กระดานหมากล้อม ก็เหมือนกับน่านฟ้าอันเวิ้งว้างของจักรวาลหมากขาวและดำ ก็เหมือนกับไอหยินหยางแห่งฟ้าดินหมากแต่ละกระดาน เป็นสัญลักษณ์ของกฎเกณฑ์นับหมื่นพันที่ขับเคลื่อนสรรพสิ่งของโลก- ฉู่อิ๋ง, ฮิคารุ เซียนโกะ ตื่นเต้นมากค่ะเพื่อนๆ พอเริ่มหัดเล่นโกะก็ติดตาม ฮิคารุ เซียนโกะ มาตั้งแต่มังงะ จนกลายมาเป็นอนิเมะ และตอนนี้ ฮิคารุ เซียนโกะ ได้กลายเป็นซีรีส์ภาคคนแสดงไปเรียบร้อยแล้ว #ยิ้มปริ่ม ท่านซาอิ เซียนโกะ ยุคเฮอัน ในเวอร์ชันญี่ปุ่น ได้กลายมาเป็น ใต้เท้าฉู่อิ๋ง ผู้เป็นหนึ่งในใต้หล้า เซียนโกะแห่งราชวงศ์เหลียงใต้ ณ จุดๆ นี้ พูดเลยว่า "ละมุน" มาก #แง่มๆ #ฮิคารุเซียนโกะ #hikarunogo #iQiyi #TrueIDรายละเอียดซีรีส์จีน Hikaru no Go "ฮิคารุ เซียนโกะ" (คำบรรยายภาษาไทย)จำนวน: 36 ตอนแนวซีรีส์: ดราม่ารับชมทาง: iQiyi และ iQ.com ทดลองรับชมฟรี 3 EP บน TrueID และสามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่แอป iQiyi สวัสดีค่ะ ออริ (AORii) แห่งช่อง ThaiiDeoGraph รายงานตัว ใครกำลังสนใจ ฮิคารุ เซียนโกะ แต่ลังเลกับกระแสแฟนคลับรับไม่ได้ แบบว่าฉบับคนแสดงทำลายภาพลักษณ์ต้นฉบับญี่ปุ่นมากเกินไป บทความนี้เราจะมาลองเปรียบเทียบดูกัน มาเริ่มกันที่ภาพรวมของ ฮิคารุ เซียนโกะ ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือจีนมีโครงสร้างเดียวกัน คือ การบอกเล่าเรื่องราวของเด็กน้อยที่เฉลียวฉลาด มีพรสวรรค์ด้านโกะซ่อนอยู่ลึกๆ ข้างในที่ไหนสักแห่งจนเจ้าตัวก็ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ข้อดีของเด็กคนนี้ถูกกลบฝังจมดินด้วยการใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย เขาไม่มีเป้าหมายชีวิตทำให้ขาดแรงกระตุ้นให้มุ่งมั่นกับอะไรสักอย่าง จนกระทั่งได้มาเจอกับวิญญาณเซียนโกะผู้ที่ทั้งชิวิตอุทิศให้สิ่งเดียวคือการมุ่งสู่ "หัตถ์เทวะ" สภาวะสูงสุดของจอมยุทธแห่งกระดานหมากล้อม แต่กลับมีเหตุให้สิ้นอายุขัยก่อนวัยอันควรด้วยความอยุติธรรม วิญญาณผู้ที่ในใจยังมีเรื่องค้างคาจึงถูกจองจำอยู่ในกระดานโกะยาวนานกว่าพันปีเพื่อเฝ้ารอผู้มีชะตาต้องกันมาปลดปล่อยและร่วมเดินทางสู่หัตถ์เทวะไปด้วยกัน และนั่นก็คือเด็กน้อยผู้ฉลาดแต่ว่างเปล่าคนนี้นี่เอง ด้วยความที่เด็กน้อยตัวละครหลักใน ฮิคารุ เซียนโกะ อยู่ในครอบครัวที่มีเพียงแม่กับปู่ การได้พบกับวิญญาณเซียนโกะผู้มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้านี้จึงกลายเป็นเพื่อนสุดพิเศษ ที่เข้ามามีบทบาทใกล้เคียงกับการเป็นพ่อและเพื่อนในเวลาเดียวกัน คอยอยู่เคียงข้างและให้คำชี้แนะ ซึ่งความน่ารักมุ้งมิ้งของคู่นี้ ก็คือว่าทั้งคู่มีข้อต่อรองที่สมน้ำสมเนื้อทำให้ขาดกันไม่ได้ ไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ความสัมพันธ์ไม่ได้ออกมาในรูปของเจ้านายลูกน้อง เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องงัดไม้เด็ดมาต่อรองกันอยู่เสมอ จึงมีทั้งฉากขำๆ เวลาทั้งคู่ต่อปากต่อคำเหมือนเป็นไม้เบื่อไม้เมา และมีฉากฟินๆ แบบคู่เพื่อนซี้ย่ำปึกที่มองตาก็รู้ใจ เซียนโกะอายุกว่าพันปีที่คอยตามติดเขายิ่งกว่าเงาตามตัว ได้กลายเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนความโดดเด่นของเด็กน้อยให้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ด้วยวิถีแห่งหมากล้อม โดยปกติเวลาญี่ปุ่นตั้งชื่อตัวละครก็มักจะมีความหมายลึกซึ้งที่เชื่อมโยงกับโครงหลักของเรื่องอยู่แล้ว ทีนี้พอกลายมาเป็นซีรีส์จีน ซึ่งตัวอักษรจีนก็ขึ้นชื่อเรื่องความล้ำลึกด้านภาษาอยู่แล้ว ชื่อของตัวละครหลักทั้ง 3 คนใน ฮิคารุ เซียนโกะ จะมีความหมายอะไรซ่อนอยู่บ้าง ตามออริไปดื่มด่ำกับส่วนหนึ่งของการออกแบบตัวละครเรื่องนี้กันค่ะสือกวง (Shi Guang)นำแสดงโดย Hu Xianxuต้นฉบับญี่ปุ่น ชินโด ฮิคารุ (ญี่ปุ่น: 進藤 ヒカル; โรมาจิ: Shindō Hikaru) ชินโด ฮิคารุ ตัวเอกใน ฮิคารุ เซียนโกะ เวอร์ชันญี่ปุ่น ผู้แต่งออกแบบคาร์แรคเตอร์ได้ละเอียดดีมากค่ะ ยิ่งค้นประวัติยิ่งรักเธอ มี Fun Facts อยู่หลายจุดในตัวฮิคารุ ฮิคารุ แปลว่า แสงสว่าง ส่วนในซีรีส์จีนเลือกใช้คำว่า "กวง" (光 / guāng) แปลว่า แสงสว่าง เช่นเดียวกัน และหากเราขุดลึกลงไปถึงพัฒนาการของคำศัพท์ (Etymology) โดยแตกระดับ Ideographic คือ การใช้ภาพหรือสัญลักษณ์สื่อความหมาย เป็นการใช้ตัวอักษรสื่อความหมายแบบเดี่ยวๆ ก่อนจะนำไปผสมผสานกันกลายเป็นคำใหม่ คำว่า 光 นี้ประกอบขึ้นมาจากตัวอักษร 2 ตัว คือ 儿 / ér แปลว่า ลูก, เด็ก และ 火 / huǒ แปลว่า ไฟ รวม 2 คำในลักษณะของเด็กถือไฟหรือถือคบไฟ สามารถให้แสงสว่างและเป็นแสงนำทาง เฉกเช่นเดียวกับในซีรีส์จีนเรื่อง ฮิคารุ เซียนโกะ "สือกวง" ต่างก็เป็นแสงสว่างนำทางให้ทั้ง "ฉู่อิ๋ง" วิญญาณเซียนโกะพันปีไปสู่ความเป็น "หัตถ์เทวะ" และ "หยูเลี่ยง" (ต้นฉบับญี่ปุ่น: โทยะ อากิระ คู่ปรับตลอดกาลบนสังเวียนหมากล้อม) เด็กน้อยที่คนในวงการโกะต่างรู้กันดีว่าฝีมือสามารถเทียบชั้นโปรได้เลยทีเดียว ผู้ใหญ่รุ่นพ่อทั้งมือเก่ามือใหม่ต่างหมุนเวียนมาขอคำชี้แนะจากหยูเลี่ยงอยู่เสมอ ทำให้หยูเลี่ยงไม่เคยเจอคู่แข่งสมน้ำสมเนื้ออีกเลยจนกระทั่งปะทะกับสือกวง