รีเซต

ขยี้ให้กระจ่างกับ 39 อีสเตอร์เอ้กใน "Wicked" ที่ไม่อาจเลี่ยงการสปอยล์หนังได้

ขยี้ให้กระจ่างกับ 39 อีสเตอร์เอ้กใน "Wicked" ที่ไม่อาจเลี่ยงการสปอยล์หนังได้
Jeaneration
26 พฤศจิกายน 2567 ( 11:00 )
1.3K

กลายเป็นตำนานหนังมิวสิคัลเรื่องที่เกรียงไกรที่สุดในรอบทศวรรษ สำหรับการขึ้นจอครั้งสำคัญของละครบอร์ดเวย์ระดับโลก "Wicked" ที่ได้ฤกษ์ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมากมาย ทำรายได้เปิดตัวได้อย่างน่าประทับใจเกือบ 150 ล้านเหรียญจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกใบนี้

นี่คือตำนานการผจญภัยสุดแสนมหัศจรรย์ที่แตกแขนงออกจากเรื่องราวของ Wizard of Oz ที่โฟกัสต้นกำเนิดของแม่มดชั่วร้ายแห่งดินแดนตะวันตก อย่าง เอลฟาบา กับ แม่มดความดี อย่าง กลินดา ที่ออกมาเป็นหนังที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองขับร้องอัดแน่นตลอด 160 นาทีของหนังเรื่องนี้ ที่ดีงามด้วยคะแนนคำวิจารณ์การันตีสูงถึง 90% บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes

แต่เชื่อว่าคอหนังบางคนอาจจะยังมีข้อสงสัยแคลงใจอยู่ในหลาย ๆ จุดใน Wicked เรื่องนี้ ที่ค้นพบว่าเป็นหนังที่สอดแทรกกิมมิกและอีสเตอร์เอ้กเอาไว้เพียบ ที่หากว่าใครเป็นแฟน ๆ ของออซ ก็น่าจะกรีดกราดได้ไม่น้อย แต่สำหรับผู้ชมขาจรทั้งหลาย วันนี้เราจะมาเสิร์ฟอีสเตอร์เอ้กที่ปะปนเอาไว้ในหนัง Wicked ที่มีเกือบ 40 จุดที่ต้องมาขยี้อธิบายให้กระจ่าง

คำเตือน ข้อความต่อไปนี้เป็นต้นไป จะมีการเปิดเผยเนื้อหาจากในหนัง Wicked

โลโก้ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส - หนังเริ่มต้นด้วยโลโก้สตูดิโอหนังที่อาจจะไม่คุ้นตาคนดูสักเท่าไหร่ เพราะนี่คือโลโก้ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ต้นในปี 1939 ที่เคยใช้แปะหน้าการฉายหนัง The Wizard of Oz ครั้งแรกนั่นเอง

ตัวละครรับเชิญจากโลกแห่งออซ - กิมมิกนี้เราก็แอบเห็นหน่อย ๆ แล้วในทีเซอร์ตัวอย่างที่ปล่อยออกมา นั่นก็คือ โดโรธี เกล, ทิน แมน, คาวอร์ดลีย์ ไลอ้อน และ สแกร์ครอว์ คาแรกเตอร์ ในตำนานจากต้นฉบับหนัง Wizard of Oz ที่ใส่เข้ามาแค่ไม่กี่วินาที เพียงชี้ชัดว่า Wicked อยู่ในจักรวาลเดียวกันกับพวกเขา

ทิวลิปสายรุ้ง - รอบ ๆ หมู่บ้านมังช์กินแลนด์ ก็คือทุ่งดอกทิวลิปกว่า 9 ล้านต้นประดับประดาสวยงามเรียงสีสันดั่งสายรุ้ง นี่ก็คือการสื่อถึงตำนานเพลงอมตะ Somewhere Over the Rainbow นั่นเอง

