รีเซต

ใครงงบ้าง..ยกมือขึ้น! อธิบายตอนจบ "Leave The World Behind" อะไรทำให้โลกแตก

ใครงงบ้าง..ยกมือขึ้น! อธิบายตอนจบ "Leave The World Behind" อะไรทำให้โลกแตก
แบไต๋
12 ธันวาคม 2566 ( 07:00 )
412

‘Leave The World Behind’ นั้นเริ่มจากการแนะนำครอบครัวแซนด์ฟอร์ดที่ประกอบด้วย พ่อชื่อ เคลย์ (อีธาน ฮอว์ก – Ethan Hawke) เป็นคนนิสัยง่ายอะไรก็ได้ แม่ชื่อ อแมนดา (จูเลีย โรเบิร์ตส์ – Julia Roberts) เป็นคนนิสัยขี้โวยวายเจ้ากี้เจ้าการ ลูกชายวัยรุ่นชื่อ อาร์ชี (ชาร์ลี อีแวนส์ – Charlie Evans) และลูกสาวคนเล็กชื่อ โรส (ฟาร์ราห์ แมกเคนซี – Farrah Mackenzie) ที่ติดซีรีส์อย่างหนักโดยเฉพาะเรื่อง ‘Friends’

ทั้งหมดต้องรีบจัดข้าวของออกไปบ้านเช่าตากอากาศริมหาดที่มีคำอธิบายในเว็บไว้ว่า ‘ทิ้งโลกไว้เบื้องหลัง’ ที่หมายถึงสถานที่พักผ่อนหนีจากความวุ่นวายทั้งหมด ทั้งนี้มันเป็นความเอาแต่ใจของอะแมนดาเป็นหลักที่บังคับให้ครอบครัวต้องมาพักผ่อนแบบปุ่บปั่บ เพราะเธอทนไม่ไหวกับการทำงานกับผู้คนมาทั้งปีจนถึงกับสบถออกมาว่าเธอ ‘เกลียดมนุษย์’

ระหว่างนั้นได้เกิดเค้าลางสำคัญขึ้นคือ ในตอนกลางวันเรือเดินสมุทรควบคุมไม่ได้แล้วแล่นเข้าชายหาดที่ครอบครัวกำลังนอนอาบแดดอยู่ ในตอนเย็นปรากฏกวางขึ้นในสวนหลังบ้านเช่า แต่เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในตอนค่ำเมื่อมีแขกไม่ได้รับเชิญผิวดำใส่ชุดคลาสสิกมาอ้างตัวว่าพวกเขาคือ พ่อลูกสก็อตต์ที่เป็นเจ้าของบ้านพักตากอากาศนี้ คนพ่อชื่อ จอร์จ (มาเฮอร์ชาลา อาลี – Mahershala Ali) และลูกสาววัยรุ่นชื่อ รูธ (มายฮา’ลา เฮอร์โรลด์ – Myha’la Herrold) ทั้งคู่ไม่สามารถกลับไปบ้านที่อยู่ในเมืองได้เพราะไฟดับ จึงจำใจขับรถมาเพื่อขอค้างคืนที่บ้านเช่าของพวกเขาเอง

จากนั้นเมื่อสองครอบครัวที่ต่างไม่ไว้ใจกันต้องมาอยู่ร่วมกัน ฝั่งครอบครัวแซนด์ฟอร์ดไม่เชื่อสนิทใจว่าพ่อลูกผิวดำนี้จะเป็นเจ้าของบ้านจริง ๆ หรือไม่ ขณะที่ลูกสาวของครอบครัวสก็อตต์ก็อึดอัดใจที่ถูกสงสัยและถูกทำเหมือนขอทานทั้งที่เป็นบ้านของพวกเธอเอง