หมากกระดานแรกที่ทำให้เขาต้องพ่ายแพ้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสือกวงก็เปรียบเสมือนแสงไฟส่องทาง ทุกๆ การตัดสินใจของหยูเลี่ยงต่างทำไปเพื่อนำทางเขาไปสู่การเทียบชั้นกับสือกวงให้ได้ในที่สุด โดยไม่รู้เลยว่าคนที่ตัวเองกำลังไล่ตามอยู่นั้นไม่ใช่สือกวงแต่เป็นฉู่อิ๋งเซียนโกะผู้เป็นหนึ่งในใต้หล้าแห่งราชวงศ์เหลียงใต้ หรือแท้ที่จริงแล้วคบเพลิงที่เด็กน้อยกำลังถือในชื่อของ สือกวง ก็คือ ฉู่อิ๋ง นั่นเอง นอกจากนี้ในซีรีส์จีนก็ได้นำความหมายของชื่อฮิคารุมาสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์เพิ่มเติมด้วยโดยเปรียบเทียบ ฉู่อิ๋ง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ฟูจิวาระ โนะ ซาอิ) วิญญาณเซียนโกะอายุกว่าพันปี ที่เข้ามาในชีวิตของสือกวง ในช่วงเวลานั้นมีสือกวงที่ไหนมีฉู่อิ๋งที่นั่น เหมือนเป็นเงาตามตัวที่จะปรากฏขึ้นเสมอเมื่อมีแสงความสัมพันธ์ของเราสองคน สนิทยิ่งกว่าเงาตามตัวซะอีกเงาปรากฏขึ้นก็เพราะว่ามีแสง ส่วนเขาแทบจะเรียกได้ว่าตามติดฉันไปทุกที่ทุกเวลาทุกหนทุกแห่งจนผมเกือบคิดว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผมไปแล้ว - สือกวง, ฮิคารุ เซียนโกะหยูเลี่ยง (Yu Liang)นำแสดงโดย Hao Fushenต้นฉบับญี่ปุ่น โทยะ อากิระ (ญี่ปุ่น: 塔矢 アキラ; โรมาจิ: Tōya Akira) เมื่อพูดถึง ฮิคารุ ไปแล้วก็ต้องตามด้วยคู่ปรับตลอดกาลอย่าง โทยะ อากิระ ซึ่งชื่อ "อากิระ" ก็แปลว่า แสงสว่าง เช่นเดียวกันกับ ฮิคารุ อาจจะเปรียบได้ว่าทั้ง 2 คน ก็คือ ดาวเด่นผู้ส่องแสงเจิดจรัสแห่งวงการหมากล้อม เมื่อแปลงเป็นซีรีส์จีน ชื่อ อากิระ ถูกแทนที่ด้วย หยูเลี่ยง ซึ่ง เลี่ยง (亮 / liàng) ก็แปลว่า แสงสว่าง ส่องสว่าง รัศมี เป็นแสงสว่างที่เปรียบได้กับ "ตะเกียงน้ำมันจุดไฟ" นั่นคือมีพลังที่จะทำให้เกิดแสงสว่างได้ในตัวเอง แต่แน่นอนว่าก่อนน้ำมันจะติดไฟ ก็ต้องมีไฟไปจุดน้ำมันให้ลุกโชนก่อนใช่มั้ยคะ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าไฟที่ใช้จุดน้ำมันในตะเกียงของหยูเลี่ยงก็คือคบเพลิงที่เด็กน้อยตามความหมายในชื่อของสือกวงถืออยู่ ตัวละครตัวนี้สำคัญต่อเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นคู่ปรับตลอดกาลของ สือกวง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ฮิคารุ) แล้ว ยังเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเซียนโกะแห่งยุคความฝันอันสูงสุดของ ฉู่อิ๋ง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ซาอิ) ที่หมายมั่นปั้นมืออย่างแรงกล้า หากได้ประลองฝีมือกันสักตั้งคงได้บรรลุสู่ "หัตถ์เทวะ" เป็นแน่แท้! ดูไปดูมาก็อาจงงว่าทำไมต้องยึดติดกับใครบางคนขนาดนั้น