จดจ้องเดย์ด้วยความปีติยินดี ราวกับเดย์เป็นดวงตะวัน ที่หรี่ทุกจรัสแสงในสนามจนหม่นดับ ในขณะที่ความมั่นใจในตัวเดย์พุ่งทะยานถึงจุดสูงสุด ทว่าความมืดก็ได้ชำแรกมาเยือนสู่ดวงตาของเขาเป็นครั้งแรก เดย์กำลังจะสูญเสียการมองเห็นตลอดกาล กลับมาที่หมอก ที่ชีวิตมืดบอดแทบไม่ต่างกัน ต้องพบกับความยากลำบากในการหางานเลี้ยงชีพ หลังจากที่ตนพึ่งพ้นโทษคุมขัง ทว่าไม่ใช่ทุกคนจะยินดีโอบรับลูกจ้างที่ถูกพันธนาการด้วยกำไลอีเอ็ม สายตาของคนในสังคมที่มองมายังหมอก แตกต่างออกไปจากที่เดย์ได้รับ สายตาแห่งการตัดสิน และเคลือบแคลงสงสัย ดั่งคำพิพากษาที่คน ๆ หนึ่งแลต้องเผชิญไปตลอดทั้งชีวิต เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าแก่นเรื่องของซีรีส์ last twilight ไม่ใช่เพียงอาการตาบอดทางกายภาพเท่านั้น แต่มันยั่วล้อไปกับจิตใจอันมืดบอด ที่พร้อมจะตัดสินผู้คนจากเปลือกนอก ซึ่งอาการมืดบอดอย่างหลังดูจะน่าเป็นห่วงกว่าที่เดย์ต้องประสบพบเจอเสียอีก การนำเสนอแกนหลักของเรื่องอย่างชาญฉลาดในฉากเปิดเช่นนี้ ทำให้คนดูรับรู้หัวใจหลักที่เต้นเร่าในบท ทุกทิศทางที่เนื้อเรื่องพาเราไป เนื้อแท้ของเรื่องราวจะคอยส่งเสียงเรียกคนดู อย่างสม่ำเสมอในท้องเรื่องที่เหลือแน่นอนความกลัวที่จะไม่มีโอกาสได้เห็นแสงสว่างอีกครั้ง ความมืดเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหวาดหวั่น แต่โชคดีคือ เรารู้ว่าทุกเช้าวันใหม่จะมีแสงอาทิตย์ คอยปัดเป่าความมืดอันแสนประหวั่นพรั่นพรึงเสมอ แต่ไม่ใช่กับเดย์ที่กำลังสูญเสียการมองเห็น ความมืดที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามานี้ อาจไม่ถูกปัดเป่าด้วยแสงสว่างใดอีกเลย เดย์อาจต้องอยู่ในโลกแห่งความมืดมิดตลอดกาล และนั้นทำให้แสงสว่างสุดท้าย ตราตรึงในใจเดย์ตลอดไป การเขียนตัวละครตาบอดในทางวรรณกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย นักเขียนต้องสรรค์สร้างวิมานน้อย ๆ ที่คนตาดีทั่วไปเข้าไม่ถึง แต่ขณะเดียวกันต้องรับรู้ว่ามีสิ่งนี้ดำรงอยู่ เช่นเดียวกับความหวาดกลัวต่อโลกที่กำลังจะมืดดับลง ความมืดมีสัญญะเชื่อมโยงตรงไปตรงมากับความหวาดกลัวการมองไม่เห็น ทำไมกันละ? ผู้อ่านลองจินตนาการว่าถูกทิ้งไว้ในห้องที่มืดโดยสัมบูรณ์ หากผมเอาขนนกธรรมดาสะกิดเพียงเล็กน้อย พนันได้เลยว่าสมองคงเตลิดนึกสารพัดภาพแปลกประหลาดแน่นอน นั้นเพราะในความมืด เราไม่สามารถระบุสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปร่าง ทิศทาง แม้กระทั้งผู้คนที่เข้าหาเรา เหล่านี้กอปรสร้างโลกอันไม่คุ้นเคย และเปลี่ยนมันให้กลายเป็น ความกลัวในความไม่รู้ (Fear of the Unknown) ซีรีส์ last twilight ได้อาศัยการทำงานเชิงสัญญะเหล่านี้ ในการนำพาคนดูสัมผัสโลกของเดย์ ที่ราวกับตัวบทจงใจค่อย ๆ หรี่แสงตะเกียงลงในทุกตอน วิสัยทัศในการมองเห็นของคน ๆ หนึ่งกำลังพล่าเลือน แต่ขณะเดียวกันตัวบทก็นำพาเดย์ค้นพบแสงสว่างรูปแบบใหม่ แสงสว่างที่ลำพังไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แสงที่ทอประกายในจิตใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นี่อาจเป็นหนึ่งในพลังวิเศษของคนตาปอดก็ได้ พลังในการมองเนื้อแท้ของผู้คน โดยปราศจากมายาอคติ ซึ่งต่อจากนี้เดย์จะต้องฝึกมองมัน ผ่านหัวใจของเขาแทน“ทุกการช่วยเหลือ เป็นสิ่งดีเสมอหรือไม่?”“Acts of Pity” มีคำถามหนึ่งคอยรบกวนจิตใจผมเสมอมา นั่นคือ “ทุกการช่วยเหลือ เป็นสิ่งดีเสมอหรือไม่?” การหยิบยื่นความช่วยเหลือจะเป็นเรื่องเลวร้ายได้อย่างไรกัน มนุษย์ควรจะเกื้อกูลกันและกันในยามลำบากไม่ใช่หรือ? ซึ่งก็จริงแท้แน่นอนครับ แต่หากเราลองมาดูอีกมิติของการช่วยเหลือ ที่มาในนามของ “ความสงสาร” (Acts of pity) เราจะครุ่นคิดต่างไปจากเดิมไหม Last twilight ตอนที่ 6 ได้นำเสนอปมปัญหาอันเกิดจากการกระทำของออกัส (โอม ฐิภากร) ที่บังเอิญล่วงรู้ความรู้สึกลึกซึ้งเกินคำว่าเพื่อนของเดย์ที่มีต่อตนเอง ออกัสจึงพยายามเข้าหาเดย์เพื่อมอบความสุขให้เพื่อนของตน จนกระทั้งในงานวันเกิดเดย์ ออกัสได้พรมจูบที่ริมฝีปากของเดย์เพื่อเป็นของขวัญ ทว่าแท้จริงออกกัสรู้สึกสงสาร ที่เพื่อนของตนกำลังจะสูญเสียการมองเห็น ออกัสจึงหวังว่าจูบนี้จะช่วยเยียวยา และมอบความสุขให้กับเดย์ แต่ไม่ใช่เพื่อความเสน่ห์หา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าออกัสคิดผิดมหันต์ การกระทำที่ซับซ้อน และยากที่จะเข้าใจของออกกัสนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ นั่นคือ “ความสงสาร” ลองจินตนาการในสถานการณ์ที่คนทั่วไปอย่างเรา เผชิญกับผู้พิการโดยบังเอิญ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรู้สึกสงสารจะแล่นตรงเข้ามาเป็นสิ่งแรก ทำไมความสงสารจึงมีบางสิ่งเชื่อมโยงกับผู้พิการเสมอ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผมได้ค้นบทวิเคราะห์งานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ โดยบทความอ้างถึง การเหมารวมบนเจตคติเชิงลบต่อผู้พิการ (The negative stereotype of disabled people: ผู้เขียนแปลเอง) ศัพท์ใหญ่แลดูเข้าใจยาก แต่หากพูดให้เข้าใจง่ายคือ สังคมกอปรสร้างภาพแสดงของผู้พิการขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพแทนที่ว่าด้วย