รีเซต

เปิดฉาก “รถรางเที่ยวสุดท้าย” “ก้าวหน้า-ปอนด์” ปะทะคารม“หนิง นิรุตติ์”

เปิดฉาก “รถรางเที่ยวสุดท้าย” “ก้าวหน้า-ปอนด์” ปะทะคารม“หนิง นิรุตติ์”
EntertainmentReport1
9 กุมภาพันธ์ 2567 ( 18:39 )
160

ถือเป็นละครสร้างสรรค์สังคมที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับ บริษัท สตาร์ฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย ใจเอื้อ โกศลธนศังกร, วิธิวัสส์ ศุภศิริวัฒนกุล ผลิตละครเรื่อง “รถรางเที่ยวสุดท้าย” (Once upon a Time) จากบทประพันธ์/บทโทรทัศน์โดย สมเกียรติ์ วิทุรานิช กำกับการแสดงโดย จีรภา ระวังการณ์ ที่หยิบยกเรื่องราวของคน 2 Gen คือ Gen Y (Millennial) กับ Gen B (Baby Boomer) ที่มีความขัดแย้งทางความคิดมาเป็นตัวละครหลักของเรื่อง นำเสนอเรื่องราวให้คนทั้งสองรุ่นได้หยุดคิด และทำความเข้าใจกับทัศนคติของตัวเองเป็นหลัก


“รถรางเที่ยวสุดท้าย” จับนักแสดงรุ่นใหญ่ชั้นครูอย่าง นิรุตติ์ ศิริจรรยา และ สมภพ เบญจาทิกุล ตัวแทนของคนรุ่น Gen B (Baby Boomer) และส่งนักแสดงรุ่น Gen Y อย่าง ก้าวหน้า-กิตติภัทร แก้วเจริญ และ ปอนด์-พลวิชญ์ เกตุประภากร ที่มีคาแรกเตอร์แตกต่าง คนหนึ่งแข็งกร้าว แต่อีกคนอ่อนโยน มาประชันฝีมือด้านการแสดง ได้ฤกษ์ออกอากาศตอนแรกใน วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20.30 น. โดยเปิดฉากนักแสดงแต่ละคนอย่างน่าสนใจ แต่ก่อนจะไปรับชมกันเต็ม ๆ ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 เรามีเบื้องหลังฉากสนุก ๆ มาให้ชมเพื่อเรียกน้ำย่อยกันก่อน

โดยหยิบฉากในร้านอาหาร “รถราง” ของ “อารักษ์” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ที่มีลูกค้าอย่าง นที (ก้าวหน้า กิตติภัทร) ที่ชื่นชอบบทกลอนที่ทางเจ้าของร้านจัดตกแต่งไว้ และเขาก็ได้แรงบันดาลใจจากบทกลอนนี้ เพื่อนำไปเขียนบทภาพยนตร์ และนั่นทำให้เขาต้องมาที่ร้านเพื่อขอข้อมูลจาก “อารักษ์” โดยมีเพื่อนสนิทอย่าง ภราดร (ปอนด์ พลวิชญ์) ร่วมหาข้อมูลด้วย

จีรภา ระวังการณ์ ผู้กำกับฯ และทีมงานใช้ โรงแรมบ้านใน ย่านพญาไท เป็นสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งถือเป็นสถานที่หลักของเรื่อง และใช้ร้านอาหาร บ้านใน เซ็ตเป็นร้าน “รถราง” พร้อมมีภาพและบทกลอนตกแต่งบรรยากาศ ให้โทนสีของร้านนุ่มนวล ดูอบอุ่น

ฉากนี้เป็นการพบกันอย่างเป็นทางการของ อารักษ์, นที และ ภราดร ที่เปิดฉากพูดคุยถึงความต้องการของตัวละครอย่าง นที ที่อยากได้ข้อมูลจากเจ้าของร้าน โดย ภราดร นั้นมีความคิดแตกต่างจากคนรุ่นเก่าอย่าง อารักษ์ ทำให้ อารักษ์ มีท่าทีที่ไม่ค่อยพอใจกับคำพูดหลาย ๆ คำของ ภราดร จน นที ต้องคอยเตือนเพื่อนสนิทเป็นระยะ

หลังจากซักซ้อมและทำความเข้าใจกับบทแล้ว ผู้กำกับฯ ก็เรียกนักแสดงเข้าฉาก โดยเป็นฉากพูดคุยระหว่าง นที กับ อารักษ์ ถึงบทกลอนข้างฝาผนัง ฉากนี้ทำเอาสองนักแสดงหนุ่มดูตั้งใจมาก โดย ก้าวหน้า นั้น ต้องใช้คำพูดสุภาพ ๆ แต่สำหรับ ปอนด์ แล้ว เรียกได้ว่าเป็นการ “ปะทะคารม” กับความคิดที่แตกต่างของคนสองวัย ฉากนี้สองหนุ่มต้องใช้สมาธิพอสมควร และบทพูดค่อนข้างยาว ซึ่งก้าวหน้าต้องร่ายบทกลอนยาวด้วย ปรากฏว่าก้าวหน้าพูดได้อย่างไม่ติดขัด แม้จะต้องเปลี่ยนมุมกล้องก็ยังพูดได้คล่อง ทำเอาการถ่ายทำผ่านไปได้ด้วยดี โดย ก้าวหน้า ได้กล่าวถึงการร่วมแสดงกับอาหนิงว่า “ตอนจะเข้าฉากกับอาหนิง แรก ๆ รู้สึกเกร็ง อาเหมือนรู้ก็ปลอบว่า ทำตัวสบาย ๆ ไปตามบท แล้วก็สอนเรื่องมุมกล้องว่ายืนอย่างไรที่จะไม่บังกัน หรือว่าเสียงพูดจะทับกันไม่ได้นะ ผมรู้สึกว่าโชคดีมากเลยครับที่ได้ร่วมงานกับคุณอา” ส่วนปอนด์ ก็ได้เผยความรู้สึกสั้น ๆ เช่นกันว่า “วันนี้เริ่มแรกยอมรับว่าผมเกร็งนิดนึงครับ แต่ว่าพอถ่ายไปสักพักก็ปรับตัวได้เพราะว่าอาหนิงเป็นกันเองมาก คอยส่งอารมณ์ให้ สอนเรื่องมุมกล้อง เลยรู้สึกว่าได้เรียนรู้จากคุณอาตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉากถ่ายทำกันเลย”

สำหรับฉากนี้ดูเหมือนเป็นฉากธรรมดา ๆ แต่แฝงด้วยแง่คิดถึงความคิดของคนทั้ง 2 Gen สามารถติดตามชม “รถรางเที่ยวสุดท้าย” (Once upon a Time) ฉากนี้ในคืนวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3