เล่นโกะจะเล่นกับใครก็ได้ไม่ได้หรือ? สิ่งนี้ถูกเฉลยในตอนที่ 35 ช่วงท้ายซีรีส์ เมื่อได้เห็นสือกวงและหยูเลี่ยงยืนเคียงข้างกันบนเวทีอย่างสง่างาม ผู้ใหญ่ในวงการโกะถึงกับกล่าวว่าหมากล้อม สุดท้ายก็เป็นเกมของคนสองคน หมากเลื่องชื่อแต่โบราณจะทำให้สมบูรณ์ได้ต้องอาศัยคู่ต่อสู้ที่มีฝีมือทัดเทียมกันและเด็กทั้งสองคนนี้ได้มาครบแล้วฉู่อิ๋ง (Chu Ying)นำแสดงโดย Zhang chaoต้นฉบับญี่ปุ่น ฟูจิวาระ โนะ ซาอิ (ญี่ปุ่น: 藤原佐為) ซาอิในแบบฉบับคนแสดง ทีมงานซีรีส์จีนได้เลือกใช้คำว่า 赢 / yíng แปลว่า ชนะ ตัวอักษรตัวเดียวที่มีปรัชญาแฝงอยู่อย่างน่าสนใจ 赢 / yíng ประกอบไปด้วยตัวอักษร 5 ตัว นำทางสู่ชัยชนะ亡 / wáng แปลว่า ความตาย (Death) การทำลาย (Destruction) การสูญเสีย (to lose) การพินาศ (to perish) เป็นตัวอักษรที่เขียนเป็นลำดับแรก ถ้าจะลองตีความหมายที่ซ่อนอยู่อาจเป็นไปได้ว่า หากกรำศึกคราใดต้องประเมินความสูญเสียไว้ล่วงหน้า ถ้าเทียบกับคำศัพท์ยุคปัจจุบันก็น่าจะหมายถึง "การประเมินความเสี่ยง" เมื่อบริหารความเสี่ยงได้ดี รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง口 / kǒu แปลว่า ปาก (Mouth) ทางเข้า (Entrance) ประตู (Gate) การเปิด (Opening) ตัวอักษรนี้อาจตีความได้เป็น 2 นัยยะ นัยยะแรก หมายถึง ปาก เชื่อมโยงกับคำพูด การสื่อสาร รวมถึงจิตวิทยาในการสื่อสาร ทุกประวัติศาสตร์การรบจะมีจิตวิทยาเป็นหนึ่งในกลศึกเสมอ คำพูดถือเป็นอีกหนึ่งอาวุธอันทรงพลัง พูดให้ฮึกเหิมก็ได้ พูดให้ท้อแท้ก็ได้ พูดให้หวาดกลัวก็ได้ ทุกคำพูดที่เลือกใช้อาจนำไปสู่เส้นชัยหรือพ่ายแพ้ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้คำ นัยยะที่สอง ตามความหมายที่ว่า ทางเข้า ประตู และการเปิด ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญในทุกสนามรบ หากเปิดศึกได้ดี เข้าถูกช่อง ลองถูกทาง ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เฉกเช่นเดียวกับการเดินหมากล้อม ในซีรีส์จีน ฮิคารุ เซียนโกะ ก็มีการกล่าวเรื่องนี้ไว้ด้วย ในยุคของ ฉู่อิ๋ง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ซาอิ) เมื่อพันกว่าปีก่อน เขาเดินหมากดำชนะเสมอ แต่ในปัจจุบัน วงการหมากล้อมได้ตั้งกฏ Komi หรือ "แต้มต่อ" ขึ้น เพราะในการเล่นหมากล้อมมีกติกาอยู่ว่า "ฝ่ายดำ" ได้เดินหมากก่อน ถือว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพื่อชดเชยความเสียเปรียบของฝ่ายขาวที่ให้ดำเดินก่อน ฝ่ายขาวจะได้คะแนนฟรีๆ ไปจำนวนหนึ่ง