ผู้พิการเป็นผู้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ พยายามผลิตภาพที่ผู้พิการร้องขอความช่วยเหลือ หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นผู้รับ (passive) เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ศาสนาเองก็มีบทบาทในการสร้างภาพจำ อาทิ เรื่องของบาปกรรม คลาสสิกสุด ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวอดีตชาติเคยทำกรรมหนัก ยังผลให้ชาตินี้ต้องพิการ หากคนร่างกายปกติไม่อยากพิการ ก็จงหมั่นทำทานหรือช่วยเหลือคนพิการ ทั้งหมดนี้สร้างความรับรู้บิดเบี้ยว ที่เรามีให้แก่ผู้พิการ นำมาซึ่งการช่วยเหลือในนามของความเวทนาสงสาร ซึ่งท้ายที่สุดจะไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้พิการแม้แต่น้อย คนพิการไม่ต้องการถูกมองว่าน่าสงสาร หรือนั่งรอความช่วยเหลือเสมอไป สิ่งที่พวกเขาต้องการคือโลกที่ถูกออกแบบ ในที่นี้คือเมืองที่นับเอาผู้พิการ เข้ามาไว้ในสมการการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นคนทั่วไป ผมยืนยันว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ยามตกทุกข์เป็นสิ่งพึงกระทำ แต่ในขณะเดียวกันซีรีส์ last twilight ได้ใช้ตัวละครออกัสและเดย์ เป็นหมุดหมายเตือนใจ ว่าไม่มีใครอยากถูกมองว่าน่าโศกสลด และความช่วยเหลือที่เคลือบฉาบในนามของความสงสาร อาจไม่ส่งผลดีต่อฝ่ายใดเลย แม้ภายในใจของออกัสจะมีเจตนาดีก็ตาม ในวันที่เดย์เริ่มตาบอด แม่ก็เริ่มมองไม่เห็นไนท์ “พ่อแม่มีลูกคนโปรดหรือไม่?” เป็นคำถามสุดคลาสสิคที่เราทุกคนต้องเคยขบคิดกันมาบ้าง และดูเหมือนปมปัญหานี้เองที่กัดกินบ่อนเซาะความสัมพันธ์ระหว่าง รมณ (ครีม เปรมสินี) ผู้เป็นแม่ และลูกชายคนโตของเธออย่าง ไนท์ (มาร์ค ภาคิณ) โดยที่รมณไม่รู้ตัว หัวข้อนี้ไม่ได้กำลังจะกล่าวโทษตัวละครอย่าง รมณผู้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแต่อย่างใด แต่ผมคิดว่ามันคงจะดีหากจะมีใครสักคนพยายามทำความเข้าใจ และสะกิดไหล่เตือนสติ ว่าพ่อแม่เราทุกคน ก็ล้วนเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกันกับรมณ ที่เธอหันหลังให้ความสัมพันธ์สามีภรรยา ไม่สมาทานแนวคิดรักโรแมนติก มุ่งหน้าหาเลี้ยงปากท้องเพื่อตัวเธอเองและลูก ๆ รมณประคับประคองครอบครัวของเธอเป็นอย่างดี จนกระทั่งอุบัติเหตุที่พรากการมองเห็นจากลูกชายคนเล็กของเธอไป ทำให้เธอต้องทุ่มสรรพกำลัง และทรัพยากรทั้งหมด ไปที่เดย์เพียงผู้เดียว และวินาทีนั้นเอง ที่รมณเริ่มมองไม่เห็นตัวตนลูกชายอีกคน ด้วยบทบาทที่เธอต้องเป็นเสาคำยัน