ดุลชีแบร์ - เอลฟาบา ถูกพ่อสาปส่งตั้งแต่เธอเกิดมาตัวสีเขียว และดุลชีแบร์ก็คือแม่นมที่อุปถัมภ์เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่แบเบาะ จริง ๆ ซีนนี้ไม่เคยมีอยู่ในบทต้นฉบับ แต่เป็นการใส่เข้ามาเพียงเน้นย้ำในธีมความเท่าเทียมระหว่างคนกับสัตว์ของหนังเรื่องนี้

เรื่องราวภูมิหลังใหม่ของเอลฟาบา - ในฉบับละครเวทีไม่เคยมีการเอ่ยถึงภูมิหลังของเอลฟาบา แต่ในฉบับหนังมีการขยายส่วนนี้ให้เล็กน้อย ที่ทำให้พบว่าเธอมีพลังบางอย่างติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด พร้อมกับการจุดประกายพลังขึ้นมาจากอารมณ์โกรธเคือง

บอลลูน - นับว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่โดดเด่นสุด ๆ จากตำนาน Wizard of Oz เพราะคือยานพาหนะที่จอมพ่อมดใช้ในการเดินทาง ทำให้ในหนังเรื่องนี้มีการแทรกใส่บอลลูนเอาไว้หลาย ๆ ฉากตลอดทั้งเรื่อง

ชื่อของเอลฟาบา - แม้ว่าฉบับละครเวทีก็ยังไม่มีความกระจ่างชัดนัก แต่เชื่อว่าชื่อเอลฟาบานั้นได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อผู้แต่งหนังสือ Wizard of Oz อย่าง แอล.เอฟ. บอม ที่เกิดจากการผันเสียงชื่อนั้นเร็ว ๆ นั้้นเอง อีกทั้งในเวอร์ชันนั้นยังมีการย้ำถึงนามสกุล เอลฟาบา ธรอปป์ มากเป็นพิเศษด้วย

สไตล์อักขระในหนัง - ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏขึ้นของชื่อเรื่องในช่วงต้น กับการปิดองก์ในช่วงท้าย อักขระตัวอักษรที่หนังเลือกใช้ก็คือแบบเดียวกับที่ใช้จากหนัง Wizard of Oz นั่นเอง

ท่วงทำนองของเพลง For Good - ถ้าลองตั้งใจฟังดี ๆ อีกหนึ่งเพลงโดดเด่นของ Wicked อย่าง For Good ที่จะเป็นเพลงที่ใช้ในช่วงองก์ที่ 2 ของเรื่อง ได้ถูกประพันธ์แทรกเข้ามาในหนังองก์ที่ 1 ได้อย่างแนบเนียน เราจะได้ยินท่วงทำนองของเพลงนี้แทรกผสมขึ้นมาในเพลง No One Mourns the Wicked, Dancing Through Life และ Defying Gravity ก่อนจะรอไปฟังกันเต็ม ๆ ใน Wicked Part 2

รองเท้าผลึกใสของแม่ - ในหนังเราจะเห็นซีนที่ เนสซาโรส น้องสาวของเอลฟาบา ได้รับรองเท้าผลึกใสมาครอบครอง นั่นคือรองเท้าที่ตกทอดมาจากแม่ของเธอ นี่คืออีสเตอร์เอ้กรองเท้าคู่เดียวกับที่ โดโรธีจะสวมใส่ในเวลาต่อมา แม้ว่าจะไม่ใช่รองเท้าสีแดงที่เป็นตำนานในฉบับ ก็เพราะว่าหนังอิงรายละเอียดมาจากต้นฉบับในนิยาย Wizard of Oz นั่นเอง

พ่อแม่ของกลินดา - ตัวละครครอบครัวของกลินดาเคยถูกพูดถึงลอย ๆ ในฉบับละครเวที แต่ไม่เคยมีตัวตนจริง ในเวอร์ชันหนังได้เติมแต่งตัวละครนี้ขึ้นมาให้สมบูรณ์ขึ้น โดยที่แม่ของกลินดา ที่รับบทโดย อลิซ เฟิร์น ก็คือนักแสดงหญิงที่เคยรับบทเป็น เอลฟาบา ในฉบับละครเวทีโชว์ที่โรงละครเวสต์เอนด์ สหราชอาณาจักร