นั่นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเปิดเกมดีมีชัยไปกว่าครึ่งนั้นไม่เกินจริงแต่อย่างใด月 / yuè แปลว่า พระจันทร์ (Moon) เดือน (Month) ในยุคที่ยังไม่มีนาฬิกาพระจันทร์เป็นอุปกรณ์บอกเวลาอย่างหนึ่งที่ทรงประสิทธิภาพ ทุกคนเห็นตรงกันไม่คลาดเคลื่อน ตัวอักษรนี้จึงหมายถึงเวลา การเข้าถูกเวลาสำคัญอย่างยิ่งต่อชัยชนะ ศัตรูแข็งแกร่งเพียงใดก็ย่อมมีเวลาเพลี่ยงพล้ำ หากเข้าจู่โจมได้ถูกจังหวะชัยชนะย่อมนอนรออยู่ในกำมือแน่นอน贝 / bèi แปลว่า เปลือกหอย (Shell) เงิน (Money) สกุลเงิน (Currency) แน่นอนว่าการทำศึกด้วยมือเปล่ายากที่จะคว้าชัย และในยุคที่ยังไม่มีสกุลเงิน เปลือกหอย ก็คือของมีค่าที่ใช้จับจ่ายแทนเงินตรานั่นเอง凡 / fán แปลว่า ธรรมดา (Common) สามัญ (Ordinary) "จักทำศึกใหญ่ใจต้องนิ่ง" ประโยคนี้น่าจะใช้อธิบายความสำคัญของตัวอักษรนี้ได้เป็นอย่างดี การกลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้ของจิต คือ ความสงบ เยือกเย็น เป็นปราการด่านสุดท้ายสู่ชัยชนะ เมื่อขุนศึกได้เตรียมการ 4 ประการข้างต้นอย่างครบสมบูรณ์แล้ว แพ้-ชนะก็วัดกันที่ใจนี่หล่ะค่ะ ฉู่อิ๋ง หรือ ซาอิ ในอนิเมะนั้น ซีรีส์จีนภาคคนแสดงทำออกมาได้ดี มีความคล้ายทั้งภาพลักษณ์และอุปนิสัย ดัดแปลงเล็กน้อยให้มีกลิ่นอายความเป็นจีนมากขึ้น อายุกว่าพันปีแต่ก็ยังมีความเป็นเด็ก นักแสดงถ่ายทอดออกมาได้น่ารักมาก เพิ่มความฟรุ้งฟริ้งให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้อีกเยอะเรื่องย่อซีรีส์จีน Hikaru no Go "ฮิคารุ เซียนโกะ" ซีรีส์เปิดมาในปี ค.ศ. 1997 ก่อนวันที่อังกฤษจะส่งมอบฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิ เป็นวันๆ หนึ่งในฤดูร้อนแสนธรรมดาแต่ก็ไม่ธรรมดา เพราะเป็นวันที่ สือกวง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ชินโด ฮิคารุ) จะได้พบกับ ฉู่อิ๋ง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ฟูจิวาระ โนะ ซาอิ) และเปลี่ยนชะตาชีวิตเขาไปตลอดกาล เรื่องราวมีอยู่ว่า "สือกวง" เด็กน้อยวัย 9 ขวบ ชอบเล่นรถทามิย่า ที่สำคัญชอบเล่นแข่งกับเพื่อน เรียกได้ว่ามีรุ่นใหม่มาเมื่อไรต้องดิ้นทุรนทุรายหาวิธีคว้ามาเป็นเจ้าของให้ได้ แต่เจ้ากรรมสือกวงแม้เป็นเด็กหัวดีแต่ไม่สนใจเรียนทำให้เกรดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จะขอค่าขนมเพิ่มก็ไม่ได้ รถทามิย่ารุ่นใหม่ก็อยากได้ เลยชวน เจียงเสวี่ยหมิง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: ฟูจิซากิ อาคาริ) เด็กผู้หญิงที่ซี้ย่ำปึ๊กกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เข้าไปค้นห้องใต้หลังคาของคุณปู่เพื่อหาของที่พอจะมีค่าไปขาย หมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างดีว่าวันนี้รวยเละแน่นอน! เจ้ารถทามิย่าใหม่กริ๊บคันนั้นเป็นของฉันแน่นอน ครุคริ ครุคริ แต่การหาของมีค่าในห้องใต้หลังคาของคุณปู่แทบไม่แตกต่างอะไรกับการงมเข็มในมหาสมุทร เดชะบุญ! สายตาเหยี่ยวของสือกวงก็เหลือบไปเห็นกระดานโกะเก่าแก่ หัวสมองอันแสนปราดเปรื่องของสือกวงก็คิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะเอาไปขายพวกที่ชอบเล่นของเก่าได้ มือน้อยๆ บรรจงเช็ดทำความสะอาดกระดานโกะเก่าคร่ำครึ แต่แล้วสือกวงก็ต้องประหลาดใจกับรอยเปื้อนบนกระดานโกะที่เช็ดยังไงก็เช็ดไม่ออก ยิ่งไปกว่านั้นพอเขาชี้ให้เสวี่ยหมิงดูรอยเปื้อนประหลาดบนกระดาน เพื่อนตัวน้อยของเขากลับมองไม่เห็น ทันใดนั้นเองฟ้าสดใสในฤดูร้อนก็เริ่มมืดครึ้ม สือกวงได้ยินเสียงใครสักคนแว่วมาจากไหนก็ไม่รู้ เสวี่ยหมิงเถียงเรื่องรอยเปื้อนกับสือกวงยังไม่ทันจบก็มีเรื่องเสียงแว่วจากไหนก็ไม่รู้อีก จนเธอไม่อยากจะสนใจเรื่องบ้าๆ ของเพื่อนสุดเพี้ยนคนนี้แล้วก็หันหลังกลับบ้านไปแบบอารมณ์ไม่สู้ดีนัก ในขณะที่สือกวงอยู่คนเดียวในห้องใต้หลังคานั้นเอง เสียงแว่วก็ดังและถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ฉู่อิ๋ง เซียนโกะแห่งราชวงศ์เหลียงใต้ เจ้าของเสียงแว่วนิรนามก็ปรากฏกายต่อหน้าสือกวง และนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะนำพาสือกวงเข้าสู่มหานทีแห่งสงครามหมากล้อม โชคชะตานำพาเขาให้ได้พบกับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง หยูเลี่ยง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: โทยะ อากิระ) ในวันที่สือกวงยังไม่รู้จักวิธีการจับตัวหมากให้สง่างามด้วยซ้ำ แต่กลับชนะหยูเลี่ยงเด็กน้อยวัยเดียวกันกับสือกวงแต่ฝีมือนั้นเทียบชั้นระดับมือโปร ที่เป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะสือกวงเป็นเพียงสื่อกลางให้วิญญาณใต้เท้าฉู่อิ๋ง ปรมาจารย์หมากล้อมแห่งเหลียงใต้ ได้เดินหมากอีกครั้งหลังจากถูกจองจำอยู่ในกระดานโกะแห่งความทรงจำของเขามายาวนานกว่าพันปี แต่นี่ก็เป็นเพียงก้าวแรกสู่ความปรารถนาอันสูงสุดของปรมาจารย์หมากล้อมผู้อาภัพเท่านั้น การเดินทางยังอีกยาวไกลกว่าจะไปถึงซึ่งความปรารถนาอันสูงสุดของฉู่อิ๋ง นั่นคือการเข้าถึง "หัตถ์เทวะ" และการที่จะไปสู่จุดนั้นได้ฉู่อิ๋งต้องได้ประลองฝีมือกับเซียนโกะแห่งยุค ซึ่งก็คือ หยูเสี่ยวหยาง (ต้นฉบับญี่ปุ่น: โทยะ โคโย) พ่อของหยูเลี่ยงนั่นเอง