นี่เป็นสถานการณ์ตั้งต้นที่ผู้กำกับ แซม เอสเมล (Sam Esmail) ได้ใช้เป็นฐาน ก่อนจะโยนเหตุการณ์ประหลาดจากภายนอกอีกมากมายลงไปเพื่อทดสอบความไว้ในเชื้อเชื่อใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทั้งระบบการสื่อสารที่ล่ม ไม่ว่าจะสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ โทรศัพท์ดาวเทียม รถเทสล่าที่ระบบออโต้ไพลอตทำงานเองและเรียงมาชนกันยับยาวหลายกิโลเมตรจนปิดถนนเข้าและออกเมือง เครื่องบินที่ขาดการควบคุมร่วงตกลงพื้นโลกหลายลำ คลื่นเสียงปวดหูที่ไม่มีที่มาที่ไป ฝูงกวางและฝูงนกฟลามิงโกที่บุกเข้ามาและมีท่าทีประหลาดไม่กลัวมนุษย์ จนกระทั่งถึงคำขู่ชัด ๆ อย่างข้อความฉุกเฉินทางโทรศัพท์ที่แจ้งว่าอเมริกากำลังจู่โจมทางไซเบอร์จากแฮกเกอร์ต่างชาติ โดรนที่ปล่อยใบปลิวแสดงข้อความภาษาอาหรับขู่อาฆาตอเมริกา เป็นต้น ที่นำมาสู่ข้อถกเถียงตลอดเรื่องว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกภายนอกย่านบ้านพักตากอากาศหรูนี้กันแน่

ฉากจบเกิดอะไรขึ้น

ในตอนจบอแมนดาและรูธออกไปตามหาโรสที่หายตัวไปจากบ้าน และระหว่างทางในป่าได้เห็นการระเบิดคล้ายปรมาณูขึ้นในเมืองนิวยอร์ก ฝั่งจอร์จและเคลย์อยู่ด้วยกันเพื่อหาวิธีรักษาอาการของอาร์ชีที่กำลังป่วยด้วยอาการประหลาดฟันหลุดเองหมดทั้งปาก ส่วนโรสที่หายตัวไปเธอตามกวางไปจนถึงบ้านครอบครัวเศรษฐีที่มีห้องใต้ดินซึ่งสร้างไว้หลบภัยวันโลกแตก อันเพียบพร้อมด้วยอาหารเครื่องอำนวยความสะดวกและที่สำคัญแผ่นหนังและซีรีส์มากมายเต็มชั้น

ในฉากจบข้อมูลที่สำคัญและชี้ชวนว่าจะเป็นข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นนั้น เกิดขึ้นเมื่อจอร์จได้พาเคลย์และอาร์ชีมาหา แดนนี่ (เควิน เบคอน – Kevin Bacon) ที่ตุนเสบียงอาหารและยาไว้มากมายให้ช่วยอาร์ชี จอร์จที่ได้ฟังข้อมูลของแดนนี่ว่าอาการของอาร์ชีน่าจะมาจากคลื่นเสียงที่เป็นอาวุธสงครามลับที่คาดว่าเคยใช้ในคิวบา และที่รัฐอื่นก็มีโดรนโปรยใบปลิวเช่นเดียวกันแต่เป็นภาษาจีนไม่ก็เกาหลีเหนือ ก็ทำให้จอร์จมีข้อสรุปอย่างหนึ่งขึ้นมา

จอร์จมีลูกค้าที่ทำงานในกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิเคยพูดถึงการฝึกซ้อมรบของกองทัพอเมริกัน 3 ขั้นตอนเพื่อทำลายรัฐประเทศใด ๆ จากภายในไม่เว้นแม้แต่อเมริกาเอง โดยมีขั้นตอนแรกคือการตัดการสื่อสารติดต่อกันทั้งหมด ขั้นตอนต่อมาคือให้ข้อมูลที่ชวนสับสน และขั้นสุดท้ายคือรอให้ประชาชนในรัฐนั้นต่อสู้กันเอง เกิดรัฐประหาร เกิดสงครามกลางเมือง จนรัฐล่มสลายไป ซึ่งสามารถตอบเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้าได้