แก๊งเพื่อนของกลินดา - ในฉบับละครเวทีมีการใส่ซีนแก๊งเพื่อนของกลินดาเอาไว้น้อยมาก ๆ แต่เมื่อมาเป็นเวอร์ชันหนังใหญ่ กลับมาก็ขยายในส่วนนี้มากขึ้น ที่มีการปรับเปลี่ยนบทเล็กน้อย ในด้านอัตลักษณ์และเพศของตัวละคร ที่เพิ่มความหลากหลายและอารมณ์ขันในตัวละครนี้มากขึ้น

เอลฟาบาไม่ใช่นักเรียน - แม้ว่าในเวอร์ชันละครเวทีจะเปิดตัวว่าเอลฟาบาเป็นนักเรียนในมหาวิทยาลัยชิซ แต่ในฉบับหนังไม่ใช่เช่นนั้น เธอแค่ตามพ่อมาส่งน้องสาวเข้าเรียน แต่ได้รับโอกาสสำคัญถูกเชิญเข้าเรียนที่นี่ด้วยอีกคน

ทรงผมของมาดามมอร์ริเบิล - แน่นอนว่าพลังความสามารถพิเศษของมาดามมอร์ริเบิลก็คือการควบคุมสภาพอากาศได้ นั่นจึงทำให้ในฉบับหนังใหญ่ ช่างแต่งหน้าและทำผมเลือกที่จะออกแบบทรงผมของเธอออกมาให้ดูเหมือนกับก้อนเมฆหมุนวนเป็นเอกลักษณ์

ดราสัญลักษณ์พ่อมดที่หายไป - ในฉากที่เอลฟาบาเผลอใช้พลังก่อความโกลาหลในงานปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ เราจะเห็นว่ามีภาพสัญลักษณ์บางอย่างถูกปิดทับเอาไว้ นั่นก็คือสัญลักษณ์เก่าแก่ของออซ ที่ผู้นำสัตว์ยังมีส่วนร่วมในการปกครอง แต่มันก็บดบังเอาไว้หลังจากจอมพ่อมดเข้ามาปกครอง

พลังของเอลฟาบาที่ยิ่งใหญ่ขึ้น - ฉบับละครเวทีมีแค่การกล่าวถึงพลังของเอลฟาบา แต่สำหรับในหนังได้มีการทำให้เห็นภาพนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นกับพลังที่แอบแฝงในตัวเธอ ซึ่งเธอก็ยังไม่สามารถควบคุมมันได้ อีกทั้งยังมีนิมิตปริศนาที่สามารถมองเห็นอนาคตได้อีกด้วย

อมา คลุช คือใคร? - เป็นฉากที่ถ้าหากกะพริบตาก็พลาดเลย เพราะปรากฏให้เห็นอยู่ในหนังแค่เสี้ยววินาที ในฉากที่ประกาศรายชื่อผู้ร่วมหอพักในมหาวิทยาลัย ที่หากว่ามองทันและมองดูดี ๆ จะพบชื่อ อมา คลุช ที่รูมเมทกับ กลินดา ในห้องรูมสวีทของเธอ ตัวละครนี้ไม่เคยได้รับการกล่าวถึงในฉบับละครเวที แต่ในนิยายต้นฉบับได้ระบุว่า อมา คลุช เป็นหัวหน้านักเรียนที่ดูแลเพื่อนร่วมรุ่นนั่นเอง