แต่ตัวหยูเลี่ยงเองเมื่อแพ้หมดรูปให้กับเด็กที่อายุไล่เลี่ยกันแถมเหมือนจะไม่รู้ประสีประสาเรื่องโกะแบบสือกวงก็ถึงขั้นไปไม่เป็น จึงขอหลบไปฝึกวิทยายุทธที่เกาหลีประเทศที่ศิลปะวิทยาด้านเกมกระดานหมากล้อมเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เมื่อข่าวที่สือกวงชนะหยูเลี่ยงได้ถึงสองครั้งสองคราถึงหูผู้เป็นพ่ออย่าง หยูเสี่ยวหยาง ก็แน่นอนว่าปรมาจารย์หยูเสี่ยวหยางย่อมต้องการประมือด้วยสักตา สือกวงผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็จัดไปตามคำขอ เขาก็แค่ไปเป็นกายหยาบให้ฉู่อิ๋งได้ประลองฝีมือการเดินเกมหมากล้อมกับเซียนโกะแห่งยุค แลกกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของฉู่อิ๋งที่จะมาช่วยดึงคะแนนสอบของเขาให้สูงขึ้นจนสามารถเอาไปต่อรองค่าขนมมากขึ้นจะได้เอาไปถอยรถทามิย่าแจ่มๆ มาอวดเพื่อน เด็กน้อยสือกวงในขณะนั้นคิดเพียงเท่านี้ แต่นัดประลองฝีมือกับหยูเสี่ยวหยางครั้งนั้นทำให้เด็กน้อยสือกวงรู้ว่าการเข้าถึง "หัตถ์เทวะ" นั้นคือสิ่งที่นักหมากล้อมทุกคนใช้ทั้งชีวิตเพื่อค้นหา คำพูดของหยูเสี่ยวหยางทำให้สือกวงโมโหฉู่อิ๋งอย่างมากเพราะเขาไม่อยากเล่นหมากล้อมไปตลอดชีวิตเขาจึงไล่ฉู่อิ๋งออกไปจากชีวิตเขา หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้เล่นหมากล้อมอีกเลย จนเวลาผ่านไป 6 ปี สือกวง อยู่ชั้น ม.3 เกิดเหตุให้ต้องเข้าไปช่วยรุ่นพี่ข้างบ้านที่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน เพื่อนรุ่นพี่ผู้ไร้พิษสงแต่รักหมากล้อมสุดหัวใจกำลังพยายามก่อตั้งชมรมหมากล้อม ชมรมที่แทบจะหาสมาชิกมาเข้าชมรมไม่ได้แถมยังโดนระรานจากชมรมอื่นอีก สือกวงจึงจำใจต้องกลับเข้าสู่สนามหมากล้อมที่เขาเคยปฏิเสธมายาวนาน เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้สือกวงได้พบกับฉู่อิ๋งอีกครั้ง นับแต่นั้นเป็นต้นมา หมากล้อมก็ค่อยๆ เข้ามาในชีวิตของสือกวงจนผสานรวมกันกับลมหายใจ จากเด็กหนุ่มผู้เหลวไหลเหลาะแหละได้รับการขัดเกลาอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านวิถีแห่งหมากล้อมจนกลายเป็นชายหนุ่มผู้น่านับถือ แต่ศึกแห่งหมากล้อมนั้นช่างล้ำลึก ฮิคารุ เซียนโกะ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวชีวิตของสือกวง แต่เป็นเรื่องราวของหลากหลายชีวิตที่เชื่อมโยงกันด้วยหมากกระดาน แต่ละตัวละครใน ฮิคารุ เซียนโกะ เปรียบเหมือนกับกระจกที่จะคอยสะท้อนแง่มุมชีวิตให้เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งความสุข ความเศร้า ความล้มเหลว ชัยชนะ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มอบพลังงานให้แก่เรา