ให้บ้านทั้งหลังไม่พังครืนลงมา รมณจำเป็นต้องสันหาพี่เลี้ยงที่ดีที่สุด เพื่อคอยจัดการดูแลเดย์ ในเวลาที่เธอออกไปหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และบ่อยครั้งที่รมณเองต้องยืมมือไนท์ เพื่อคอยเป็นแขนขาให้กับเธอ แบ่งเบาและดูแลน้องอีกแรง ทว่ารมณเองก็อาจหลงลืม ว่าผู้ประสบเคราะห์กรรมนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เดย์ แต่ร่วมถึงไนท์ด้วย แม้ไนท์จะไม่ได้รับบาดเจ็บทางกายภาพ แต่บาดแผลผิดบาปที่ไนท์คิดว่าตนเป็นต้นเหตุของอาการตาบอดของน้องชาย กลับไม่ได้รับการเยียวยาเหลียวแลจากผู้เป็นแม่ จนกระทั่งวันที่รมณทำอาหารเพื่อฉลองวันคริสต์มาสให้กับลูก ๆ ของเธอ วินาทีที่รมณฉุกคิดได้ ว่าในขณะที่เธอเป็นห่วงว่าเดย์กำลังจะสูญเสียการมองเห็น รมณเองก็แทบจะสูญเสียไนท์ไปจากการรับรู้ของเธอเช่นกัน มันไม่สำคัญว่าพ่อแม่จะมีลูกคนโปรดจริงหรือไม่ แต่การรับรู้ของลูก จากการปฏิบัติของพ่อแม่ ที่ทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกแปลกแยก ถูกหลงลืม หรือรู้สึกไม่เป็นลูกคนโปรด เป็นปัญหาที่แม้แต่ตัวพ่อแม่เองอาจไม่ทันสังเกต เช่นเดียวกับรมณ ที่กรณีนี้ เราคงไม่สามารถฟันธงว่าเดย์เป็นลูกคนโปรด เนื่องด้วยบริบทอันซับซ้อนดังกล่าว ที่ทำให้รมณสนใจเพียงแค่เดย์ ทว่าอย่างไรก็ตาม ซีรีส์เรื่องนี้ได้มอบทัศนะนุ่มลึก ให้คนเป็นพ่อแม่ ระมัดระวังการแสดงความรักต่อลูกที่อาจไม่เท่าเทียม และทำให้เราฉุกคิดในฐานะลูก ว่าด้วยพ่อแม่ของเรา ก็เป็นพ่อแม่ครั้งแรก และการกล่อมเกลี้ยงลูกน้อยให้มีชีวิตที่ดี อาจเป็นงานโหดหินที่สุด เท่าที่ชีวิตพวกท่านเองเคยประสบพบเจอ สัญญะซ่อนแฝง ที่มอบความหมายของชีวิต ในวันที่มองไม่เห็น ไม่รู้ว่าผู้อ่านเป็นเหมือนผมหรือไม่ แต่หนึ่งในอรรถรสของการเสพงานภาพยนตร์ คือการที่ผมได้ขุดค้นควานหา สัญญะที่ซ่อนแฝงภายในตัวบท มนต์เสน่ห์ของสัญญะคือ ผมที่นั่งดูซีรีส์เรื่อง last twilight คุณผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความผมตอนนี้ หรือผู้ประพันธ์บทซีรีส์ ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือถอดรหัสเล่มเดียวกัน เพราะกรอบอ้างอิงของเราแต่ละคน ล้วนเกิดจากประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตีความสัญญะจึงไม่มีคำว่า “ถอดรหัสผิดเพี้ยน” มีเพียงการถอดความในมุมมองที่แตกต่างเท่านั้น และเพราะสัญญะทำงานกับการตีความ ซีรีส์ last twilight จึงมอบความรุ่มรวยเกี่ยวกับมุมมองของชีวิต และเปิดโอกาสให้คนดูได้ร่วมถอดความ และค้นหาความหมายของชีวิต ในรูปแบบของเราเอง หนึ่งในฉากที่ผมตีความ และผู้อ่านหลายท่านอาจไม่ได้รู้สึกถึงความสลักเสลาสำคัญ คือฉากที่เดย์สัมผัสทารกภายในท้องของพอใจ (น้ำตาล ทิพนารี) และร่วมเต้นรำกับผู้สูงวัยในพิธีแต่งงานของอ้นและปลา เดย์เป็นภาพแทนของคนที่ดวงตากำลังมืดบอด แต่ในขณะเดียวกันเดย์ก็ได้สัมผัสชีวิตน้อย ๆ ที่กำลังจะได้ลืมตาดูโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ได้เต้นรำร่วมกับคนที่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตมองเห็นโลกใบนี้อย่างแจ่มชัด การมีอยู่ของสัญญะในฉากนี้ ราวกับเดย์ได้ถูกปลอบปะโลมจากดวงตาบริสุทธิ์ที่ยังไม่ทันแย้มชมโลก และขณะเดียวกันก็ถูกเฝ้ามองอย่างเอ็นดู จากดวงตาคู่ที่มองเห็นมรสุมมานับไม่ท้วน สำหรับผม ที่เป็นฉากเล็กจ้อย แต่ทรงพลังด้วยการตีความอย่างแท้จริง ตลอดทั้งท้องเรื่อง เราจะได้เห็นตัวละครหมอกและเดย์ เชื่อมโยงกับดอกไม้เสมอ และฉากที่หมอกนำต้นมะลิกลับมาปลูกที่บ้าน นับว่าเป็นฉากที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในแง่ของความโรแมนติก เราทุกคนคงไม่ปฏิเสธ แต่ในแง่ของสัญญะภายในโลกวรรณกรรม ต้นไม้ยึดโยงความหมายกับความรู้ การเติบโต การดูแลรักษา การที่หมอกปลูกต้นมะลิ มันไม่ใช่แค่การขุดหลุม ฝังกลบ และทิ้งขว้างให้ต้นไม้โตตามยถากรรม หากแต่หมอกต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ดูแลเอาใจใส่ จนรากของต้นไม้แผ่ขยาย เกาะกุมหน้าดินมั่นคง การลงมือปลูกต้นไม้ของหมอกนี้ ราวกับจะสื่อสารต่อคนดู ว่าตัวหมอกหยั่งรากยึดมั่น ในความรู้สึกที่มีต่อเดย์ และมันค่อย ๆ เติบโตขึ้นทุกวัน จนกระทั่งออกดอกผลิบาน ในวันที่หมอกรู้สึกกับเดย์เกินกว่าคนดูแล ฉากสุดท้ายที่งดงาม จนผมต้องนำมาปิดท้ายในหัวข้อนี้ คือฉากที่หมอกและเดย์เดินทางขึ้นไปดูภาพสุดท้ายบนภูเขาด้วยกัน ทว่าภาพพระอาทิตย์อัสดง และแสงสีส้ม ณ ริมขอบฟ้าบนหน้าปกนิยาย last twilight กลับไม่ใกล้เคียงกับภาพความเป็นจริง ที่หมอกและเดย์กำลังจ้องมอง มีเพียงท้องฟ้าทึบทึม จนมองแทบไม่เห็นแสงตะวัน เป็นภาพสุดท้ายที่ห่างไกลคำว่างดงาม และไม่คุ้มเหนื่อยเอาเสียเลย แต่แล้วเดย์ที่ดวงตากำลังจะบอดสนิท ได้เริ่มบรรยายความวิจิตงดงามของทัศนียภาพ และในวินาทีที่หมอกลืมตาขึ้นอีกครั้ง เขาก็ต้องพบกับภาพทิวทัศน์ ที่งดงามราวกับต้องมนต์สะกด เดย์สูญเสียการมองเห็นไปแล้ว แต่สิ่งที่ฉากนี้มอบความหมายแฝงอันนุ่มลึก คือ “ไม่มีสิ่งใดมืดมิดแท้จริง หากใจเราไม่ยอมมืดบอด” เราได้เห็นพัฒนาการตัวละครเดย์ ที่โบยตีถล่มตนเองที่ต้องมาตาบอดตอนต้นเรื่อง ทว่าในฉากนี้ เดย์ต่างออกไป เค้ายอมรับและเป็นส่วนหนึ่งกับตาที่มืดสนิท