เงามือแม่มด - ในฉากที่เอลฟาบากำลังฝึกฝนพลังเวทย์กับมาดามมอร์ริเบิล ที่สั่งให้เธอพยายามทำให้เหรียญเคลื่อนที่ ตัวหนังได้แทรกภาพเงามือแม่มดเข้าไปเป็นสัญลักษณ์ระหว่างที่เอลฟาบากำลังให้ความพยายามปล่อยพลัง ซึ่งฉากนี้ก็คือการสดุดีถึงฉากในตำนานที่ มาร์กาเร็ต แฮมิลตัน จาก Wizard of Oz เคยทำไว้ในต้นฉบับ

ภาพนิมิตของเอลฟาบา - เราได้เห็นว่าเอลฟาบามีพลังในการเห็นนิมิตภาพอนาคตลาง ๆ ได้ เธอเห็นและขับขานในบทเพลงที่ร้องว่า "ฉันเพิ่งเห็นภาพนิมิตดั่งคำทำนาย ผู้คนต่างเฉลิมฉลองให้กับฉันไปทั่วทั้งออซ" โดยเธอคิดว่านิมิตดังกล่าวเป็นลางที่ดี แต่จริง ๆ แล้วมันคือฉากการเฉลิมฉลองการตายของเธอในเพลง No One Mourns the Wicked ของพวกมังช์กินแลนด์

ฟิเยโรกับฉากเปิดแบบใหม่ - การเปิดตัวของตัวละครเฟยิโรในฉบับละครเวทีกับเวอร์ชันหนังแตกต่างกัน ในละครเวทีเขาพบกับเอลฟาบาครั้งแรกในรั้วโรงเรียน แต่ในหนังนั้นเขามาบังเอิญพบเธอในป่าลึกแทน

ห้องสมุดของชิซ -นาธาน โครว์ลีย์ นักออกแบบโปรดักชันให้กับหนังเรื่องนี้ ได้เลือกจะดีไซน์ห้องสมุดที่มีชั้นหนังสือทรงกลมและหมุนได้ พร้อมกับมีบันไดเคลื่อนที่หมุนรอบแกน นั่นก็เพราะว่าจะสร้างกิมมิกให้แปลงออกมาเป็นตัวอักษร O กับ Z เป็นสัญลักษณ์ถึงต้นฉบับของเรื่องนี้นั่นเอง

ท่าทางบอกใบ้ - หลังจากจบซีนร้องรำทำเพลงใน Dancing Through Life แล้ว ให้สังเกตท่วงท่าของฟิเยโรให้ดี ๆ เพราะเขายืนมองกลินดา ด้วยท่ายืนพักขา แขนสองข้างกางออกไปข้าง ๆ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเกี่ยวกับชะตาในอนาคตของเขาในองก์ต่อไป

อนาคตของบ็อค - แม้ว่าตัวละคร บ็อค ในองก์แรก จะยังโดดเด่นไม่สุดมากนัก แต่ก็ได้มีการหยอดสัญญะบางอย่างทิ้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการที่กลินดาใส่ผ้าเช็ดหน้าสีแดงเข้าไปบริเวณตำแหน่งหัวใจของเขา หรือที่เขาพูดว่า "เพราะผมร้องไห้บ่อย" นั่นเป็นการส่งสัญญาณปูทางไปสู่อนาคตต่อไปเกี่ยวกับตัวละครบางตัวใน Wizard of Oz ที่ไม่มีหัวใจ

รองเท้าสีแดงทับทิม - ในเพลง Popular เราจะเห็นรองเท้าส้นสูงสีแดงทับทิมปรากฏขึ้นมาก ในคอเลคชันเสื้อผ้าของกลินดา นั่นก็คือรองเท้าแดงในตำนานของโดโรธี จาก Wizard of Oz ที่ถูกใส่เอาไว้เป็นอีสเตอร์เอ้กนั่นเอง

Popular ฉบับปรับปรุง - หนึ่งในเพลงดังของเรื่องนี้ อย่าง Popular ได้มีการเพิ่มความสดชื่นในช่วงท้าย โดยเป็นแนวคิดของ อารีอานา กรานเด ที่เลือกจะเปลี่ยนคีย์โน้ตถึงสองครั้ง และเสริมตอนจบของเพลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