ฮิคารุ เซียนโกะ แม้จะดัดแปลงมาจากอนิเมะ แต่เรื่องราวชีวิตของทุกตัวละครในเรื่องมีความสมจริง ทั้งความพยายามที่ล้มเหลว เหตุสุดวิสัยที่เข้ามาขวางความสำเร็จแค่เอื้อม เหตุการณ์ในชีวิตที่ไม่เป็นไปตามแผนเหล่านี้จะรับมือกันอย่างไร? ค้นหาคำตอบ เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันกับซีรีส์จีน Hikaru no Go "ฮิคารุ เซียนโกะ" ทดลองรับชมฟรี 3 EP บน TrueID และสามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่แอป iQiyi นะคะ ถึงแม้ว่าภาคคนแสดงที่จีนผลิตจะผิดแผกแตกต่างไปจากอนิเมะญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่ก็พอทำความเข้าใจได้ว่าด้วยบริบทของสังคมที่ต่างกัน รสนิยมความชอบของกลุ่มเป้าหมาย อุปนิสัยของคนจีนกับคนญี่ปุ่นก็ต่างกัน ทำให้ซีรีส์ที่จีนผลิตมีรายละเอียดที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับตลาด ทั้งนี้โครงเรื่องภาพรวม ไฮไลท์สำคัญๆ ของต้นฉบับนั้นในซีรีส์ก็คงไว้อย่างดี พอดูทั้ง 2 เวอร์ชันทั้งของญี่ปุ่นและจีน เราจะสัมผัสได้ถึงข้อความที่ถูกถ่ายทอดผ่านเนื้อเรื่องแตกต่างกัน ในเวอร์ชันญี่ปุ่นจะรับรู้ถึงพลังแห่งความพยายาม ซึ่งเป็นวิถีแห่งโกะ ที่ต้องฝึกฝนทั้งกายและใจเพื่อไปสู่ระดับเซียน ส่วนเวอร์ชันจีนเราจะได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิตที่สื่อสารผ่านการเดินหมากบนกระดานโกะ ปรัชญาแบบจีนบนวิถีแห่งโกะ เหมือนกับว่าเราเองที่เป็นผู้ดูก็สามารถพัฒนาความคิดและมุมมองให้สอดคล้องกับวิถีแห่งโกะ ที่ต้องมองให้ไกลกว่าหมากที่กำลังเดินเฉพาะหน้า เป็นซีรีส์น้ำดีที่ดูสนุกดีแถมได้พัฒนาตนเองตามไปด้วยแน่นอนค่ะ :) คะแนนเรื่องนี้เราให้ 10/10 ไปเลยจ้า ชอบจริง ชอบจัง ปังปุริเย่ เซอร์ไพรส์สุดคือเพลงจบซีรีส์ Cover เพลงจบอนิเมะชื่อ Bokura no Bouken แถมยก BGM จากอนิเมะมาด้วย ฟังแล้วน้ําตารื้นขึ้นมาเลยค่ะ ฮ่า ฮ่าเครดิตภาพ :Weibo: ภาพที่ 1, ภาพที่ 2, ภาพที่ 3, ภาพที่ 4, ภาพที่ 5, ภาพที่ 6, ภาพที่ 7, ภาพที่ 8, ภาพที่ 9, ภาพที่ 10, ภาพที่ 11, ภาพที่ 12, ภาพที่ 13, ภาพที่ 14, ภาพที่ 15, ภาพที่ 16, ภาพที่ 17, ปกBehindTheName: ฮิคารุ, อากิระ, Longdo: กวง, 儿, 火, เลี่ยง, 亡 / wáng, 口 / kǒu, 月 / yuè, 贝 / bèi, 凡 / fánWrittenChinese: 赢 / yíng🎬 สามารถรับชมได้ทั้ง 3 ตอนฟรีๆ บน TrueID ได้แล้ววันนี้ คลิกรับชม 👉 คำบรรยายไทย🎬 อัปเดตหนังฮอต อนิเมะฮิต ดูซีรีส์แล้วติดแวะมาแชร์กับคอมมูนิตี้ TrueID Community ได้เล้ย 📺✨เกาะติดซีรีส์เรื่องใหม่ ๆ ได้ที่ App TrueID โหลดฟรี !