ในช่วงปี พ.ศ.2530-2539 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศแถบเอเชียกำลังพัฒนาพุ่งอย่างฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มสี่เสือแห่งเอเชียอย่าง ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์และเกาหลีใต้ และเกือบจะมีไทยปรากฎอยู่ในนั้น ซึ่งผลของการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ย่อมส่งผลให้หลาย ๆ สิ่งในประเทศมีการพัฒนาและยกระดับ โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ของฮ่องกง ที่เคยยกทัพมาฉายในประเทศไทย จนครองใจผู้ชมชาวไทยมากมายฮ่องกงในสมัยนั้นที่ยังไม่มีการคุมเข้ม เพราะสมัยนั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนดังเช่นทุกวันนี้ ทำให้มีความเสรีในการสร้างและมีการร่วมมือของชาวอังกฤษ ทำให้เกิดความโดดเด่นและเป็นสไตล์ในแบบฉบับของฮ่องกง เรียกได้ว่าคนไทยที่เกิดในช่วงปี 2520 เป็นต้นมา ย่อมจะคุ้นเคยและได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ฮ่องกงมาไม่น้อย และนั่น ก็ส่งผลมาถึงผู้กำกับชาวไทยหลายคน จนกระทั่งเกิดคลื่นลูกยักษ์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเมื่อปี 2540 และคลื่นลูกนั้น ก็คือ “2499 อันธพาลครองเมือง”ภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายในประเทศไทยเมื่อ 11 เมษายน 2540 ที่ถือว่ามีอายุครบ 23 ปีแล้วสำหรับภาพยนตร์คลาสสิคของไทยเรื่องนี้ ซึ่งในเวลานั้น ถือเป็นเรื่องฮือฮาและความแปลกใหม่ เพราะนอกจากจะมีนักแสดงนำที่หน้าตาดีรวมตัวกันแล้ว เนื้อหาก็ยังเป็นเรื่องความรุนแรงของเหล่าวัยรุ่นเลือดร้อน จนหลายคนหวั่นเกรงว่าเยาวชนรับชมแล้ว จะเอาเยี่ยงอย่างในทางนักเลงแต่เมื่อหลายคนได้รับชม กลับเกิดบอกกันปากต่อปากถึงความสนุก เนื้อหาที่แปลกใหม่ และข้อคิดที่แฝงในเรื่องไว้ดีมาก จนโฆษณาทางโทรทัศน์โหมกระหน่ำ รายการต่าง ๆ เชิญทีมงานและนักแสดงไปออกรายการที่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น เช่น อุ๋ย นนทรี นิมิบุตร ก็เพิ่งมากำกับภาพยนตร์แบบเต็มตัวครั้งแรก วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ก็เขียนบทภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรก ด้านนักแสดงอย่าง ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี, ต็อก ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ, เก่ง ชาติชาย งามสรรพ์, โจ๊กเกอร์ นพชัย มัททวีวงศ์ ที่เป็นนักแสดงวัยรุ่นหน้าใหม่ ทำให้พวกเขากลายเป็นคนดังเพียงชั่วข้ามคืน อีกทั้งภาพยนตร์ก็ทำรายได้มหาศาลสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยเสื่อมความนิยมลง ก็คงเป็นเพราะฉากหลังของเรื่อง ที่นำเสนอในช่วงต้นปี 2500 อันเป็นช่วงสมัยของนายกฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีเรื่องบันทึกกันว่า เป็นยุคที่นักเลงหัวไม้สามารถกร่างได้ทั่ว เพราะมี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ คนสนิทของจอมพล ป. เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (เทียบเท่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในยุคปัจจุบัน) ที่ทั้งตัวของ พลตำรวจ เผ่า และตำรวจนายอื่น ๆ ต่างเลี้ยงนักเลงอันธพาลไว้เป็นลูกน้อง จนทำให้เกิดเหล่าอันธพาลเกลื่อนเมือง ซึ่งในตัวภาพยนตร์ก็นำเสนอออกมาได้เห็นภาพกว้าง และนำเสนอผ่านตัวหมู่เชียร (แสดงโดย อภิชาต ชูสกุล) ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ แดง ไบเล่ และเรื่องเหล่า เมื่อถูกนำเสนอบนแผ่นฟิล์ม ก็ทำให้ได้รับความบันเทิงและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แทรกมาในเรื่องเข้าไปด้วยตัวเรื่องยังไม่ได้นำเสนอแค่วัยรุ่นหน้าตาหล่อเหลายกพวกตีกัน ฉากหลังของคนยุค 2500 ที่ปรากฏในเรื่อง ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ การได้เรียนจากหนังสือว่ายุคเพลงเอลวิสครองเมือง การแต่งกายสมัยนั้น การจีบหญิง บทสนทนาการพูดจา การฉายหนังกลางแปลงที่มีการพากย์เสียงแบบสด ๆ ของพระนครในยุคนั้น ก็เป็นสื่อที่ใช้เรียนรู้ได้อย่างดีว่า ผู้คนยุคนั้นใช้ชีวิตกันอย่างไร เรียกว่าบทและเนื้อเรื่องไม่ได้เขียนขึ้นกันแบบลอย ๆ แต่ผ่านการศึกษาข้อมูลมาโดยละเอียดแต่หากไม่กล่าวถึงตัวละครเอกที่มีอยู่จริงอย่าง แดง ไบเล่ และคนใกล้ชิด คงจะไม่ได้ เพราะแม้ภาพยนตร์จะผ่านไปยี่สิบสามปี ชื่อของ แดง ไบเล่ ไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย และพากันวิเคราะห์ว่า ชีวิตที่แท้จริงของเขานั้นเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับบทของ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่ความหล่อเหลาหน้าตาในตอนนั้นกับปัจจุบัน แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลง และติดตาทุกคนที่ได้รับชมเรื่องนี้ ชื่อของแดง ก็คงอยู่เสมอ เรียกว่าตราบใดที่ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ยังไม่หายไปไหน ชื่อของ แดง ไบเล่ ก็คงอยู่เช่นกันปรากฎการณ์อีกอย่างคือคนไทยในสมัยนั้น มักจะระมัดระวังในการสื่อของผู้คน เพราะบางครั้ง การนำสื่อต่าง ๆ ก็มักจะมีคนเอาเยี่ยงอย่าง แต่ภาพยนตร์นักเลงอย่างเรื่องนี้ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ใหญ่ดูได้ เด็กดูก็ได้ข้อคิด เพราะมีเรื่องของความเชื่อธรรมเนียมไทย ศาสนาและสภาพสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการนำเสนอถึงเรื่องที่แม่ของแดง ไบเล่ ที่เคยทำงานสีเทามาก่อน และประคองเลี้ยงดูลูกชายให้เติบใหญ่ได้ โดยหวังว่าจะให้ลูกชายได้บวชทดแทน อันเป็นความเชื่อที่มีมายาวนานของคนไทยที่ว่า ลูกชายในครอบครัวได้บวช ถือเป็นบุญคุณใหญ่หลวงที่ลูกชายของบ้านได้เข้าหาร่มกาสาวภักดิ์ พ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ แม้ในเรื่องจะนำเสนอด้วยประโยคนิ่ง ๆ แต่สะเทือนใจว่าศาสนาไม่ต้องการคนอย่างแดงเข้าสู่ทางธรรม จึงให้ปุ๊และพวกพ้องมาเป็นมารผจญซึ่งประโยคนิ่ง ๆ นี้เอง ที่ทำให้หลายคนได้ดูและฉุกคิดว่า ริจะเป็นนักเลง กล้าที่จะยอมรับผลที่ตามมาแบบในเรื่องนี้หรือไม่แม้จะมีการถกเถียงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างเกินความเป็นจริงไปมากเช่น ตัวจริงของ แดง ไบเล่ นั้น ได้บวช ความขัดแย้งกับปุ๊ก็ไม่ได้มี และศึก 13 ห้างนั้น แท้จริงก็เป็นเพียงการทะเลาะวิวาทระหว่างวัยรุ่นฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีที่มาซื้อผ้าแถวบางลำพูแต่แม้ว่าจะสร้างเกินจริงไป ภาพยนตร์ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งรายได้และชื่อเสียง อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ที่เน้นถึงคุณภาพและการสร้างเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อให้ผลงานของประเทศไทยได้ออกฉายสู่สากล ซึ่งก็ได้ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ขนาดที่ว่าผู้กำกับชาวไทยทุกคน ล้วนต้องเคยรับชมเรื่องนี้ และ 23 ปีที่ผ่านมาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็จะยังคงอยู่เป็นตำนานของประเทศไทยไปอีกนานข้อมูลอ้างอิงสิ้น "วัลภา" เมีย "แดง ไบเล่" นักเลงดังยุค 2499 จากไปด้วยวัย 75ปูมหลัง “วัลภา” คนรักแดง ไบเล่ สาวไนต์คลับ พลัดพราก ไฟไหม้ของรัก สู่จากลาWikipedia: แดง ไบเล่Wikipedia: 2499 อันธพาลครองเมืองรูปภาพจาก ภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมือง โดย ไท เมเจอร์