ดอกป๊อปปี้ - ดร. ดิลลามอนด์ ได้บอกในหนังว่าเขาชอบดอกป๊อปปี้ ซึ่งดอกไม้ชนิดนี้ก็เชื่อมโยงกับ Wizard of Oz ที่ โดโรธีได้ทำให้เพื่อน ๆ หลับไหลนั่นเอง ซึ่งกิมมิกนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้ในหนังด้วยเช่นกัน

ปั่นจักรยานกับสิงโต - ฉากที่เอฟาบากับฟิเยโรได้ช่วยกันพาสิงโตหลบหนี ด้วยการใส่สิงโตลงในตะกร้าท้ายรถจักรยานแล้วปั่นกันออกไป ฉากนี้เป็นการสดุดีถึง มาร์กาเร็ต แฮมิลตัน ที่เคยแสดงเอาไว้ใน Wizard of Oz อีกครั้ง

"จะปล่อยให้เธอเปียกไม่ได้" - มาดามเมอร์ริเบิลได้กางร่มบังฝนให้กับเอลฟาบา ก่อนที่เธอจะใช้มนตร์ควบคุมสภาพอากาศให้ฟ้าเปิด พร้อมกับพูดขึ้นว่า "เราจะปล่อยให้เธอเปียกไม่ได้" นั่นเป็นสัญญะถึงจุดอ่อนอันโด่งดังของแม่มดตะวันตกผู้ชั่วร้ายกับชะตากรรมในเวลาต่อมาของเธอ

ที่ไหนก็ไม่ดีเท่าเนแบรสกา - ออสการ์ ดิกส์ จอมพ่อมดแห่งออซ เกิดที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ที่อิงจากฉบับนิยายต้นฉบับ ที่ในเวอร์ชันก็หยิบเอากิมมิกมาเล่นในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น เสียงท่องคาถาที่ว่า 'โอมาฮา โอมาฮา' ในโชว์ของเมืองมรกต, ป้ายบนบัตรเชิญ หรือ กระเป๋าเดินทางในห้องใต้หลังคาของปราสาท ที่ปรากฏชื่อเมืองโอมาฮาให้เห็นเด่นชัด

One Short Day ฉบับปรับปรุง - สตีเฟน ชวาร์ตซ์ นักประพันธ์ดนตรีประกอบของหนังเรื่องนี้ได้ทำการเติมแต่งเพลง One Short Day ให้ยาวและกลมกล่อมยิ่งขึ้น ในซีนที่ขบวนรถไฟสีมรกตมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง และยังขยายเพลง Wizomania ผนวกเข้าไปร่วมกับเพลงนี้ไปด้วย

รถไฟสู่เมืองมรกต - ขบวนรถไฟสู่เมืองมรกตได้ถูกออกแบบให้มีเทคโนโลยีสุดมหัศจรรย์ในการขับเคลื่อน ด้วยตัวรถไฟที่ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม หนักถึง 58 ตัน มีความยาว 106 ฟุต และสูงกว่า 16 ฟุต ที่ถือว่าสูงมาก ๆ

แขกรับเชิญสุดว้าว - หนึ่งในอีสเตอร์เอ้กที่ทำให้แฟน ๆ ร้องกรี๊ดก็คือการปรากฏตัวของ คริสติน เชโนเวธ และ อีดิน่า เมนเซล ตำนานผู้ที่รับบท กลินดา กับ เอลฟาบา จากเวอร์ชันบอร์ดเวย์ มาโผล่สร้างสีสันในเพลง One Short Day ร่วมกับ 2 นักแสดงนำที่รับบทในหนัง