ทั้งนี้ก่อนนี้ตัวหนังได้แบ่งการนำเสนอเป็น 5 ตอนและขึ้นชื่อในแต่ละตอนเรียงไป คือ The House – บ้าน ที่นำเสนอข้อถกเถียงสิทธิการครอบครองบ้านเช่าระหว่างผู้เช่าและเจ้าของที่แท้จริง, The Curve – เส้นโค้ง ที่นำเสนอสัญญาณที่บ่งบอกความล่มสลายเหมือนเส้นโค้งลงในกราฟเชิงเส้น ซึ่ง 2 ตอนแรกนี้เป็นส่วนของการเกริ่นเรื่อง แต่จะมีนัยสำคัญที่ตอน 3-5 ซึ่งเปรียบเปรยพอดิบพอดีกับการโจมตี 3 ขั้นตอนของจอร์จ

The Noise – เสียงรบกวน ในเรื่องจะเกิดคลื่นเสียงประหลาดที่ทำให้ทุกคนปวดหูจนไม่ได้ยินอะไร ซึ่งตรงนี้สะท้อนถึงการโจมตีขั้นที่ 1 ที่ว่าบดบังการรับรู้ของผู้คน, The Flood – น้ำท่วม ในหนังโรสจะเล่านิทานเรื่องชายแก่กับน้ำท่วมให้แม่ฟัง เนื้อหาคือพระเจ้าส่งสัญญาณมาบอกให้ชายแก่ที่สวดอ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยจากน้ำท่วม ทั้งส่งคำเตือน ส่งชายพายเรือ ส่งหน่วยกู้ภัยกับเฮลิคอปเตอร์ แต่ชายแก่ก็ไม่หนีเลือกจะรอพระเจ้า เพราะชายแก่โง่เกินกว่าจะเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าส่งมาช่วยเหล่านั้น โรสคิดว่ากวางคือสัญญาณเตือนและคำใบ้ให้หนีนั้น

น้ำท่วมยังสะท้อนถึงการโจมตีขั้นที่ 2 ด้วยข้อมูลมหาศาลหลั่งไหลจนไม่รู้ว่าความจริงคืออะไรกันแน่ด้วย ตรงนี้มีนัยยะว่าธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนภัยบางอย่างมายังผู้คนแล้ว แต่พวกตัวละครมองไม่เห็นเองเพราะเพิกเฉยหรือไม่เชื่อ แต่โรสเชื่อในสัญญาณนั้นและเลือกจะออกตามกวางประหลาดไปมากกว่าจะเกรงกลัว ทำให้เธอบอกแม่หลังเล่านิทานเรื่องน้ำท่วมกับชายแก่จบว่า เธอไม่อยากเฝ้ารอการช่วยเหลืออย่างตาแก่ในนิทานแล้ว

และตอนสุดท้าย The Last One เป็นทั้งการอ้างถึงช่วงจบของหนัง และยังเป็นชื่อตอนจบของซีรีส์ ‘Friends’ ที่โรสรอดูมาตลอดด้วยซึ่งเธอจะดูมันจากฐานลับใต้ดินของบ้านเศรษฐีในฉากสุดท้ายของหนัง มันยังสะท้อนถึงขั้นสุดท้ายของการจู่โจมเมื่อผู้คนต่างถืออาวุธเข้าหากันเองเพราะไม่ไว้ใจกันทั้งยังเป็นพฤติกรรมตอบสนองต่อความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ด้วยความรุนแรงด้วย ในหนังเราจะเห็นแดนนี่และจอร์จต่างเล็งปืนเข้าหากันทั้งที่เป็นเพื่อนกันมาก่อน ตรงตามทฤษฎีที่จอร์จได้ยินมา