และไม่ยอมจำนนที่จะให้แสงสว่างในใจของเขามืดมิดลงไปด้วย ภาพสุดท้ายที่เดย์เห็น จึงเป็นภาพที่เดย์ใช้ใจของเขา ซึมซับรับรู้ ไปพร้อม ๆ กับหมอกนั่นเองบทอันทะเยอทะยาน ความมุ่งมั่นตั้งใจใน “ภาพนายไม่เคยลืม” คุณผู้อ่านเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “หนังที่แย่ อาจมาจากบทที่ดี แต่ไม่มีหนังที่ดี มาจากบทที่แย่” กันบ้างไหมครับ สำหรับผม มันจริงเสมอ และเมื่อเราพิจารณาย้อนกลับไปยังต้นธารทั้งหมด ที่บทความนี้ได้พยายามแจกแจง มุมมองอันหลากหลายของซีรีส์ last twilight เราจะพบรากฐานอันมั่นคง ที่ค้ำยันซีรีส์เรื่องนี้เอาไว้แทบทั้งหมด นั่นคือ “บทประพันธ์” คนจำนวนมากไม่ได้มองว่างานเขียนคือ “งานฝีมือ” รูปแบบหนึ่ง บทที่ดีไม่ได้ต้องการแค่นักเขียนที่เจนจัด ต่อมุมมองอันหลากหลายบนโลกนี้เท่านั้น หากแต่ยังต้องการ “เวลา” เพื่อทุ่มเทและกอปรสร้างบทประพันธ์ดี ๆ ขึ้นมาสักเรื่อง ซีรีส์ last twilight อาจไม่ใช่บนซีรีส์ที่ไร้ลอยแผลหรือตำหนิ แต่นี้เป็นผลผลิตของความพยายามที่มุ่มมั่นรังสรรค์ และพัฒนาบทให้มีคุณภาพ ภายใต้การควบคุมของ GMM ทีวี ความทะเยอทะยานในการนำพาชีวิตคนตาบอด ลงมาโลดแล่นบนจอแก้ว ถือเป็นความท้าทายอย่างสูง เพราะมิติของคนตาบอดนั้นซับซ้อน และจำเป็นต้องเตรียมคลังข้อมูลจำนวนมาก เพื่อถ่ายทอดชีวิต ความปรารถนา ปรัชญา และอุปสรรค ที่คนตาบอดจริง ๆ ต้องประสบพบเจอ ซีรีส์ last twilight ได้นำพาเราไปสำรวจโลกของคนตาบอด กับแง่มุมที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน เริ่มต้นจากการที่เดย์เริ่มสูญเสียการมองเห็น หวาดกลัวโลกภายนอกจนต้องเก็บซ่อน ปฏิเสธการพบปะผู้คน โดยเฉพาะประเด็นของการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนตาดี ตัวบทให้เหตุผลว่า คนตาบอดเองก็ต้องการดูดีในสายตาคนทั่วไป และคงจะไม่สบายใจหากต้องให้คนแปลกหน้า มาเห็นการรับประทานอาหารที่เปรอะเปื้อนของเรา ตัวบทค่อย ๆ คลายความวิตกกังวลในตัวเดย์ นำพาตัวเดย์ก้าวข้ามผ่านความหวาดกลัว จนนำไปสู่การวิ่งเพื่อคนตาบอด (run for blind) โดยมีหมอกเป็นผู้นำทางวิ่ง ก้าวแรกเมื่อเดย์ข้ามพ้นเส้นชัยในวันนั้น เป็นก้าวสำคัญที่นำพาเดย์ออกไปสู่ทริปกินนอนบนหาดทรายที่จังหวัดสงขลา การเดินพิชิตยอดเขาเพื่อตามรอยหนังสือ last twilight และเมื่อมองย้อนกลับไป เราจะได้เห็นการเดินทางอันแสนยาวนานของเดย์ จากจุดเริ่มต้นในห้องนอนอันแสนทึบทึม สู่โลกภาพนอกอันกว้างใหญ่ เฉกเช่นตัวละคร “มี” ในหนังสือ last twilight พัฒนาการของตัวละครที่ฝ่าฟันพายุมรสุม พบพานความรัก เรียนรู้ผู้คน พร้อม