วินนี่ ฮอลซ์แมน - บางคนอาจจะไม่รู้จักเธอ แต่ วินนี โฮลซ์แมน นักเขียนบทฉบับละครเวทีได้ปรากฏตัวในหนังด้วย เธอคือก็หนึ่งในกลุ่มฝูงชนที่มาชมโชว์เพลง One Short Day และกล่าวชื่นชมจอมพ่อมดที่สามารถอ่านคัมภีร์กริมเมอรีได้

ตำนานทางถนนสีเหลือง - ถนนสีเหลืองอันเป็นตำนานของ Wizard of Oz ได้ถูกนำมาใส่เป็นท่วงทำนองในเวลาต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองมรกต และยังถูกหยิบมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทที่จอมพ่อมดพยายามผูกมิตรกับเอลฟาบาและกลินดา ในการขอความคิดเห็นเกี่ยวกับสีถนนสายใหม่ของเขา

"อย่าสนใจชายที่อยู่หลังม่าน" - นับเป็นวลีที่โด่งดังจาก Wizard of Oz ที่นำมาพัฒนาสร้างในฉบับหนังได้อย่างแยบยล ในฉากที่จอมพ่อมดกำลังเล่าถึงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับการพัฒนาสร้างอนาคตของออซ ให้กับสองสาวได้ชื่นชม

Defying Gravity สุดปัง - หนึ่งในเพลงอันเป็นตำนานโด่งดังของมิวสิคัลเรื่องนี้ได้ถูกร้อยเรียงออกมาได้อย่างเคารพต้นฉบับอย่างเกรียงไกร โดยเฉพาะฉากที่เอลฟาบาบินขึ้นกลางอากาศ และผ้าคลุมสีดำของเธอแผ่กว้างออกไปตามแรงลม นับว่าเป็นซีนแบบเดียวกับที่ใช้กับโชว์บนเวที อีกทั้งในเวอร์ชันหนังยังมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงต่างไปจากเวอร์ชันละครเวทีเล็กน้อยด้วย

พ่อที่สิ้นใจ - แม้ว่าในฉบับละครเวที ท่านผู้ว่าฯ จะสิ้นใจลงเพราะความอับอายจากพฤติกรรมของเอลฟาบา ที่เป็นเนื้อหาอยู่ในองก์ที่ 2 แต่สำหรับในเวอร์ชันได้มีการเผยให้เห็นฉากท่านผู้ว่าฯ ล้มลงสิ้นใจทันทีที่ได้ยินข่าวการเป็นปรปักษ์ต่อออซทางสื่อ

โปรดติดตามต่อไป - ในหนัง Wicked จบลงด้วยเพลง Defying Gravity เช่นเดียวกับการจบองก์แรกของฉบับละครเวที โดยปรากฏตัวอักษรคลาสสิกที่ขึ้นคำว่า 'โปรดติดตามต่อไป' แต่เติมแต่งด้วยสีสัน ที่จะสื่อว่าเตรียมดำดิ่งไปสู่โลกของออซอย่างเต็มตัวใน Wicked Part 2

หนังที่ยาวจุใจ - ในเวอร์ชันหนัง Wicked พบว่ายาวกว่าฉบับละครเวทีอย่างชัดเจน เพราะต้นฉบับจากบอร์ดเวย์นั้น โชว์ทั้ง 2 องก์มีความยาวทั้งสิน 2 ชั่วโมง 45 นาที (รวมพักเบรก 15 นาทีแล้ว) แต่ใน Wicked Part 1 ก็ปาเข้าไป 2 ชั่วโมง 40 นาที เพียงแค่ครึ่งแรกเท่านั้น ยังเหลือองก์ที่ 2 ใน Wicked Part 2 ที่จะฉายตามมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2025

Source: Variety

-------------------------------------

>> ดูหนังออนไลน์ได้ที่ Movie.TrueID <<

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับทรูไอดีสามารถเข้าไปได้ที่ TrueID Help Center เป็นช่องทางใหม่ที่ให้ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับทรูไอดี คลิกเลย >> https://bit.ly/3xEgdAa