พิจารณาจากชื่อตอนและคำอธิบายของจอร์จ จึงเชื่อได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังตามที่ผู้กำกับเอสเมลชี้นำคือ อเมริกาถูกจู่โจมทางไซเบอร์และนำมาสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมอย่างแท่นขุดเจาะทำน้ำมันรั่วลงทะเล จนสัตว์ป่าที่อยู่ทางใต้ต้องอพยพหนีขึ้นมาทางเหนือ ดาวเทียมถูกปิดการทำงาน เป็นต้น และอาจเป็นความบังเอิญที่ตรงกับแผนซ้อมรบหนึ่งของกองทัพอเมริกันในการทำลายรัฐประเทศอื่น หรือทั้งหมดเป็นการทำรัฐประหารของกองทัพเอง อันนี้ก็ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ทว่าเป็นฝีมือมนุษย์อย่างแน่นอน ตามที่อแมนดาถกกับรูธในกระท่อมว่ามนุษย์มีธรรมชาติในการทำลายล้างสิ่งมีชีวิตอื่นรวมถึงพวกเดียวกันด้วย โดยพยายามปกปิดกลบเกลื่อนไม่ยอมรับมัน

ขณะเดียวกันหนังก็เน้นย้ำว่าไม่ว่ามันจะเป็นภัยพิบัติจากอะไรก็ตาม สิ่งที่มนุษย์จะสูญเสียไม่ได้คือความไว้ใจและช่วยเหลือกัน อย่างที่แดนนี่ยอมแพ้ใจของเคลย์ที่อยากช่วยลูกชายตัวเอง และจอร์จประนีประนอมให้ครอบครัวแซนด์ฟอร์ดอยู่ในบ้านของเขาต่อไปเช่นกัน

ความเห็นถึงตอนจบโดยเจ้าของนิยาย

รูมาน อาแลม (Rumaan Alam) เจ้าของนิยายชื่อเดียวกันที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนัง เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตด้วยแม้ว่าเขาจะเปิดกว้างให้ผู้กำกับเอสเมลสร้างสรรค์ได้เต็มที่ ทว่าเอสเมลก็ปรับเปลี่ยนมันจากตัวนิยายน้อยมากในแง่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเน้นไปที่การดึงบรรยากาศความไม่น่าไว้วางใจและความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่เข้าใจจากนิยายที่ทำไว้อย่างโดดเด่นมากกว่า

และฉากจบที่ต่างกันเล็กน้อยคือ ในนิยายจะชัดเจนว่าโรสกำลังขนเสบียงจากฐานใต้ดินกลับมาหาครอบครัวของเธอ ขณะที่ในหนังโรสจะทานขนมและนั่งดูซีรีส์ที่เธออยากดูด้วยรอยยิ้ม โดยไม่ชัดเจนว่าหลังจากนั้นเธอจะทำอย่างไรต่อ และขึ้นเครดิตจบด้วยเพลงประกอบซีรีส์ ‘Friends’ ของวง Rembrandts อย่าง “I’ll Be There For You” นั่นเอง ซึ่งอาจหมายถึงเธอจะอยู่ที่ฐานลับนั้นไปตลอดก็ได้ โดยอาแลมมองว่าเป็นมุมตลกร้ายที่เอสเมลเสริมใส่เพิ่มมา และอาแลมสนุกกับการรอดูท่าทีงงงวยของผู้ชมต่อฉากจบนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามจุดสำคัญที่น่าจะต่างกันก็คือน้ำหนักต่อมุมมองในเหตุการณ์ ที่นิยายอาแลมต้องการให้แต่ละมุมมองของตัวละครแต่ละคนพยายามทำความเข้าใจตามประสบการณ์ของพวกเขาและสร้างทางเลือกให้ผู้อ่านคิดตามเหตุผลของตัวเองว่าเรื่องราวเฉลยอย่างไร ในขณะที่คนอ่านอาจรู้สึกว่าอแมนดาคือตัวเดินเรื่องในนิยายมากกว่ตัวอื่น ฉบับหนังเราจะพบว่ามุมมองของเรื่องถูกผลักไปโดยมุมมองของจอร์จมากกว่าเช่นกัน