ๆ กับควานหาความหมายของชีวิต ในฐานะของคนตาบอด เพื่อนำเสนอแก่นแท้ของตัวบทที่เต้นเร่าตลอดการผจญภัยของเดย์ คือการได้เห็นว่าชีวิตนั้น งดงามและมีความหวัง รอเราอยู่เสมอภาพนายไม่เคยลืม มอบนิยามชีวิต ที่เต็มไปด้วย ความหวัง ตลอดการเดินทางของซีรีส์ last twilight เราได้เห็นตัวละครเดย์ร่วงหล่น ทดท้อหมดหวัง ในขณะที่ความมืดกำลังพรากการมองเห็นไปจากเดย์ หมอกกลายเป็นแสงเทียนฉาดฉายนำทาง ในวันที่มืดบอดที่สุด เราได้เห็นชีวิตของเด็กหนุ่มตาบอด ที่ขัดขืนและไม่จำนน ยืนหยัดที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ได้เรียนรู้ที่จะให้อภัย เพ่งมองมนุษย์ที่หัวใจ ได้รัก และได้ผิดหวังในรัก และต้องผิดหวังในรัก เพื่อเรียนรู้และให้ตัวเองมีโอกาสได้รักอีกครั้ง ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะยืนยัน ว่าชีวิตยังมีความหวังเสมอ เดย์ได้ตอบคำถามที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกของบทความ ว่าเราไม่จำเป็นต้องมองเห็น เพื่อถ่องแท้ในความเป็นไปของโลก เพราะยังมีโลกอีกใบที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ โลกที่หากคุณตาดี ทว่าจิตใจมืดบอด คุณก็จะไม่มีวันได้พบเห็น และเรียนรู้มัน เดย์ได้สอนให้เรายืนหยัดท่ามกลางมรสุม ไม่ทดท้อสิ้นหวังแม้หนทางจะมืดบอด ยืนหยัดด้วยหวัง เพื่อสักวันที่พายุเคลื่อนผ่าน และสายรุ้งปรากฏ ณ ปลายขอบฟ้า ก็คุ้มค่าให้เชยชมเสมอ ขอบคุณทุกคนที่สละเวลาอันมีค่า อ่านบทความพูดพร่ำยืดเยื้อมาจนถึงตรงนี้ ซีรีส์ last twilight เป็นบทความวิเคราะห์แรกของผมในปีนี้ และหวังว่าจะได้กลับมาวิเคราะห์ภาพยนต์ หรือซีรีส์อีกไม่น้อยในปีนี้ (หวังว่าปริญญาเอกจะไม่ดูดเวลาผมไปเสียหมด ฮ่า ๆ) บทวิเคราะห์ซีรีส์ต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร ฝากติดตามด้วยนะครับ จนกว่าจะได้กลับมาเขียนให้ท่านผู้อ่านใหม่อีกครั้ง ขอบคุณครับเครดิตภาพปก GMMTVภาพที่ 1 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม ภาพที่ 2 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม ภาพที่ 3 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม ภาพที่ 4 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม ภาพที่ 5 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืมภาพที่ 6 GMMTV ภาพที่ 7 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืมภาพที่ 8 GMMTV ภาพที่ 9 Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม จะฟังเพลงหรือดูหนัง ซีรีส์ใหม่สุดปัง โหลดเลยที่ App TrueID โหลดฟรี !