ดังนั้นสิ่งที่เราได้ชมในหนังจึงแทบจะเป็นเหตุการณ์ที่นิยายได้บรรยายไว้ทั้งสิ้นทีเดียว มีเพียงฉากทฤษฎีสมคบคิดที่จอร์จพูดขึ้นมาที่ในนิยายไม่ได้พูดถึง และปล่อยให้ผู้อ่านคาดเดากันเองว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ซึ่งในความจริงอาแลมก็ไม่ได้คิดคำตอบที่ถูกที่สุดเอาไว้ให้ด้วย

อาแลมพูดถึงการที่เอสเมลเลือกจบด้วยวิธีนี้ทั้งความเห็นของจอร์จการเรียงชื่อตอนที่อาจทำให้เรื่องมีข้อสรุปไปในทางหนึ่งทางใด ว่าเป็นสิ่งที่เกินการควบคุมของเขาและเขาก็สนุกกับการที่เอสเมลตีความสถานการณ์นในนิยายว่าเป็นเรื่องดังกล่าว จริง ๆ เขาสนุกกับทุกทฤษฎีสมคบคิดที่ใครจะตีความนิยายของเขาเลยด้วย ถึงขนาดบรรณาธิการของหนังสือยังคิดว่าโลกน่าจะถูกบุกโดยมนุษย์ต่างดาวอยู่เลย

และความไม่แน่นอนนั้นก็คือหัวใจของเรื่องราวในนิยาย ที่ทำให้ตอนจบของทั้งสองฉบับต่างไม่พูดถึงข้อสรุปว่าครอบครัวทั้ง 2 จะกลับมาพบกันหรือไม่ อาร์ชีจะหายป่วยไหม โลกหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

และสิ่งที่เอสเมลทำให้ฉบับหนังมีความน่าสนใจขึ้น คือมุมมองเรื่องของสื่ออย่างหนังหรือซีรีส์ ที่อาแลมมองว่าเอสเมลกำลังพูดในบริบทพื้นที่ที่เขาเชี่ยวชาญ โดยขยายจากบทสนทนาของเคลย์กับอแมนดาช่วงที่ว่า เคลย์ต้องเขียนคำนิยมให้หนังสือของลูกศิษย์ที่วิทยาลัย โดยเนื้อหาเป็นเรื่องข้อคำถามที่ว่าสื่อเป็นเครื่องมือในการหลบหนีความจริงของผู้ชมหรือเป็นเครื่องมือที่ทำให้ยิ่งตระหนักถึงความจริงกันแน่

ซึ่งตัวนิยาย หนัง หรือแม้ในเนื้อเรื่องคือซีรีส์ ‘Friends’ ต่างก็มีฟังก์ชันที่ทำให้ผู้ชมผู้อ่านได้หลบหนีความจริงที่ซับซ้อนวุ่นวายไปยังโลกสมมติจนอาจเข้าข่ายมอมเมาให้เพิกเฉยต่อโลกความจริง อย่างที่อแมนดาวิจารณ์คนใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก แล้วคิดว่าแค่นั้นตัวเองจะทำให้โลกไม่วิกฤตแล้ว หรือที่รูธได้วิจารณ์ซีรีส์ ‘Friends’ ว่าเป็นเพียงความคิดถึงความสวยงามในอดีตที่ไม่มีอยู่จริงด้วย

ในขณะเดียวกันสื่อก็อาจจะชวนให้ถกเถียงและตระหนักถึงอันตรายและความเปราะบางของชีวิตอันปกติสุขในโลกความจริงว่าช่างง่อนแง่นและไม่แน่นอนเลย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นข้อคิดที่หนัง ทำให้คำว่า ‘Leave The World Behind’ นั้นมีความยอกย้อนน่าสนใจมากเช่นกัน

อ้างอิง: บทสัมภาษณ์รูมาน อาแลมทางนิตยสาร Variety, ข้อสังเกตตอนจบของ Screenrant